วันนี้ ในขณะที่ Avatar : Way of Water เพิ่งเปิดตัวและทุกสายตากำลังจับจ้องว่า เจมส์ คาเมรอน (James Cameron) จะสามารถสร้างปรากฎการณ์ได้อีกครั้งหรือไม่ เหมือนอย่างที่เขาเคยทำไว้ในวันนี้ 19 ธันวาคม 1997 ย้อนไปเมื่อ 25 ปีก่อน วันที่หนัง Titanic ได้เปิดตัวสู่สายตาชาวโลก ใครจะไปคิดได้ว่าเรื่องราวของเรือสำราญลำยักษ์ที่ชนภูเขาน้ำแข็งแล้วจมลงสู่ใต้พื้นมหาสมุทร จะมีใครกล้าหยิบมาสร้างเป็นหนัง เพราะเป็นเรื่องราวที่คนทั้งโลกต่างรู้จุดจบกันดีอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่สำหรับ เจมส์ คาเมรอน ผู้นี้ ซึ่งกล้าทำในสิ่งที่แตกต่างเสมอ ในวันนั้น คาเมรอนอยู่ในฐานะผู้กำกับฮอลลีวูดมาเกือบ 20 ปีแล้ว ด้วยเครดิตหนังอย่าง Aliens, Terminator 2 : Judgement Day และ True Lies ที่ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ทำให้คาเมรอนมีอิทธิพลพอที่จะหว่านล้อมให้ 2 สตูดิโอใหญ่อย่าง พาราเมาท์ และ ฟอกซ์ ให้ยอมควักทุนสร้าง 200 ล้านเหรียญ ซึ่งนับเป็นหนังที่ใช้ต้นทุนในการสร้างสูงที่สุดในโลกในวันนั้น แล้วคาเมรอนก็พิสูจน์ให้เห็นว่า เขาไม่ทำให้ผิดหวัง
Titanic กลายเป็นหนังที่สร้างปรากฏการณ์ใหม่มากมาย ทั้งด้านรายได้และรางวัล ด้วยตัวเลข 1,840 ล้านเหรียญ ทำให้Titanic เป็นหนังเรื่องแรกที่ทำรายได้ทะลุหลักพันล้านเหรียญและเป็นหนังที่ทำรายได้สูงที่สุดตลอดกาล มาเสียแชมป์ให้กับ Avatar (2009) หนังของ เจมส์ คาเมรอน เอง ไม่เพียงแค่นั้น หนังยังคว้าออสการ์มาได้มากถึง 11 สาขารางวัล ซึ่งรวมไปถึงรางวัลใหญ่อย่าง ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และ ผู้กำกับยอดเยี่ยม กลายเป็นหนังที่คว้าออสการ์ได้มากที่สุดเทียบเท่ากับ Ben Hur (1959) นอกเหนือจากความสำเร็จมากมายดังที่กล่าวมา เรื่องราวเบื้องหลังของ Titanic ยังมีอะไรน่าสนใจสมควรหยิบมาเล่าต่ออีกมากมาย และนี่คือ 25 เกร็ดน่ารู้จาก Titanic
1.คู่รักสูงวัยที่นอนกอดกันบนเตียงขณะที่เรือกำลังจมนั้นอิงจากบุคคลจริง

ในตอนท้ายของเรื่องช่วงที่เรือกำลังจมนั้น เราได้เห็นภาพของสามี-ภรรยาสูงวัยนอนกอดกันอยู่บนเตียง ขณะที่น้ำกำลังไหลบ่าเข้ามาในห้องของพวกเขา 2 คนนี้อิงมาจากบุคคลจริงที่เป็นผู้โดยสารเรือไททานิค เขาและเธอมีนามว่า อิซิดอร์ และ ไอดา สเทราส์ เรื่องราวของทั้งคู่ที่กลายเป็นตำนานนั้นก็สะเทือนใจไม่แพ้เรื่องราวของแจ็กและโรส
อิซิดอร์และไอดานั้นแต่งงานกันมาแล้ว 40 ปี ด้วยความที่เป็นผู้สูงวัย พวกเขาเลยได้อภิสิทธิ์ให้ลงเรือชูชีพก่อนผู้โดยสารอื่น แต่อิซิดอร์กลับปฏิเสธ เขายืนกรานว่าขอให้ผู้หญิงและเด็กได้สิทธิ์นั้นก่อนเขา ซึ่งไอดาก็ปฏิเสธตาม เธอเลือกอยู่กับสามีบนเรือต่อ จนกระทั่งเรือชูชีพลำสุดท้ายแล่นออกไป บรรดาผู้รอดชีวิตมองเห็น อิซิดอร์และไอดานั่งกุมมือกันบนม้านั่งที่ดาดฟ้าเรือแล้วทั้งคู่ก็จมหายไปพร้อมกับเรือไททานิค
2.นิทานที่คุณแม่ชาวไอริชเล่าให้ลูก ๆ ฟังคือเรื่อง Tír Na nÓg ดินแดนสุขาวดีในตำนานเคลติก

ในช่วงที่เรือใกล้จะจม เราได้เห็นภาพของบรรดาลูกเรือและผู้โดยสารหลายคนที่ยังติดค้างบนเรือ และรอคอยจุดจบที่กำลังมาถึงด้วยท่าทีแตกต่างกัน เราได้เห็นกัปตัน, ผู้ออกแบบเรือ, คู่สามีภรรยาสูงวัยในหัวข้อแรก และครอบครัวแม่ลูกชาวไอริช ที่กำลังปลอบประโลมลูกน้อยทั้งสองไม่ให้ตื่นตระหนกด้วยการเล่านิทานให้ฟัง ซึ่งนิทานเรื่องที่เธอเล่าก็คือ “Tír na nÓg” เป็นเรื่องราวในตำนานเคลติก ที่กล่าวถึงดินแดนในอุดมคติ ที่นี่ความอ่อนเยาว์และความสวยจะเป็นนิรันดร์ และหนทางที่จะไปสู่ดินแดนนี้ได้ คือต้องใช้เส้นทางผ่านมหาสมุทรเท่านั้น
ในบทภาพยนตร์ดั้งเดิมนั้น ไม่ได้มีฉากนี้ แต่นักแสดงสมทบชาวไอริชรายหนึ่งได้เสนอแนะไอเดียถึงฉากนี้กับ เจมส์ คาเมรอน ซึ่งเขาก็เห็นชอบเพราะเนื้อหาในนิทานนั้นสอดคล้องกับเหตุการณ์ขณะที่เรือจมได้เป็นอย่างดี เมื่อแม่ลูกที่กำลังจมไปพร้อมกับเรือ ก็เปรียบเสมือนครอบครัวนี้กำลังเดินทางไปยังดินแดน ที่ซึ่งพวกเขาจะมีความสุขด้วยกันตลอดไป
3.ภาพเหมือนของโรสที่แจ็กเขียนนั้น แท้จริงเป็นฝีมือของ เจมส์ คาเมรอน เอง

แม้ว่าหนัง Titanic จะยาวถึง 3 ชั่วโมง 14 นาที แต่กระนั้น หนังก็มีฉากที่น่าจดจำมากมาย และหนึ่งในนั้นก็คือฉากที่โรสยอมเปลือยกายเป็นแบบให้แจ็กเขียนภาพเหมือน และภาพสเก็ตช์ที่คนดูได้เห็นนั้นก็น่าทึ่งมาก คาดเดากันว่าทีมงานต้องว่าจ้างศิลปินตัวจริงให้มาเขียนภาพนี้ แต่แท้จริงทีมงานไม่ต้องไปจ้างใครที่ไหนเลย เพราะภาพสเก็ตช์ที่เราเห็นกันในหนังนั้นคือฝีมือของผู้กำกับ เจมส์ คาเมรอน นั่นเอง ในหนังนั้นเรายังเห็นอีกภาพหนึ่งด้วยที่รวมอยู่บนแผ่นกระดานสเก็ตช์ภาพของแจ็ก ซึ่งแจ็กเล่าว่าเป็นภาพของ “หญิงฝรั่งเศสผู้หนึ่ง” ภาพนั้นก็เป็นฝีมือของ เจมส์ คาเมรอน ด้วยเช่นกัน
แล้วในฉากที่แจ็กกำลังเขียนภาพโรสนั้น ฉากโคลสอัปมือที่กำลังเขียนภาพอยู่นั้นก็เป็นมือของคาเมรอนเองด้วย ต่างกันตรงที่ว่าตัวคาเมรอนนั้นเป็นคนถนัดซ้าย ส่วนแจ็กนั้้นตามเรื่องราวแล้วเป็นคนถนัดขวา ซึ่งคาเมรอนก็ไม่ปล่อยให้รายละเอียดเล็กน้อยเหล่านี้หลุดรอดออกไป ในขั้นตอนหลังการถ่ายทำ ทีมงานก็กลับภาพโคลสอัปมือของเขาจากซ้ายเป็นขวาเสีย
ภาพ ‘โรส’ ฝีมือ เจมส์ คาเมรอน นี้ถูกประมูลไปในปี 2010 ด้วยราคา 16,000 เหรียญ ประมาณ 500,000 บาท
4.ฉากที่โรสถ่มน้ำลายใส่หน้าคาลนั้น เคต วินสเล็ต ด้นสดขึ้นมาเองขณะถ่ายทำ

ช่วงต้นเรื่องมีฉากหนึ่ง ที่แจ็กสอนให้โรสถ่มน้ำลาย บอกว่า “นี่คือวิธีที่ผู้ชายแมน ๆ เขาทำกัน” ซึ่งนั่นก็เป็นฉากที่ ลีโอนาร์โด ดิคาพริโอ ด้นสดขึ้นมาเองเสียเป็นส่วนใหญ่ แล้วก็ดันเป็นฉากที่ เคต วินสเล็ต จดจำเอาไปใช้ได้เป็นอย่างดีเสียด้วย ในช่วงท้าย ตอนที่เรือใกล้จะจมแล้ว โรสเลือกที่จะแยกทางกับแม่และคาล คู่หมั้นของเธอ เพื่อจะไปตามหาแจ็ก ในขณะนั้นคาลรั้งไม่ให้โรสไปด้วยการคว้าแขนของเธอไว้ บทภาพยนตร์เขียนไว้ว่าในฉากนี้ โรสใช้ปิ่นปักผมขู่จะแทงคาลเพื่อให้เขาปล่อยมือเธอ แต่ เคต วินสเล็ต กลับเลือกวิธีการของเธอเอง ด้วยการถ่มน้ำลายใส่หน้าของคาลแทน ซึ่งก็เข้ากับเนื้อหาของหนังได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นวิธีการที่แจ็กสอนโรสมาว่า นี่คือวิธีที่ผู้ชายแมน ๆ เขาทำกัน ในฉากนี้เราจะได้เห็นสีหน้าของ บิลลี่ เซน ผู้รับบทคาล แสดงออกถึงความตกใจและขยะแขยงที่โดนถ่มน้ำลายใส่ ซึ่งเป็นความรู้สึกจริงล้วน ๆ เพราะเขาไม่รู้มาก่อนจริง ๆ
5.น้ำที่ใช้ถ่ายทำในฉากลอยคอท้ายเรื่องนั้นเย็นจัดมาก จน เคต วินสเล็ต ป่วยเป็นไฮโปเธอร์เมีย

ฉากจบของเรื่องที่เป็นฉากที่ผู้ชมจะจดจำไปอีกยาวนานนั้น เราได้เห็นแจ็กและโรสลอยคอกันอยู่ในน้ำ ในฉากนี้โรสจะนอนอยู่บนแผ่นไม้กระดาน ภาพโคลสอัปใบหน้าแสดงให้เห็นว่าเธอกำลังหนาวจัด จนปากคอสั่น ซึ่งนั่นเป็นการแสดงออกจริงที่วินสเล็ตกำลังรู้สึกเช่นนั้นจริง ๆ ถึงกับมีข่าวลือกันว่า เพราะแสดงฉากนี้เลยทำให้วินสเล็ตต้องป่วยเป็นปอดบวม ซึ่งภายหลัง เคต วินสเล็ต ได้ออกมาแก้ข่าวระหว่างให้สัมภาษณ์ในรายการ The Late Night Show ซึ่งเธอได้อธิบายว่า เธอไม่ได้ป่วยรุนแรงอะไรขนาดนั้น น้ำในฉากนั้นเย็นจัดจริงและเธอแค่มีอาการ Hypothermia (ภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ)
ถึงกระนั้นก็ตาม ผู้ชมก็ยังสงสัยว่า แล้วทำไมทีมงานต้องปล่อยให้นักแสดงทนทรมานกันจนป่วยด้วย ทำไมไม่ใช้น้ำอุณหภูมิปกติหรือน้ำอุ่น แล้วให้วินสเล็ตและดิคาพริโอแสดงอาการหนาวเย็นกันแทน ซึ่งวินสเล็ตก็อธิบายว่า น้ำในแทงก์นั้นมีปริมาณมหาศาลมาก เป็นไปได้ยากที่จะปรับอุณหภูมิน้ำทั้งหมดได้
6.ภาพฟุตเทจซากเรือไททานิคที่จมอยู่ใต้น้ำนั้น เป็นฝีมือของ เจมส์ คาเมรอน ที่ดำลงไปถ่ายมาเอง

แรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์ Titanic นี้มาจากตัว เจมส์ คาเมรอน เองที่รู้สึกหลงใหลกับซากเรือไททานิคที่จมอยู่ก้นมหาสมุทร เขาได้พบกับ โรเบิร์ต บัลลาร์ด (Robert Ballard) หัวหน้าทีมที่ค้นพบซากเรือไททานิค งานถ่ายทำเริ่มต้นกันในปี 1995 ในช่วงแรกนั้น คาเมรอนดำลงไปศึกษาซากเรือจริงด้วยตัวเอง มีการประเมินแล้วว่า เจมส์ คาเมรอน ใช้เวลาอยู่กับซากเรือไททานิค ยาวนานกว่าบรรดาผู้โดยสารของเรือไททานิคเมื่อปี 1912 จริง ๆ เสียอีก คาเมรอนออกไปสำรวจซากเรือไททานิคก่อนถ่ายทำจริงทั้งหมด 12 ครั้ง แต่ละครั้งเขาใช้เวลาสำรวจซากเรือ 15 – 17 ชั่วโมง
คาเมรอนตั้งใจที่จะใส่ภาพซากเรือไททานิคจริงลงไปในหนังด้วย เพื่อเพิ่มความรู้สึกสมจริงให้กับหนัง เขาอยากจะสื่อให้ผู้ชมได้รับรู้ว่า นี่ไม่ใช่แค่เรื่องราวดราม่าความรักของหนุ่มสาวคู่หนึ่งแค่นั้น แต่มันเป็นเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจเกิดกับใครก็ได้ทุกคน และไม่ใช่ทุกคนจะสามารถรอดชีวิตไปได้
7.พรมที่เห็นในหนังนั้นทอโดยโรงงานเดิมที่ผลิตให้กับเรือไททานิคลำจริง

ไม่ใช่แค่พรมอย่างเดียวนะ แต่การก่อสร้างฉากภายในลำเรือนั้น ควบคุมการสร้างโดยทีมงานจาก The White Star Line เจ้าของเรือไททานิค เพราะ เจมส์ คาเมรอน ต้องการให้หนังออกมาตรงตามประวัติศาสตร์จริงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เขายืนยันว่าจะต้องใช้วอลเปเปอร์ โคมไฟระย้า หน้าต่างบานกระจกตะกั่ว (Lead Window) ให้เหมือนกับที่ใช้ในเรือไททานิคจริง ไม่แค่นั้น คาเมรอนยังละเอียดถึงขั้นที่เจาะจงให้ใช้ลายน้ำโลโก้ของ The White Star Line ประทับบนข้าวของเครื่องใช้ทุกชิ้นภายในฉาก ต่อให้ไม่เห็นในหนังก็ตาม
คาเมรอนยังสั่งให้ทีมงานไปสืบหาบริษัทที่ทอพรมให้กับเรือไททานิคจริงจนเจอ ว่าเป็นผลงานของบริษัท BMK-Stoddard ในประเทศอังกฤษ แล้วขอให้บริษัทนี้ทอพรมลวดลายเดียวกับที่เคยทอให้กับเรือไททานิคจริง เพื่อมาใช้ในหนัง เราจะได้เห็นพรมผืนนี้ในฉากร้านทำผม ที่อยู่ใต้บันไดหลักของลำเรือ
8.เอาคำพูดของผู้ที่รอดชีวิตจริงมาใส่ในบทสนทนาในหนัง

ในบทสนทนาต่าง ๆ ในหนังนั้น เจมส์ คาเมรอน เอาหลาย ๆ คำที่ผู้รอดชีวิตจากเรือไททานิคได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้ มาสอดแทรกลงไปในบทสนทนาของตัวละครในหนัง ตัวอย่างเช่น บทสนทนาในฉากที่แจ็กรั้งไม่ให้โรสกระโดดลงจากเรือ แจ็กเล่าให้โรสฟังว่า ครั้งหนึ่งตอนที่เขาออกไปตกปลา แล้วเขาตกลงในน้ำที่เย็นจัด ความรู้สึกตอนนั้นมันอย่างกับ “ถูกแทงด้วยมีดนับพันเล่มไปทั่วร่าง” ประโยคนี้ละ ที่ยกมาจากบทสัมภาษณ์ของ ชาร์ล เฮอร์เบอร์ ไลต์โทลเลอร์ (Charles Herber Lightoller) ผู้ช่วยกัปตันของเรือไททานิค ที่เขาบรรยายความรู้สึกตอนตกลงในมหาสมุทรว่า “การตกลงไปในน้ำเย็นมันเหมือนกับมีดนับพันเล่มแทงเข้าสู่ร่างเขา ในช่วงขณะนั้นเขารู้สึกสูญเสียสติไปโดยสิ้นเชิง”
9.ฉากบันไดหลักในห้องโถงถูกน้ำพัดทำลายนั้น มีโอกาสถ่ายได้แค่ครั้งเดียว

ในห้องโถงของเรือนั้นมีบันไดหลักที่สร้างด้วยไม้ฉลุลายสวยงาม ซึ่งบันไดนี้ถูกสร้างขึ้นมาในลักษณะของพรอปประกอบฉาก ไม่ได้มีความแข็งแรงแน่นหนาเสมือนบันไดที่ใช้งานจริง เหตุเพราะว่าจะมีการถ่ายทำฉากที่บันไดนี้ถูกน้ำพัดทำลาย และเพื่อให้ภาพที่สมจริง ทีมงานจึงใช้น้ำมากถึง 340,000 ลิตร เทเข้าสู่โถงบันไดนี้ แน่นอนว่าน้ำจำนวนมหาศาลขนาดนี้จะต้องทำลายบันไดได้แหลกลาญจริง จึงเป็นงานยากของทีมถ่ายทำที่จะต้องเก็บภาพนาทีสำคัญนี้ให้ได้ครบถ้วน ห้ามผิดพลาดเด็ดขาด เพราะไม่มีโอกาสที่ 2 ให้แก้ตัว
10.ปล่องไฟที่ 4 ของเรือไททานิคไม่ได้เชื่อมต่อกับเตาหลอม จึงมีควันออกมาน้อยกว่าอีก 3 ปล่องแรก

นี่ก็เป็นเรื่องของความใส่ใจในทีมงานสร้างที่ไม่ปล่อยรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้เล็ดลอดไป แม้คนดูจะไม่ได้รับรู้ไปด้วยก็ตาม อย่างในเรื่องของปล่องไฟเรือ ในช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 นั้น เรือเดินสมุทรขนาดใหญ่นั้นมักจะมี 4 ปล่องควันขนาดใหญ่ จุดประสงค์เพื่อระบายความร้อนและควันไฟจากเตาหลอม แต่ระบบเดินเรือของไททานิคนั้นมีพัฒนาการที่ล้ำขึ้นมาหน่อย จึงใช้แค่ 3 ปล่องก็เพียงพอ แต่ด้วยเหตุที่เรือมีขนาดใหญ่มาก จึงยังคงสร้างให้มี 4 ปล่องเช่นเดิม เพื่อภาพลักษณ์ของเรือเมื่อมี 4 ปล่องแล้วจะดูยิ่งใหญ่น่าประทับใจ และดูสมดุลกับขนาดของเรือ แต่ใช้งานจริง ๆ ก็แค่ 3 ปล่องเท่านั้น ส่วนปล่องที่ 4 ก็ต่อเข้ากับห้องครัว ด้วยเหตุนี้ปล่องที่ 4 จึงมีควันออกมาเพียงแค่น้อยนิด
(อ่านต่อหน้า 2)