ถ้าเอ่ยถึงชื่อ โคลัมเบีย พิกเจอร์ Columbia Pictures คอหนังฮอลลีวูด จะต้องรู้จักกันดีในฐานะ สตูดิโอผู้สร้างภาพยนตร์ขนาดใหญ่ 1 ใน Big Five ของฮอลลีวูด ซึ่งประกอบไปด้วย พาราเมาท์ พิกเจอร์ ก่อตั้ง 1912, ยูนิเวอร์แซล สตูดิโอ ก่อตั้ง 1912, โคลัมเบีย พิกเจอร์ ก่อตั้ง 1918, วอร์เนอร์ บราเธอร์ ก่อตั้ง 1923 และ ทเวนตี้ เซนจูรี่ ฟอกซ์ ก่อตั้ง 1935 ทั้ง 5 สตูดิโอ ล้วนมีโลโก้ที่ขึ้นเป็นไตเติลก่อนหนังฉาย ซึ่งล้วนเป็นเอกลักษณ์ที่คอหนังจะจดจำกันได้ดี โดยเฉพาะโคลัมเบีย พิกเจอร์ ที่เราจะพูดถึงกันในบทความนี้ ก็เป็นภาพของ หญิงสาวกำลังชูคบเพลิงในมือขวา ที่มีฉายานามเฉพาะว่า ‘Lady Columbia’ ส่วนคนไทยเรียกกันว่า ‘เทพีถือคบเพลิง’

Lady Torch เวอร์ชันแรกในปี 1924

ในช่วงแรกที่ก่อตั้งสตูดิโอนั้น ใช้ชื่อบริษัทว่า CBC Film Sales Corporation แล้วจึงมาเปลี่ยนชื่อเป็น Columbia Pictures ในปี 1924 ซึ่งพี่น้อง แฮร์รี่ และ แจ็ก คอห์น และ โจเอล แบรนดท์ 3 ผู้ก่อตั้งบอกว่าเป็นชื่อที่ฟังดูแล้วเหมือนผู้ช่ำชองมีประสบการณ์ ดูน่าเชื่อถือกว่า และปีนี้แหละที่เริ่มใช้ เทพีถือคบเพลิงเป็นสัญลักษณ์ของสตูดิโอ ตั้งแต่นั้นมาจนถึงวันนี้ ภาพลักษณ์ของเทพีถือคบเพลิงมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ๆ มาแล้ว 5 ครั้ง แต่ก็ยังคงเอกลักษณ์เป็นหญิงสาวห่มด้วยผ้าผืนใหญ่และถือคบเพลิงในมือขวาเช่นเดิม

เจนนี่ โจเซฟ

การเปลี่ยนแปลงครั้งล่าสุดเริ่มออกแบบคิดค้นกันในปี 1992 และเริ่มออกใช้ในปี 1993 นั่นก็เท่ากับ 28 ปีมาแล้ว ที่เราเห็นหน้าตาของเทพีคบเพลิงเวอร์ชันล่าสุดนี้ แล้วเธอคนนี้เป็นใครละ มีความสำคัญอย่างไร นั้นต้องย้อนไปเล่าถึง ปีเตอร์ กูเบอร์ (Peter Guber)ผู้ดำรงตำแหน่ง CEO ในวันที่โคลัมเบียเพิ่งตกเป็นของโซนี่ เขาได้ว่างจ้าง สกอตต์ เมดนิก (Scott Mednick) แห่งบริษัท Mednick Group ให้ออกแบบโลโก้เทพีแปะหัวหนังขึ้นมาใหม่ เพื่อจะใช้กับทุกสื่อบันเทิงของโคลัมเบีย เมดนิกก็ไปว่าจ้างต่อกับ ไมเคิล ดีส์ (Michael Deas) ศิลปินนักเขียนภาพแห่งนิวออร์ลีนส์ ให้สร้างสรรค์ภาพของเทพีคบเพลิงขึ้นมาใหม่ ให้ดูสดใสแต่ยังคงความคลาสสิกไว้เช่นเดิม งานนี้ไมเคิล ดีส์ ไปว่าจ้าง แคธี แอนเดอร์สัน (Kathy Anderson) ให้มาถ่ายภาพเทพีคบเพลิงขึ้นมาใหม่ แต่ด้วยเวลาที่จำกัดมาก แอนเดอร์สันจึงไหว้วานคนใกล้ตัวอย่าง เจนนี่ โจเซฟ (Jenny Joseph) เธอเป็นนักออกแบบกราฟิกที่ทำงานประจำอยู่กับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น The Times-Picayune และเป็นเพื่อนร่วมงานของแอนเดอร์สัน ให้ช่วยมาเป็นนางแบบจำเป็นที ซึ่งโจเซฟก็ตอบรับว่าจะมาเป็นนางแบบให้ในช่วงพักกลางวัน แอนเดอร์สันก็ปรับแต่งห้องนั่งเล่นของเธอในนิวออร์ลีน ให้เป็นสตูดิโอเฉพาะกิจเล็ก ๆ ขึ้นมา แต่ว่าการถ่ายภาพนิ่งก็กินเวลาลากยาวไปถึง 4 ชั่วโมง

แคธี แอนเดอร์สัน ย้อนเล่าประสบการณ์ในวันนั้นว่า
“เมื่อไมเคิล ดีส์ เพื่อนของฉัน เขาเป็นนักสร้างภาพประกอบผู้มีพรสวรรค์อย่างมาก มาขอให้ฉันช่วยถ่ายภาพต้นแบบที่จะนำไปวาดภาพประกอบ บอกตามตรงตอนนั้นฉันยังนึกไม่ออกด้วยซ้ำว่ารูปแบบงานมันจะออกมาเป็นอย่างไร แต่ด้วยความที่ฉันชอบถ่ายภาพด้วยซอฟต์บอกซ์ใหญ่ ๆ อยู่แล้ว แล้วมันดันตรงกับงานนี้ด้วย บวกกับเจนนี่ โจเซฟ เพื่อนร่วมงานของฉันก็เป็นนางแบบที่เปอร์เฟ็กต์มากสำหรับงานนี้ แล้วเรื่องราวจากนี้มันก็กลายเป็นตำนานไปแล้ว”

ไมเคิล ดีส์

ไมเคิล ดีส์ ก็นำภาพถ่ายของแอนเดอร์สันมาใช้เป็นต้นแบบในการเขียนภาพที่กลายเป็นที่จดจำนี้ และนั่นก็เป็นครั้งเดียวในชีวิตที่ เจนนี่ โจเซฟ ได้เคยทำหน้าที่นางแบบ แต่กลายเป็นว่าครั้งเดียวของเธอนั้น กลับกลายเป็นภาพที่ผู้คนทั่วโลกหลายล้านคนได้เห็นกันมาตลอด 28 ปีนี้

ปี 2012 เจนนี่ โจเซฟ ได้ให้สัมภาษณ์กับรายการโทรทัศน์ WWL-TV ถึงอดีตวันสำคัญที่เธอไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะกลายเป็นภาพจำของคนทั้งโลก
“วันนั้นฉันก็จะแวบไปแป๊บเดียวในช่วงพักกลางวัน พอไปถึงพวกเขาก็เอาผ้าผืนใหญ่มาห่อตัวฉัน แล้วให้ฉันถือโคมไฟตั้งโต๊ะ แล้วฉันก็ชูมันขึ้นแล้วเราก็ถ่ายมันแบบที่มีหลอดไฟด้วย”

ไมเคิล ดีส์ เสริมต่อว่า
“ผมไม่ได้คาดคิดว่าสุดท้ายมันจะไปขึ้นบนจอหนังหรอกนะ แล้วผมก็ไม่คาดคิดเช่นกันว่ามันจะยังคงอยู่อย่างนั้นมากว่า 20 ปีแล้ว และแน่นอนผมไม่คาดคิดว่าสุดท้ายมันจะไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ด้วย มันช่างเป็นอะไรที่น่าปลาบปลื้มจริง ๆ”

ดูวิวัฒนาการของ เทพีคบเพลิง ตั้งแต่ปี 1924 จนถึง 2020 ได้จากลิงก์ด้านล่างนี้ครับ

อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง