สิ่งที่ผู้ชมต่างนึกถึงและพูดถึงภาพยนตร์เรื่อง ‘Interstellar’ (2014) ภาพยนตร์ไซไฟมหากาพย์ลำดับที่ 9 ของเสด็จพ่อ คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) ก็คงหนีไม่พ้นความอลังการของอวกาศ และความยิ่งใหญ่ของหลุมดำที่สมจริง และเรื่องราวสุดกินใจที่แฝงอยู่ ทำให้ตัวหนังได้เข้าชิง 5 รางวัลออสการ์ และคว้ารางวัลวิชวลเอฟเฟกต์ยอดเยี่ยมมาครอง

แต่สิ่งหนึ่งที่หลายคนไม่มีทางลืมก็คือ เทคโนโลยีล้ำสมัยที่ปรากฏอยู่ในหนัง โดยเฉพาะเจ้า TARS (และหุ่นยนต์หน้าตาคล้าย ๆ กันที่ชื่อว่า CASE) หุ่นยนต์ AI ผู้ช่วยอัจฉริยะสุดล้ำที่มาในรูปลักษณ์กล่องสี่เหลี่ยมสุดแปลกตา แถมยังสร้างความตื่นใจด้วยความเปี่ยมอารมณ์ขันเยี่ยงมนุษย์ และการเคลื่อนไหวสุดแปลกที่ใครดูแล้วก็ต้องอึ้ง

TARS Interstellar Christopher Nolan

ใครที่เป็นแฟนหนังของเสด็จพ่อโนแลนจะย่อมพอรู้ว่า โนแลนขึ้นชื่อเรื่องการพึ่งพาวิชวลเอฟเฟกต์เท่าที่จำเป็น เพราะฉะนั้น เบื้องหลังของเจ้าหุ่นยนต์ทรงกล่องตัวนี้ จึงไม่ใช่การสร้างวิชวลเอฟเฟกต์จากคอมพิวเตอร์ แต่เป็นการสร้างหุ่นจริง ๆ ที่สร้างขึ้นมาใช้ถ่ายทำโดยเฉพาะ รวมทั้งยังต้องพากย์เสียงกันแบบสด ๆ ในขณะถ่ายทำไปด้วย ซึ่งเบื้องหลังของคนเชิดหุ่นและพากย์เสียงเจ้าหุ่นตัวนี้ก็คือ บิล เออร์วิน (Bill Irwin) นั่นเอง

เออร์วินไม่ใช่คนอื่นคนไกลที่ไหน เพราะว่าจริง ๆ แล้วเขาเป็นนักแสดง ตัวตลก และนักเชิดหุ่นตุ๊กตาที่อยู่ในวงการมาอย่างยาวนาน เขาได้มีโอกาสเป็นนักแสดงและเป็นนักเชิดหุ่นในภาพยนตร์และรายการทีวีดัง ๆ มาหลายต่อหลายเรื่อง อาทิในภาพยนตร์ ‘Popeye’ (1980) ที่แสดงโดย โรบิน วิลเลียมส์ (Robin Williams) ในทีวีซีรีส์ ‘Law & Order’ (2008), ‘Star Trek: Discovery’ (2020–2021) รายการทีวี ‘Saturday Night Live’ (1980), ‘Sesame Street’ (1992–2009) และอีกมากมาย รวมถึงเขายังเคยปรากฏตัวร่วมกับ โรบิน วิลเลียมส์ ในมิวสิกวิดีโอเพลง “Don’t Worry, Be Happy” (1988) เพลงสุดโด่งดังของ บ็อบบี แม็กเฟอร์ริน (Bobby McFerrin) อีกด้วย

TARS Interstellar Christopher Nolan

แต่แม้ว่าเขาจะมีผลงานการแสดงมานับไม่ถ้วน แต่การร่วมงานกับเสด็จพ่อก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย ซึ่งเขาเองได้ให้สัมภาษณ์กับ The Hollywood Reporter ในปี 2014 ว่า ด้วยความที่โนแลนเองต้องการให้เขามาเชิดหุ่น และพากย์เสียงหุ่นยนต์ TARS และ CASE ที่หน้ากองถ่ายแบบสด ๆ เลย นั่นก็เลยทำให้เขาจำเป็นต้องมีสคริปต์เช่นเดียวกับนักแสดงคนอื่น ๆ

และความขึ้นชื่อของโนแลนอีกอย่างก็คือ สคริปต์ที่เขียนขึ้นโดย โจนาธาน โนแลน (Jonathan Nolan) น้องชายของโนแลนนั้น ถือเป็นความลับขั้นสุดยอด จนนักแสดงหลายคนค่อนข้างเกร็งในการเก็บความลับของเรื่องราวในสคริปต์อยู่พอสมควร นักแสดงทุกคนต้องเซ็นสัญญาห้ามเปิดเผยข้อมูล และไม่มีใครสามารถเล่าเรื่องราวในสคริปต์ได้แม้แต่กับญาติสนิท

TARS Interstellar Christopher Nolan

ในฐานะที่เออร์วินก็มีสคริปต์ด้วยเช่นกัน เขาก็เลยต้องมีสคริปต์ติดตัวไปด้วย และเขาเองเล่าว่า เขาพกพาสคริปต์ไปในทุกที่ แม้แต่ตอนไปซื้อของที่ร้านขายของชำ และนั่นทำให้เขาต้องอกสั่นขวัญแขวน เมื่อเขาเกือบทำสคริปต์หายในร้านขายของชำ “ครั้งหนึ่งผมวางสคริปต์ทิ้งไว้ที่ร้านขายของชำ Ralphs ในลอสแองเจลิส และผมก็เดินจากมันมาตั้งเกือบ 3 นาที ผมไม่เคยรู้สึกกลัวขนาดนี้มาก่อนเลยในชีวิต” โชคดีที่เขาวิ่งกลับมาที่ร้านและหยิบสคริปต์ไปได้ ก่อนที่คนอื่นจะเห็นและหยิบมันไป

เบื้องหลังงานสร้างของหุ่นยนต์ TARS เริ่มต้นจากคอนเซปต์ที่โนแลนมีไอเดียว่า เขาอยากได้หุ่นยนต์ที่ดูไม่เป็นหุ่นยนต์ เป็นหุ่นยนต์ที่ลดทอนความซับซ้อนลง เป็นเหมือนเครื่องจักรมากกว่าจะเป็นหุ่นยนต์ที่ดูคล้ายกับมนุษย์ในแบบที่คุ้นเคย แต่ก็ยังต้องมีบุคลิกอะไรบางอย่างอยู่ และไม่เหมือนหุ่นยนต์ในหนังไซไฟเรื่องใด ๆ เลย

TARS Interstellar Christopher Nolan

นาธาน โครว์ลีย์ (Nathan Crowley) ผู้ออกแบบงานสร้างจึงได้ออกแบบ TARS เป็นหุ่นยนต์ทรงกล่องที่ประกอบด้วยกล่องเหล็ก 4 ชิ้นประกบกัน มีจอตรงกลาง ไม่มีหน้าตา แต่มีเสียงที่บ่งบอกบุคลิกได้ โดยได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งจากการผสมระหว่าง แท่งหิน (Monolith) และ AI ควบคุมยานพูดได้ HAL9000 จากหนังไซไฟอวกาศ ‘2001: A Space Odyssey’ (1968) ของผู้กำกับ สแตนลีย์ คูบริก (Stanley Kubrick)

หุ่นยนต์ TARS ถูกสร้างขึ้นจากโครงสร้างอลูมิเนียม และมีพื้นผิวเป็นสแตนเลส ประกอบเข้าเป็นหุ่นเชิดที่มีส่วนสูง 1.5 เมตร น้ำหนักราว 200 ปอนด์ หรือ 91 กิโลกรัม และถูกสร้างขึ้นมาใช้ถ่ายทำทั้งหมด 8 ตัว ใช้เวลาสร้าง 6 สัปดาห์ และใช้ต้นทุนราวตัวละ 20,000 เหรียญ ตัวหุ่นสามารถเคลื่อนไหวได้ 3 แบบ คือ เดินสองขาคล้ายการเดินของลิง เดินแบบใช้ขาค้ำยัน และโหมดวิ่งด้วยการกางขาออกคล้ายกังหัน

TARS Interstellar Christopher Nolan

ตอนที่ถ่ายทำ เออร์วินต้องรับหน้าที่เชิดหุ่นนี้เพื่อให้สามารถเคลื่อนที่ได้จริง ๆ และยังต้องรับหน้าที่พากย์เสียงโต้ตอบกับนักแสดงในกองถ่ายอีกด้วย แม้ว่าการจ้างคนเชิดแล้วพากย์เสียงทับในขั้นตอน Post-Production จะทำงานง่ายกว่ามาก เขาจึงต้องลุยน้ำ ลุยพายุ เพื่อเชิดหุ่น TARS และ CASE ราวกับเป็นนักแสดงคนหนึ่ง ส่วนหุ่น CASE จะให้ผู้พากย์อีกคนคือ จอช สจวร์ต (Josh Stewart) เป็นผู้พากย์เสียงแทน

โดย สก็อต ฟิชเชอร์ (Scott Fisher) ผู้ดูแลด้านเทคนิคพิเศษได้ให้ข้อมูลว่า 80% ของฉากที่ปรากฏหุ่นยนต์ TARS ในหนังเป็นหุ่นจริง ๆ ไม่ใช้วิชวลกราฟิกใด ๆ แต่ด้วยความที่เออร์วินมีความสูงมากกว่าตัวหุ่น ก็เลยต้องใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกลบตัวเขาออกในขั้นตอน Post-Production ภายหลัง และจะมีบางฉากที่ใช้วิชวลกราฟิก เช่น การเคลื่อนที่ของหุ่นอย่างรวดเร็วบนผืนน้ำด้วยการแปลงตัวเป็นเหมือนกังหัน

ทำให้ TARS และ CASE เป็นนักแสดงที่โนแลนกล่าวว่าเป็นนักแสดงที่ควบคุมยากที่สุดในบรรดานักแสดง เพราะนอกจากจะต้องบุกน้ำ ฝ่าพายุได้แล้ว ตัวมันเองยังต้องแสดงออกถึงบุคลิกภาพได้ แม้ว่าตัวมันเองจะไม่มีหน้าตาเลยก็ตาม


ที่มา: /Film, CNET, Insider, The Hollywood Reporter