สเกตบอร์ด เป็นกีฬาที่เพิ่มเข้ามาในการแข่งขัน Tokyo Olympics 2020 พร้อมกับเซิร์ฟบอร์ด เบสบอล ปีนผาและคาราเต้ จะเป็นอย่างไรเมื่อกีฬาที่เราพบเห็นตามข้างถนน ใต้สะพานลอยหรือสวนสาธารณะได้ถูกบรรจุเข้ามาในสนามแข่งขัน ที่มีผู้ชมตื่นเต้นและตั้งตารอชมจริงจังจากทั่วโลก แต่ในมุมของเจ้าภาพญี่ปุ่นเองอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป

เครดิตรูปภาพจาก The New York Times

สเกตบอร์ดเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมมาตั้งแต่ยุค 40s -50s มีจุดเริ่มต้นที่ประเทศอเมริกา ซึ่งเกิดขึ้นมาจากกลุ่มนักโต้คลื่น ที่เมื่อหมดฤดูคลื่นแล้วมักจะหาที่ซ้อมไม่ได้ จึงเกิดไอเดียที่อยากเปลี่ยนถนนหรืออุปสรรคบนพื้นให้กลายเป็นคลื่นลูกใหม่ โดยมีอุปกรณ์หลักคือไม้กระดานและติดล้อเพิ่ม 4 ล้อโดยและทรักส์เชื่อมระหว่างล้อทั้งสองข้างให้พอเคลื่อนที่ได้

การเล่นในช่วงแรกเป็นการไถไปกับพื้นถนน ก่อนที่จะพัฒนาเป็นลูกเล่นและท่าทางต่าง ๆ ที่แฝงไปด้วยเทคนิคพิเศษ ต้องใช้ความชำนาญและการฝึกฝน อาทิ ท่าออลลี (Ollie) หรือการยกบอร์ดขึ้นจากพื้นเพื่อข้ามสิ่งกีดขวาง ท่าคิกฟลิบ (Kickflip) เป็นท่าต่อเนื่องจากออลลีเพื่อพลิกบอร์ดหมุนขณะกระโดด จากกิจกรรมฆ่าเวลาของนักโต้คลื่นจึงกลายมาเป็นกีฬาจริงจัง มีผู้เล่น มีการสร้างสนาม รวมถึงมีการแข่งขันจริงจังในยุค 70s เป็นต้นมา

ทศวรรษที่ 80 เป็นช่วงเดียวกับที่วัฒนธรรมอเมริกันเริ่มทยอยเข้ามาสู่ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงสเกตบอร์ดด้วย แม้จำนวนนักสเกตบอร์ดในญี่ปุ่นยุคแรก ๆ จะไม่ได้มีมาก แต่เด็กและวัยรุ่นเริ่มให้ความสนใจจึงค่อย ๆ พัฒนาทักษะการเล่นสเกตบอร์ดในญี่ปุ่นขึ้นทีละน้อย แต่หากมองในมุมกว้างแล้ว กีฬาประเภทนี้ค่อนข้างรุนแรง โผงผางและสร้างความรบกวน ขัดกับภาพลักษณ์ของคนญี่ปุ่น ที่ไม่ชอบอะไรโฉ่งฉ่างและไม่เป็นระเบียบเช่นนี้ จึงไม่เป็นที่ยอมรับในสายตาคนญี่ปุ่นสักเท่าไหร่ บ้างก็ว่าเป็นวัฒนธรรมสวนกระแส ไปจนถึงขบถเลยก็มี

อย่างไรก็ตามความนิยมสเกตบอร์ดทั่วโลกได้นำมาสู่การแข่งขันโอลิมปิกสำเร็จใน Tokyo Olympics 2020 โดยแบ่งประเภทการแข่งขันออกเป็นแบบ Street และ Park การแข่งขันสเกตบอร์ดทั้ง 2 ประเภทมีกติกาคล้าย ๆ กันคือเน้นการเล่นท่าให้ถูกใจกรรมการภายใน 45 วินาที ใครที่เล่นได้แปลกและเนียนตาที่สุดก็ได้ชัยไปครอง การแข่งขันสเกตบอร์ดจัดขึ้นที่สนามกีฬาอาริอาเกะ (Ariake Urban Sports Park) สร้างขึ้นมาเพื่อโอลิมปิกครั้งนี้โดยเฉพาะ ทั้งอุปสรรค ราวบันได ขั้นบันได เนินยกระดับล้วนอ้างอิงมาจากข้อจริงทั้งหมด

เครดิตรูปภาพจาก The New York Times

ส่วนนักกีฬาทีมชาติญี่ปุ่นในฐานะเจ้าภาพนอกจากจะเป็นการพิสูจน์ให้คนญี่ปุ่นด้วยกันเห็นว่า กีฬาสเกตบอร์ดไม่ได้เป็นเพียงของเล่นสนุกหรือการสร้างขบถอะไรทั้งนั้น แต่สามารถนำความสำเร็จมาสู่ประเทศชาติได้เช่นเดียวกัน และมันก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ เมื่อยูโตะ โฮริโกเมะ (Yuto Horigome) นักสเกตบอร์ดชาวญี่ปุ่น วัย 22 ปี ได้สร้างประวัติศาสตร์โดยการคว้าเหรียญทองแรกในการแข่งขันสเกตบอร์ดประเภทสตรีตมาได้ ด้วยคะแนนรวม 37.18 แต้ม เอาชนะคู่แข่งจากบราซิลและอเมริกาไปได้ ตามมาด้วยโมมิจิ นิชิยะ (Momiji Nishiya) นักกีฬาสเกตบอร์ดหญิงวัย 13 ปี เป็นผู้คว้าเหรียญทองประเภทสตรีตเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้โมมิจิ นิชิยะ ยังเป็นนักกีฬาโอลิมปิกอายุน้อยที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกด้วยวัย 13 ปี 330 วัน รองจากมาร์จอรีย์ เกสตริง (Marjorie Gestring) นักกระโดดน้ำจากอเมริกา วัย 13 ปี 267 วัน เธอเคยคว้าเหรียญทองประเภทสปริงบอร์ด 3 เมตรหญิง ในโอลิมปิกที่กรุงเบอร์ลินปี 1936 ทำให้เห็นแล้วว่ากีฬาทุกชนิด ไม่มีข้อจำกัดหรืออุปสรรคใด ๆ แม้แต่วัยก็ไม่ใช่ข้ออ้าง หากเชื่อมั่นและหมั่นฝึกฝนทุกคนก็สามารถประสบความสำเร็จได้เช่นกัน

อ้างอิง, อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส