เรื่องราวในประวัติศาสตร์อันเป็นความอับอายขายหน้าของรัฐบาลอเมริกันมาจวบจนทุกวันนี้ กับที่มาของป้อมปราการที่ชื่อว่า ฟอร์ตบลันเดอร์ (Fort Blunder) เป็นบทเรียนที่ดีสำหรับเหล่าวิศวรโยธาทั้งหลาย ว่าก่อนจะสร้างสิ่งก่อสร้างอะไรขึ้นมา ต้องมั่นใจแล้วว่าทีมงานสำรวจของคุณทำงานถูกต้องแม่นยำแน่นอนแล้วนะ

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อปี 1818 อยู่ในช่วงหนึ่งของ สงครามแห่งปี 1812 (War of 1812) จะเข้าใจเนื้อหาของเรื่องนี้ ผู้เขียนต้องขอปูพื้นอธิบายถึงสงครามนี้สักเล็กน้อยครับ เพราะที่มาของสงครามนี้เป็นผลกระทบมาจากสงครามนโปเลียน ตั้งแต่ ค.ศ. 1792–1815 คู่พิพาทสำคัญในช่วงนั้นก็คือฝรั่งเศสกับอังกฤษ ซึ่งสหรัฐอเมริกาก็เป็นพันธมิตรที่ดีทางการค้ากับสองชาตินี้ แต่พอสองชาตินี้ทะเลาะกันต่างก็ก่อกวนซึ่งกันและกัน ด้วยการกีดกันไม่ให้เรือสินค้าของอเมริกาไปทำการค้าขายกับฝ่ายตรงข้าม รุนแรงถึงขั้นทหารอังกฤษบุกยึดเรือสินค้าของอเมริกา ทำให้สภาสหรัฐฯ เกิดความตึงเครียดเปิดประชุมลงคะแนนเสียง ผลก็คือรัฐสภาพิจารณาประกาศสงครามกับอังกฤษอย่างเป็นทางการ เมื่อสงครามเกิดขึ้น ฐานที่มั่นของทางฝ่ายอังกฤษก็คือประเทศแคนาดา ในวันนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ สหรัฐฯ จึงมองหาสมรภูมิที่เหมาะสมในการสร้างป้อมปราการไว้รับมือการรุกรานจากชายแดนฝั่งแคนาดา

เจมส์ เมดิสัน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันนั้น เห็นชอบให้มีการสร้างป้อมปราการขึ้นเพื่อรับมือกับทหารอังกฤษ รัฐนิวยอร์กจึงคัดสรรพื้นที่ที่เล็งเห็นแล้วว่าเหมาะสมในการสร้างป้อมปราการ เป็นเกาะเล็ก ๆ ชื่อว่า Island Point อยู่สุดทางด้านเหนือของทะเลสาบแชมป์เลน (Lake Champlain) ยกพื้นที่ส่วนนี้ให้กับทางกองทัพสหรัฐฯ ในการสร้างป้อมปราการ พร้อมกับพื้นที่โดยรอบอีกประมาณ 1,000 ไร่ เพื่อใช้ประโยชน์ทางการทหาร

โจเซฟ ทอตเท็น (Joseph Totten) หัวหน้าวิศวกรจากองทัพบกสหรัฐฯ ได้รับมอบหมายในการเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างป้อมปราการทรงแปดเหลี่ยมนี้ เมื่อสร้างเสร็จแล้วป้อมนี้จะมีความสูงที่ 9.1 เมตร สามารถติดตั้งปืนใหญ่ได้ถึง 125 กระบอก มองภาพสวยหรูได้เลยว่า ถ้าเรือรบอังกฤษผ่านมาทางนี้เมื่อไหร่ละก็ ต้องเจอการถล่มยิงอย่างหนักเป็นแน่

การก่อสร้างเริ่มต้นในปี 1818 หลังดำเนินต่อเนื่องไปได้ 2 ปี ใช้งบประมาณในการก่อสร้างหมดไป 275,000 เหรียญ ทุกอย่างก็ดูราบรื่นดี จนกระทั่ง นักสำรวจผู้หนึ่ง เจอปัญหาใหญ่ขึ้นมา นั่นก็คือ……………ป้อมปราการสร้างบนชายแดนผิดฝั่ง อ้างอิงตำแหน่งจากสนธิสัญญาปารีส เมื่อปี 1783 ที่แบ่งเขตแดนนิวยอร์กและแคนาดากันด้วยเส้นขนานที่ 45 องศาเหนือ ป้อมปราการที่ต้องการสร้างเเพื่อป้องกันดินแดนสหรัฐฯ จากการรุกรานของอังกฤษที่รุกมาจากแคนาดา ดันสร้างอยู่บนแผ่นดินแคนาดา

ไม่มีคำอธิบายว่าทำไม ไม่สำรวจให้แน่ชัดเสียตั้งแต่ก่อนลงมือสร้าง แต่เมื่อผลสำรวจชี้ชัดออกมาแบบนี้แล้ว การก่อสร้างทุกอย่างก็ต้องยุติลงทันที ถึงตอนนี้ ป้อมปราการก็ได้ชื่อเล่นไปแล้วว่า Fort Blunder แปลว่า ‘ความสะเพร่า’ เป็นชื่อที่ตั้งได้ตรงและชวนให้อับอายเสียจริง

ตั้งแต่นั้นป้อมบลันเดอร์ก็ถูกทิ้งร้างมายาวนานกว่า 20 ปี ชาวบ้านชาวช่องละแวกนั้นต่างก็มาขโมยอิฐ หิน จากป้อมไปสร้างบ้านตัวเองกันถ้วนหน้า

ปี 1842 มีการประชุมเจรจาทางการทูตระหว่างสหรัฐฯ และอังกฤษ พิจารณากันถึงปัญหาทางด้านพรมแดนระหว่างประเทศหลาย ๆ จุด ทางสหรัฐฯ ต่อรองว่าขอเขยิบเส้นแบ่งชายแดนขึ้นไปทางเหนือเข้าไปทางฝั่งแคนาดาอีกสักหน่อย แค่นี้เอง ป้อมปราการกลับมาอยู่บนฝั่งสหรัฐฯ แล้ว ง่ายจัง แต่ในที่สุดทางอังกฤษก็ยินดีรับข้อเสนอนี้ ซึ่งต้องแลกด้วยข้อตกลงทางการค้าที่ทางสหรัฐฯ ต้องยอมอ่อนข้อให้เพื่อได้ข้อสรุปออกมาเป็น ‘สนธิสัญญาเว็บสเตอร์ – แอชเบอร์’ ปี 1842 หลังการเจรจาลุล่วงไปด้วยดี ทางการสหรัฐฯ ก็ลงมือสร้างป้อมปราการต่อให้แล้วเสร็จ หลังจากทิ้งร้างมาหลายสิบปี แล้วตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า ป้อมมอนต์โกเมอรี (Fort Montgomery) เพื่อเป็นการให้เกียรติต่อ นายพลริชาร์ด มอนต์โกเมอรี (Richard Montgomery) ผู้เป็นวีรบุรุษสงคราม เสียชีวิตในระหว่างสงครามปฏิวัติอเมริกา เมื่อปี 1775 หลังสร้างเสร็จ รอบนี้ป้อมไม่ถูกทิ้งร้างแล้ว แต่มีทหารประจำการตลอดเวลา

สภาพภายในป้อม ในปัจจุบัน

ในปี 1860 เกิดสงครามกลางเมืองในอเมริกา ในช่วงนั้นป้อมมอนต์โกเมอรีก็ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ดี ก็พอดีที่มีข่าวลือหนาหูว่า อังกฤษอาจจะส่งกองกำลังมาแทรกแซงจากทางฝั่งแคนาดา ทางกองทัพจึงเร่งมือในการก่อสร้างอย่างเร่งด่วนเพื่อให้พร้อมใช้การ มีการส่งทหารมาประจำการ ในที่สุดโครงสร้างพื้นฐานสำคัญก็แล้วเสร็จ มีกำแพงรายล้อมสูงถึง 14.6 เมตร สูงกว่าแบบเดิมของป้อมบลันเดอร์เดิมเสียด้วยซ้ำ มีปืนใหญ่ติดตั้งพร้อมจำนวน 74 กระบอก ทุกกระบอกหันไปทางชายแดนแคนาดา

แต่จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ก็ยังไม่เคยมีการโจมตีมาจากทางฝั่งแคนาดาแต่อย่างใด ความจำเป็นของป้อมปราการมอนต์โกเมอรีก็ลดน้อยถอยลงไปตามวันเวลา บรรดาอาวุธยุทโธปกรณ์ก็เสื่อมสภาพและถูกรื้อออกไป ป้อมถูกทิ้งร้างอีกครั้ง และเช่นเคยบรรดาคนจรจัดไร้บ้านก็ใช้เป็นที่อาศัย บรรดาอิฐ หิน อุปกรณ์ข้าวของต่าง ๆ ก็ถูกชาวบ้านงัดแงะรื้อถอนออกไป ป้อมอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมสุด ๆ ทางการก็เห็นชอบให้ทุบรื้อบางส่วนของป้อมเพื่อนำหินไปสร้างสะพานข้ามทะเลสาบแชมป์เลน

แผนที่คร่าว ๆ ของตำแหน่งที่ตั้งป้อม

ในปี 1920 รัฐบาลสหรัฐฯ เห็นชอบให้นำป้อมมอนต์โกเมอรีออกขายสู่กรรมสิทธิ์ของเอกชนผ่านกระบวนการประมูล ป้อมมอนต์โกเมอรีตกเป็นของมหาเศรษฐี วิกเตอร์ พอดด์ (Victor Podd) ซึ่งภายหลังพอดด์เกิดใจดี ขอมอบป้อมมอนต์โกเมอรีให้กับรัฐนิวยอร์ก เพื่อเป็นประโยชน์ทางประวัติศาสตร์ แต่ทางการนิวยอร์กพิจารณาแล้วตอบกลับว่า “ไม่ต้องการ”

วิกเตอร์ พอดด์ เสียชีวิตในปี 1999 ป้อมมอนต์โกเมอรีเป็นมรดกตกทอดมาถึงลูกชาย ซึ่งเขาก็นำมาประกาศขายบน eBay มีผู้ชนะการประมูลไปในราคา 5 ล้านเหรียญ แต่สุดท้ายการเจรจาซื้อขายก็ไม่สำเร็จลุล่วง พอดด์คนลูกยังคงพยายามที่จะขายป้อมมอนต์โกเมอรีต่อไป ก็ยังขายไม่ได้ แม้ว่าราคาในขณะนี้จะไม่ถึง 1 ล้านเหรียญแล้วก็ตาม ในปี 2020 Private Islands, Inc., เป็นตัวแทนที่เข้ามารับหน้าที่นายหน้า ตั้งราคาไว้ที่ 995,000 เหรียญ ราคานี้ถูกกว่าคอนโดมิเนียม 2 ห้องนอนในนิวยอร์กเสียด้วยซ้ำ ทางตัวแทนเขียนคำโฆษณาชวนซื้อไว้สวยหรูดังนี้ครับ

“มันคือสวรรค์ย่อม ๆ ขนาด 8 ไร่ พร้อมกับวิวที่สวยชวนหยุดหายใจทอดยาวเป็นไมล์ นี่คือที่พักอันสงบเงียบท่ามกลางแหล่งอนุรักษ์สัตว์ป่าเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่ง แต่คุณก็ยังสามารถสนุกกับชีวิตค่ำคืนอันมีสีสันในหรืออิ่มอร่อยกับอาหารเย็นสุดหรูในกรุงมอนทรีอัลที่ห่างออกไปไม่ถึง 60 นาที

หรือถ้าคุณอยากจะปรับปรุงบูรณะเกาะนี้ คุณสามารถใช้หินปูนนับ 1,000 ตัน จากป้อมปราการเก่าแห่งนี้มาใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ ซึ่งหินปูนเหล่านี้ล้วนได้มาจากเหมืองฟิสก์ บนเกาะไอล์ลามอตต์ ซึ่งในวันนี้ไม่สามารถผลิตได้อีกต่อไปแล้ว เพราะแนวปะการังนี้ถูกอนุรักษ์ไว้ในฐานะแนวปะการังที่เก่าแกที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง หินปูนที่เคยผลิตจากเหมืองเดียวกันนี้ ได้ถูกนำไปสร้างกำแพงของ เรดิโอ ซิตี้ มิวสิกฮอลล์ ในนิวยอร์ก และศูนย์แสดงงานศิลปะแห่งชาติในวอชิงตัน เอกลักษณ์ของหินปูนเหล่านี้คือ ความมีสไตล์ หรูหรา และทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ไม่สามารถพบเห็นได้ในสิ่งก่อสร้างในยุคปัจจุบันอีกต่อไปแล้ว

อ่านแล้วสนใจอยากเป็นเจ้าของป้อมปราการกันไหมล่ะครับ แปลงเป็นเงินไทยก็ 32 ล้านบาทเองนะ

อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง