อาริสโตเติล (Aristotle) นักปราชญ์ชาวกรีกกล่าวว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เขาเชื่อว่า โดยสภาพธรรมชาติของมนุษย์จะต้องมีชีวิตอยู่ร่วมกันกับบุคคลอื่น ๆ ติดต่อสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างอิสระตามลำพังแต่ผู้เดียวได้ สังคมจึงเกิดขึ้น แต่กระนั้นก็ยังมีมนุษย์ส่วนหนึ่ง ที่เลือกจะปลีกวิเวก หลีกหนีจากสังคมวุ่นวาย ไปใช้ชีวิตอยู่ในป่า แต่ก็อย่างว่า ป่าโดยเฉพาะป่าดิบก็ไม่ใช่ที่ ที่มนุษย์จะสามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้ อย่างมากก็แค่ชั่วครั้งชั่วคราว ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือกรณีของ คริส แม็กแคนด์เลส (Chris McCandless) ชายหนุ่มที่ตัดสินใจทิ้งชีวิตเมืองแล้วเข้าป่าเพื่อแสวงหาความสุขที่แท้จริง แต่เขาก็มีชีวิตรอดได้แค่เพียง 113 วันเท่านั้น

คริสโตเฟอร์ ไนต์ ในวัยเด็ก

มาถึงเรื่องราวที่ผู้เขียนจะเล่าให้ฟังนี้ เป็นเรื่องของ คริสโตเฟอร์ ไนต์ (Christopher Knight) ที่ปลีกวิเวกเข้าป่า แล้วอยู่ตัวคนเดียวไม่พูดกับใครยาวนานถึง 27 ปี จนวันที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตามตัวเขาเจอ ตัวเขาเองยังตอบไม่ได้เลยว่าทำไมเขาถึงตัดสินใจเข้าป่ามาอยู่คนเดียวแบบนี้
“ผมเองก็ตอบไม่ได้ถึงการกระทำของผม วันที่ผมออกจากบ้านผมไม่ได้มีแผนการอะไรในหัวเลย ผมไม่ได้คิดเรื่องอะไรทั้งสิ้น ผมก็แค่ตัดสินใจทำไปอย่างนั้น”
คริสโตเฟอร์ ไนต์ ตอบกับตำรวจ

เต็นท์ที่พักของคริสโตเฟอร์ ไนต์

เรื่องมันเริ่มในปี 1986 ในวันนั้น คริสโตเฟอร์ ไนต์ อายุเพียงแค่ 20 ปีเท่านั้น เขาเป็นหนุ่มหัวดี และขี้อาย อยู่มาวันหนึ่งก็ไม่รู้มีอะไรดลใจเขา ทำให้ไนต์ตัดสินใจขับรถออกจากบ้านมาซะเฉย ๆ ขับมันไปเรื่อย ๆ แบบไม่มีจุดหมาย ขับไปจนกว่าน้ำมันจะหมดถัง แล้วก็จอดรถทิ้งมันซะอย่างนั้น มุ่งหน้าเดินเข้าป่าทึบในเมน รัฐแมสซาชูเซ็ตต์ เขามีเต็นท์แบบพักแรมติดมาในรถด้วย มีเสื้อผ้าและอาหารนิดหน่อยใส่มาในเป้ ไนต์กางเต็นท์แล้วก็นอนในป่าซึ่งไม่น่าจะสุขสบายนักเพราะอากาศในตอนกลางคืนติดลบถึง 20 องศา ไนต์สามารถเอาชีวิตรอดไปได้แต่ละวันด้วยความรู้เรื่องการใช้ชีวิตในป่าที่เขาอ่านมาจากหนังสือ

Pine Tree Camp

วันเวลาผ่านไป อาหารที่เตรียมมาก็ร่อยหรอ เขาเริ่มออกเดินหาอาหารรอบที่พัก ด้วยความหวังว่าจะเจอผลไม้ หรือผลเบอร์รีที่เก็บมาทานประทังชีวิตได้ แต่ก็หาไม่ได้อย่างที่คิด แล้วเขาเองก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญการใช้ชีวิตในป่า ครั้นจะล่าสัตว์ จับสัตว์มาทำอาหารก็ไม่เป็นเสียด้วย ทำให้ไนต์เริ่มเปลี่ยนเป้าหมายการหาอาหาร แต่ก็ยังไม่คิดจะกลับบ้าน เขาเดินไปเรื่อยจนเจอ Pine Tree Camp เป็นรีสอร์ตใหญ่มีบ้านพักรองรับนักท่องเที่ยวกว่า 100 หลัง ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากที่เขาปักหลักกางเต็นท์ไว้ และนี่แหละคือแหล่งอาหารชั้นดีของเขา ไนต์เริ่มกิจวัตรการขโมยอาหาร ข้าวของเครื่องใช้จากนักท่องเที่ยว แต่เขาไม่ขโมยทีละมาก ๆ เขาขโมยเตาแคมปิ้ง และน้ำมันสำหรับจุดเตา แบตเตอรี่พกพา และอาหารแค่พอประทังไปในแต่ละวัน

นี่คือแหล่งอาหารที่เขาจะพักพิงในระยะยาว ในแต่ละครั้งที่ไนต์ออกมาขโมยของ เขาจึงทำด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่งไม่ให้นักท่องเที่ยวรู้ตัวเด็ดขาด ไนต์จะสอดส่องดูลาดเลาให้มั่นใจก่อน เขาจะเลือกออกมาในคืนที่หมอกลงจัด เพื่อที่เขาจะซ่อนตัวได้ง่าย แล้วไนต์ยังโกนหนวดโกนเคราเรียบร้อยก่อนออกปฏิบัติการด้วย เผื่อบังเอิญใครเห็นเข้าจะได้ไม่สะดุดตานัก ปฏิบัติการของไนต์ก็ราบรื่นมาโดยตลอด ราบรื่นขนาดที่ว่าเขาสามารถทำเช่นนี้ต่อเนื่องมาเกือบ 1,000 ครั้งตลอดระยะเวลาเกือบ 3 ทศวรรษ ของที่ไนต์มักขโมยเป็นประจำก็คือ มักกะโรนีและชีส, เครื่องดื่มเมาน์เทนดิว, ถังแก๊ส, ผ้าใบ และหนังสืออ่านเล่น

พอได้ของพวกนี้ไป ไนต์ก็ใช้เวลาผ่านไปในแต่ละวันสนุกไปกับของที่ขโมยมาเหล่านี้ เขานอนฟังวิทยุบ้าง เล่นวิดีโอเกมแบบพกพาบ้าง เขามีทีวีพานาโซนิคเครื่องเล็กด้วย แต่เป็นรุ่นโบราณยังเป็นจอขาวดำ ไนต์ชาร์จอุปกรณ์ไฟฟ้าเหล่านี้กับแบตเตอรี่รถยนต์ที่เขาขโมยมานั่นแหละ ด้วยความที่เป็นข้าวของเล็ก ๆ น้อย ๆ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จึงไม่ถือสาเอาความ บางบ้านใจดีมากถึงกับเขียนโน้ตทิ้งไว้ให้เขา ถามว่าเขาอยากได้อะไรอีกไหมจะได้จัดหาไว้ให้ แต่ไนต์ก็ไม่เคยสนใจที่จะเขียนตอบกลับ

หลายครั้งที่ไนต์ใช้เรือแคนูของรีสอร์ตเป็นพาหนะในปฏิบัติการ แต่ไนต์รู้ว่าเรือแคนูเป็นของใหญ่ เขาจึงเลือกที่จะยืมใช้แล้วเอามาคืน ไม่งั้นทางรีสอร์ตจะแจ้งตำรวจ แล้วเขาจะซวยเอา อย่างที่บอกว่าไนต์มักจะเลือกปฏิบัติการในคืนที่อากาศเลวร้าย บางคืนไนต์จะใจเย็นภายเรือวนอยู่ในทะเลสาบท่ามกลางสายฝนอยู่เป็นชั่วโมง รอจนจังหวะเหมาะจึงจะย่องเข้าไปขโมยของ

แม้ว่าไนต์จะย่องเบา ฉกข้าวของมาเป็นพันครั้งจนเชี่ยวชาญแล้วก็ตาม แต่ไนต์บอกว่าทุกครั้งที่เขาขโมยของเขาก็ยังคงตื่นเต้นอยู่เสมอ
“อะดรีนาลีนในร่างผมยังคงพลุ่งพล่านเสมอ หัวใจผมเต้นตูมตาม เลือดผมสูบฉีดแรง ผมยังตื่นกลัวทุกครั้งที่ผมขโมยของ ผมจึงรีบทำให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้”
เวลาขโมยของ ไนต์จะมีเซ็ตอุปกรณ์งัดแงะ ที่ประกอบไปด้วยไขควงหลากขนาดใส่รวมไว้ในกระเป๋าเป้ ทุกครั้งที่ไนต์งัดเข้าบ้านเขาจะใส่นาฬิกาข้อมือไว้ด้วย เพื่อคอยดูเวลาว่าเขาแอบเข้ามาอยู่ในบ้านพักนักท่องเที่ยวนานแค่ไหนแล้ว บางครั้งเขาก็ไม่ได้หอบข้าวของที่ขโมยมากลับเต็นท์หมดในคราวเดียว แต่จะแอบซุกซ่อนไว้ตามละแวกนั้น แล้วค่อยดอดมาเอาทีหลัง

นักท่องเที่ยวที่ใจดีก็มีเยอะ แต่ไม่ใช่ทุกคน บางคนที่ไม่พอใจที่อาหารและข้าวของตัวเองถูกขโมยก็แจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และนั่นคือจุดจบของภารกิจอันยาวนานตลอด 27 ปี ของคริสโตเฟอร์ ไนต์ ตำรวจรวบตัวเขาได้คาหนังคาเขา ขณะกำลังหอบหิ้วขนม, มันฝรั่ง, หมวกแก๊ป, เสื้อคลุม และนาฬิกาข้อมือ

ตำรวจตามไปรวบรวมหลักฐานต่อที่เต็นท์ของไนต์ ที่นี่ตำรวจยังพบว่าเขาเก็บสะสมเงินไว้ได้ 395 เหรียญ ทั้งหมดเป็นธนบัตรใบละ 1 เหรียญ อยู่ในสภาพเก่า ดำและมีราขึ้น ไนต์บอกว่าเขาเก็บไว้เผื่อใช้ในสภาวะฉุกเฉิน แต่ที่ผ่านมา เขาก็ยังไม่เคยได้ใช้เงินสักเหรียญเดียวเลย

คริสโตเฟอร์ ไนต์ ในวันที่ถูกจับ

ไนต์ถูกจับได้ในวันที่ 28 ตุลาคม 2013 นับเป็นเวลา 27 ปีที่เขาอยู่ตัวคนเดียวในป่า โดยไม่ได้สุงสิงกับใครเลยในแต่ละวัน สร้างความฉงนให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่พบผู้ต้องหามีรูปแบบดำเนินชีวิตแปลกประหลาดเช่นนี้ ซึ่งไนต์ก็ยืนยันว่าเขามีความสุขดี
“ผมไม่เคยรู้สึกเหงาเลยนะครับ ถ้าคุณเป็นคนชอบอยู่โดดเดี่ยวอยู่แล้ว คุณจะไม่เหงาเลย”

ศาลตัดสินให้คริสโตเฟอร์ ไนต์ มีความผิดในข้อหาบุกรุกและลักทรัพย์ ต้องโทษจำคุกเป็นเวลา 7 เดือน ซึ่งไนต์ก็รับโทษไปเป็นที่เรียบร้อย

ไม่น่าเชื่อว่าหลังจากหนีหายจากบ้านมาเป็นเวลา 27 ปี ไนต์ยังสามารถสานต่อกับญาติพี่น้องได้อยู่ หลังพ้นโทษ ไนต์ได้ไปทำงานกับพี่ชายในธุรกิจค้าเศษเหล็ก แต่เขาก็ยังอยู่ในช่วงคุมประพฤติ ต้องมารายงานตัวกับผู้พิพากษาเป็นประจำทุกสัปดาห์

หนังสือ The Stranger in The Woods

เรื่องราวของไนต์ในช่วงที่โดนจับนั้นเป็นข่าวดัง มีสื่อมากกว่า 500 รายติดต่อขอสัมภาษณ์เขา แต่ไม่รู้ด้วยเหตุผลกลใด คริสโตเฟอร์ ไนต์ ยอมให้สัมภาษณ์กับนักข่าวผู้เดียว ไมเคิล ฟิงเคล (Michael Finkel) ผู้ถ่ายทอดเรื่องราวของคริสโตเฟอร์ ไนต์ เป็นบทความในนิตยสาร GQ และต่อมาก็ขยายเรื่องราวออกมาเป็นหนังสือชื่อ “The Stranger in The Woods”

อ้างอิง