ในวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายนปีนี้ (วันที่เผยแพร่ข่าวนี้) ดูเหมือนว่า สถานการณ์สิ่งแวดล้อมเท่าที่ Beartai รายงานอยู่ตลอดของปีนี้จะไม่ได้อยู่ในสถานะที่ดีนัก เพราะมีวิกฤตหลาย ๆ อย่างที่เกิดจากมนุษย์ ทั้งมลภาวะที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธรรมชาติ (อาจดีขึ้นหน่อยช่วงโควิด-19 ที่กิจกรรมทางสังคมของมนุษย์ลดลงบ้าง แต่ก็เริ่มกลับสู่ภาวะปกติมากขึ้นแล้วในหลายประเทศ) ภาวะโลกร้อน ภาวะขยะในทะเลและแหล่งธรรมชาติโดยเฉพาะพลาสติกก็ยังเป็นปัญหาที่แก้กันไม่ตก ล่าสุดก็มีวิกฤตจากฝีมือมนุษย์เหตุการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นและส่งผลเสียหายต่อระบบนิเวศทางธรรมชาติแบบทันทีไม่ต้องรอนาน

เมื่อวันพุธที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา มีการถ่ายทอดสดการประชุมด่วนระหว่าง วลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีของประเทศรัสเซียกับบริษัท Nornickel บริษัทเหมืองแร่และโลหะ ผู้ผลิตนิกเกิลและแพลเลเดียมชั้นนำของประเทศรัสเซีย หลังจากทางบริษัทไม่ได้รายงานเรื่องสถานการณ์น้ำมันรั่วไหลในแม่น้ำทางตอนกลางของขั้วโลกเหนือ

(ภาพจาก BBC)
จุดที่มีการรั่วไหลของน้ำมันในประเทศรัสเซีย (ภาพจาก BBC)

โดยเหตุน้ำมันรั่วไหลครั้งนี้ เกิดจากถังน้ำมัน NTEK ในโรงงานไฟฟ้าใกล้กับเมือง Norilsk แถบไซบีเรียพังลงเมื่อวันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม ทำให้มีน้ำมัน 20,000 ตันหรือประมาณ 24 ล้านลิตร คิดเป็นความเสียหายมูลค่าราว 7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่หากประเมินความเสียหายทางธรรมชาติเป็นมูลค่าแล้ว จะอยู่ที่ราว ๆ 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เลยทีเดียว

น้ำมันดิบได้รั่วลงแม่น้ำ Ambarnaya ซึ่งมีโรงงานหลายแห่งในพื้นที่รอบแม่น้ำ Yenisel ในเมือง Norilsk และ Talnakh ทางตอนกลางของขั้วโลกเหนือ และกระจายไปไกลจากที่เกิดเหตุกว่า 12 กิโลเมตร เปรียบเทียบแล้ว เป็นกรณีที่ร้ายแรงกว่าน้ำมัน 5,000 ตันที่รั่วในปี 2007 ที่ช่องแคบ Kerch โดย World Wildlife Fund บอกกับสำนักข่าว AFP ว่าอุบัติเหตุครั้งนี้ถือว่าเป็นอุบัติเหตุน้ำมันรั่วที่ใหญ่เป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์รัสเซียสมัยใหม่ นักสิ่งแวดล้อมจะต้องใช้เวลาฟื้นฟูราว ๆ 5-10 ปี กว่าจะกลับคืนสู่สภาพเดิม

ประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน ประชุมออนไลน์กับบริษัท Nornickel ต้นเหตุที่ทำให้น้ำมันรั่วไหลครั้งใหญ่ (ภาพจาก The Guardian)

ประธานาธิบดีปูตินแสดงอาการไม่พอใจต่อบริษัทอย่างมาก เนื่องจากทางบริษัทใช้เวลาถึงสองวันหลังจากน้ำมันรั่วกว่าจะออกมารายงานสถานการณ์น้ำมันรั่ว ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่า บริษัทอาจมีเจตนาปกปิดเหตุการณ์ดังกล่าวก่อนที่ประชาชนรัสเซียจะรับทราบถึงเหตุการณ์นี้และแชร์ข่าวสารออกทางโลกออนไลน์ ในการประชุมออนไลน์เมื่อวันพุธ “พวกเราจะรู้เรื่องนี้ได้จากสื่อโซเชียลมีเดียหรือ?” ในขณะนี้ Vyacheslav Starostin ผู้อำนวยการของโรงงานแห่งนี้ได้ถูกควบคุมตัวโดยรัฐจนถึง 31 กรกฎาคม แต่ยังไม่ได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหา

Vyacheslav Starostin ผู้อำนวยการของโรงงานถูกควบคุม (ภาพจาก BBC)

ปูตินสอบถามและได้ตำหนิหัวหน้าบริษัทเรื่องความล่าช้าในการแจ้งให้หน่วยงานรัฐทราบ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่บริษัท Nornickel ทำน้ำมันที่รั่วลงแม่น้ำ เพราะในปี 2016 ทางบริษัทก็เคยออกมายอมรับว่า อุบัติเหตุจากโรงงานมีส่วนทำให้แม่น้ำ Daldykan กลายเป็นสีแดง

ภาพแม่น้ำที่กลายเป็นสีแดง และด้วยความตื้นเขินก็ทำให้การเข้าไปจัดการปัญหาค่อนข้างยากลำบาก (ภาพจาก BBC)

อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวว่า ในตอนแรกที่บริษัทคิดว่าการรั่วไหลในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นเหตุที่เกิดจากบริษัทเพราะว่า พวกเขาเชื่อว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่นักวิทยาศาสตร์เตือนมาหลายปีแล้วว่า การละลายน้ำแข็งบนพื้นดินที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันนี้ (ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ของประเทศรัสเซียอยู่มากกว่าครึ่งหนึ่ง) อาจส่งผลกระทบต่อท่อส่งก๊าซและน้ำมันได้

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ประธานาธิบดีปูตินจึงได้ประกาศสภาวะฉุกเฉิน เพื่อที่จะระดมภาครัฐและภาคประชาชนช่วยกันจัดการพื้นที่ประสบปัญหาน้ำมันรั่วไหลครั้งใหญ่ในครั้งนี้ และสั่งให้เจ้าหน้าที่สืบสวนของรัสเซียเข้าทำการตรวจการทำงานของโรงงาน พร้อมสั่งพักงานผู้จัดการสาขาเป็นที่เรียบร้อย โดย

อุปสรรคและปัญหาสำคัญของการรับมือวิกฤตครั้งใหม่นี้อยู่ตรงที่น้ำมันดีเซลนั้นเบากว่าน้ำมันดิบประเภทอื่น ๆ ดังนั้น แม้น้ำมันดีเซลจะไม่จมลงไปในน้ำ แต่การระเหยของน้ำมันประเภทนี้จะส่งผลร้ายต่อสิ่งแวดล้อมและกำจัดให้หมดไปได้ยากกว่า

แม่น้ำ Ambarnaya ถูกย้อมจนเป็นสีแดงเป็นแนวยาวกว่า 12 กิโลเมตร และได้สร้างความเสียหายและมลพิษเป็นวงกว้างกว่า 350 ตารางกิโลเมตร นอกจากนั้นแม่น้ำแห่งนี้ที่รับการรั่วไหลของน้ำมันรั่วครั้งนี้ไปแบบเต็ม ๆ มีลักษณะตื้นเขินเกินกว่าที่จะใช้เรือเข้าไปช่วยทำความสะอาด แถมยังอยู่ห่างไกลจากถนนหลัก ทำให้ ไม่มีถนนที่จะให้เจ้าหน้าที่เดินทางนำรถเข้าไปจัดการสถานการณ์นี้ได้สะดวก Dmitry Kobylkin รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม เสริมว่า การจัดการโดยการเผาเชื้อเพลิงอย่างที่หลายคนเสนอมานั่นถือว่ายังเสี่ยงเกินไป

https://www.instagram.com/p/CA-Fv1ljDzL/
https://www.instagram.com/p/CA-fixODe3s/

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส