[รีวิว] Portrait of a lady on fire ภาพฝันของฉันคือเธอ – งดงาม หวามไหว ใจสลาย
Our score
10.0

Portrait of a lady on fire

จุดเด่น

  1. ใช้ทุกองค์ประกอบภาพยนตร์ได้เต็มประสิทธิภาพ
  2. ภาพสวยมาก แต่ละเฟรมแคปเจอร์ แล้วเอาเข้ากรอบรูปติดผนังได้เลย
  3. นักแสดงแสดงดีมาก ชวนเราเขินอายและใจสลายตามได้
  4. บทถ่ายทอดศิลปะออกมาได้งดงาม เปี่ยมสุนทรียะ
  5. เป็นประสบการณ์การชมภาพยนตร์ที่หาได้ยากยิ่ง

จุดสังเกต

  • คุณภาพบทภาพยนตร์

    10.0

  • คุณภาพนักแสดง

    10.0

  • คุณภาพงานสร้าง

    10.0

  • ความสนุก สุนทรียะตามแนวหนัง

    10.0

  • ความคุ้มค่าตั๋ว

    10.0

เมื่ออยู่ ๆ ภาพวาดสตรีชุดไหม้ไฟ มาโผล่ในคลาสสอนวาดพอร์ตเทรตของ มาริยาน (โนมี เมอร์ลัง)ความทรงจำอันหวานขมของเธอก็ซาซัดพัดหวนให้เธอได้ระลึกถึงอดีตเมื่อครั้งเธอได้รับว่าจ้างให้ไปวาดภาพของ เอลูอีส (อเดล แอเนล) ว่าที่เจ้าสาวที่เพิ่งสูญเสียพี่สาวสุดที่รักและทิ้งภาระการออกเรือนให้เธอ แต่ทว่ากิตติศัพท์ของ เอลูอีส เป็นที่เลื่องลือไปทั่วว่าเธอจะไม่ยอมให้ใครวาดรูปเธอเด็ดขาด จิตรกรคนแล้วคนเล่าต่างถูกเธอปั่นหัว ฉีกทึ้งทำลายงานเขียนจน มาริยาน ต้องอาศัยช่วงเวลาที่ได้ใช้ร่วมกับเอลูอีสในการสังเกตทั้งกายวิภาคและโครงหน้าเพื่อแอบเก็บมันกลับเขียนรูป แต่ในขณะที่ภาพค่อยพัฒนาจากสเก็ตช์ไปสู่ภาพลงสีสมบูรณ์ หัวใจของมาริยานก็กำลังเริ่มวาดภาพภาพหนึ่งที่จะกลายเป็นความทรงจำอันตราตรึง แม้เธอจะรู้ดีว่า เมื่อภาพถูกวาดเสร็จสมบูรณ์เธอจะต้องยกมันให้คนอื่นไม่ต่างจากตัวของเอลูอิสเลยก็ตาม

Play video

สนับสนุนข้อมูลโดย Major Cineplex

หนัง Portrait of a lady on fire ใช้เวลาเกือบ 1 ปีในการเดินทางจากฐานะหนังรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ปีล่าสุดสู่โรงภาพยนตร์ในประเทศไทย แม้คลื่นชนชั้นจาก Parasite จะซัดมาหลายระลอกและเป็นหนังรางวัลปาล์มทองคำที่เข้าฉายโรงภาพยนตร์ในไทยนานที่สุดในประวัติศาสตร์ ก็ไม่อาจบดบังรัศมีความเย้ายวนของหนังเรื่องนี้ลงได้ และโดยปริยายที่พอได้ดูหนัง Portrait of a lady on fire ในวันที่หนัง Parasite ครองออสการ์ไปแล้วก็ยิ่งทำให้เห็นอารมณ์ร่วมของวงการหนังโลกที่พร้อมใจกันพูดถึงเรื่องชนชั้นและความหลากหลายทางเพศ

ซึ่งเริ่มมีกระแสหนัง LGBTQ เพิ่มมากกว่าแต่ก่อนและอยู่ในฐานะหนังกระแสหลักมากขึ้น แต่ Portrait of a lady on fire ก็ยังอุตสาห์หามุมมองใหม่ ๆ มาบอกเล่าเรื่องราวความรักของผู้หญิงสองคนที่งดงามราวบทกวี ถ่ายทอดผ่านงานภาพที่คิดมาแล้วทุกเฟรมประกอบงานออกแบบเสียง เพลงประกอบและการตัดต่อที่เล่นกับอารมณ์ของผู้ชม คลุกเคล้ากับการเล่าเรื่องราวด้วยอารมณ์ศิลปินในสัดส่วนที่เหมาะเจาะจนเกิดประสบการณ์ทางภาพยนตร์ที่ตราตรึงมากที่สุดครั้งหนึ่งในประสบการณ์ดูหนังเลยทีเดียว

WHAT THE FACT รีวิว Portrait of a lady on fire

 

WHAT THE FACT รีวิว Portrait of a lady on fire

เดาว่าด้วยความที่สมองหลักของหนังคือทีมงานผู้หญิงทั้งงานกำกับของ เซลีน เซียมมา บวกกับ ผู้กำกับภาพอย่าง แคลร์ แมธง น่าจะเป็นเหตุผลว่าทำไมหนังถึงมีกลิ่นแบบผู้หญิงชัดมาก เพราะสายตาของกล้องที่ถ่ายภาพผู้หญิงแต่ละคน เหมือนเซลีน เธอเลือกให้ แคลร์ ถ่ายทอดรูปลักษณ์รูปทรงตลอดจนอารมณ์ที่ฟุ้งด้วยโครโมโซม X แบบทุกอณู ลำพังแค่งานถ่ายภาพในมุมกว้างฉากธรรมดา ๆ อย่างฉากบนโต๊ะอาหารพวกเธอก็เลือกให้คนดูมองกิจกรรมที่ธรรมดาที่สุดอย่าง สาวใช้ก้มตัวลงมาเทน้ำ หรือ ตักอาหารให้มาริยาน และ เอลูอิส

แต่ด้วยชุดในสมัยปลายศตวรรษที่ 18 ที่ถูกดีไซน์ให้เน้นทรวดทรงและแน่นอนว่า หน้าอก น่าจะกลายเป็นจุดสนใจของภาพไปโดยปริยาย ซึ่งหนังก็เลือก ลูอันนา บาจรามี สาวสวยหน้าตาจิ้มลิ้มรูปร่างกะทัดรัดมารับบทโซฟีสาวใช้ที่น่าจะทำให้หนุ่ม ๆ ไม่อาจวางตาได้มารับบทนี้ แต่อย่างที่บอกว่าสายตาผู้หญิงย่อมถ่ายทอดให้เราเห็นความงามมากกว่าจะเน้นกามารมณ์ ดังนั้นสิ่งที่คิดว่าน่าชื่นชมที่สุดสำหรับการถ่ายทอดงานภาพของหนังคือมันเอาสายตาผู้หญิงมาถ่ายทอดความงามของสตรีเพศได้อย่างน่ามองและชวนหลงใหลที่สุด แม้กระทั่งฉากเมกเลิฟระหว่าง มาริยาน กับ เอลูอิส เราก็ยังรู้สึกได้ถึงความหวานสุดหวามไหว จนทำให้หัวใจคนดูเต้นรัวประกอบกับงานบันทึกและออกแบบเสียงที่ประณีตมากมีทั้งความเงียบ ลมหายใจ และเสียงดีดเปียโนที่มีน้ำหนักไม่เท่ากันราวกับคำพูดที่ไม่ได้ออกจากปาก ก็อดทำให้เราเผลอเขินอายและหน้าแดงไม่รู้ตัวไปไม่ได้เลย

WHAT THE FACT รีวิว Portrait of a lady on fire WHAT THE FACT รีวิว Portrait of a lady on fire

และเมื่อพูดถึงเสื้อผ้าอาภรณ์และงานฉากหน้าอย่างการกำกับและถ่ายภาพไปแล้ว มาถึงจุดขายอย่างงานบทภาพยนตร์ที่ได้รางวัลจากเทศกาลหนังเมืองคานส์กันบ้าง แม้การเริ่มเรื่องจากปัจจุบันแล้วย้อนไปอดีตจะไม่ใช้ของใหม่หรือเป็นลูกเล่นที่แพรวพราวจนน่าพูดถึงนัก แต่การบอกเล่าเรื่องราวโดยเอาศิลปะซึ่งถือเป็นจิตวิญญาณของคนฝรั่งเศสมาเป็นแกนกลางในการถ่ายทอดเรื่องราวหวานขมของ มาริยานและเอลูอิส ยังทำได้ล้ำลึกและอาจกล่าวได้เลยว่าไม่บ่อยเลยที่เราจะได้ดูหนังที่ถ่ายทอดโดยศิลปินอย่างแท้จริงเหมือน Portrait of a lady on fire

ซึ่งหนังก็ใช้ศิลปะแทบทุกแขนงมาแต่งแต้มมันตั้งแต่วรรณกรรมที่เอาเรื่องราวโศกนาฏกรรมของ ออฟิอุส กับ ยูรีไดซ์ มาเปรียบเปรยความสัมพันธ์อันน่าเจ็บปวดของมาริยานกับเอลูอิส หรือบทเพลงประสานเสียงในฉากชุมนุมกองไฟกึ่งแฟนตาซีอย่างเพลง La Jeune Fille en Feu ที่ทั้งไพเราะและตราตรึงใจ เรื่อยไปจนถึงงานเสียงที่หนังขโมยสรรพเสียงของสิ่งแวดล้อมมาอรรถาธิบายความรู้สึกและห้วงคำนึงของตัวละครได้อย่างลึกล้ำ แต่ศิลปะที่ถือเป็นเนื้อหาสำคัญและหนังไม่ได้นำเสนอแบบผ่านแต่ยังพิศถึงแง่งามและความเจ็บปวดในฐานะศิลปินที่สามารถอธิบายความรักและขนบธรรมเนียมได้อย่างถึงแก่นก็คือ ศิลปะภาพวาดพอร์ตเทรต

WHAT THE FACT รีวิว Portrait of a lady on fire WHAT THE FACT รีวิว Portrait of a lady on fire

คงไม่กล่าวเกินเลยนักว่า ภาพวาดพอร์ตเทรดแทบจะเป็นบทบันทึกประวัติศาสตร์ในยุคที่ยังไม่มีกล้องถ่ายรูป และหนังก็เอาการวาดภาพที่ไม่เพียงเป็นพลอตเรื่องที่พาคนดูไปดื่มด่ำกับความรักของสองสาวสวยเท่านั้น แต่มันละเอียดละออถึงขั้นถ่ายทอดองค์ความรู้อย่างการสังเกตรูปร่าง รูปทรง ตั้งแต่กระดูกใบหูไปยันข้อมือ ที่สามารถอธิบายได้ถึงความลุ่มหลงที่แปรเปลี่ยนเป็นความรักของมาริยานที่มีต่อเอลูอิสได้อย่างสัมผัสหัวจิตหัวใจเหลือเกิน และไม่พอบทสนทนาและเรื่องราวชะตากรรมของผู้หญิงในเรื่องยังถูกส่งผ่านเรื่องราวในประวัติศาสตร์ศิลปะยุคปลายศตวรรษ 18 เมื่อจิตรกรสตรีถูกห้ามมิให้วาดภาพเปลือยของผู้ชายและพวกเธอก็ต้องแอบสร้างผลงานกันเอง

แต่กระนั้นในความเจ็บปวดที่สุดที่กลายเป็นโศกนาฏกรรมอันทำให้ มาริยานต้องฝืนกลืนกล้ำกับการซ่อนรูปวาด สตรีชุดไหม้ไฟ จริง ๆ กลับเป็นขนบของยุคสมัยที่ไม่อาจทำให้เธอครองรักกับ เอลูอิส ได้ และสิ่งที่เธอทำได้มีเพียงตัวเลือกเดียวกับ ออฟิอุส นั่นคือ การมองและเก็บความทรงจำเกี่ยวกับ เอลูอิส ให้มากที่สุดทั้งกายสัมผัสเวลาทั้งคู่ร่วมรักกันหรือกระทั่งภาพวาดก็อปปี้ที่แอบซ่อนในล็อกเกต ก่อนที่ภาพจริงของเอลูอิสจะต้องถูกยกให้คนอื่น ซึ่งความจริงนี้ก็หลอกหลอนจนเธอมักเห็นภาพวิญญาณเอลูอิสในชุดเจ้าสาวบ่อยครั้งก่อนเธอจะต้องลาจากคนรักและความรักครั้งสำคัญในชีวิตของเธอ

คงไม่กล่าวเกินเลยหากจะบอกว่าการชม Portrait of a lady on fire ก็ไม่ต่างจากการชมงานศิลปะ เพราะนอกจากสายตาและหูจะต้องทำงานแล้ว หัวใจและสมองยังจะได้รับความรู้สึกอันหวานขมและได้พินิจพิเคราะห์ถึงรายละเอียดต่าง ๆ แล้วนำพาผู้ชมสัมผัสกับอรรถรสแบบเปิดทุกโสตประสาทอย่างที่หาจากภาพยนตร์เรื่องไหนได้ยากเต็มที

WHAT THE FACT รีวิว Portrait of a lady on fire

คลิกที่ภาพเพื่อเช็ครอบและซื้อตั๋วชมภาพยนตร์

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส