ในที่สุด ยานสำรวจดาวอังคาร ‘เพอร์เซเวียแรนส์ (Perseverance)’ จากภารกิจ ‘มาร์ส 2020 (Mars 2020)’ ซึ่งเป็นรถสำรวจคันที่ใหญ่ที่สุดและทันสมัยที่สุดของนาซาที่ส่งไปยังดาวดวงอื่น ได้ลงจอดบนดาวอังคาร เป็นที่เรียบร้อย หลังการเดินทางรวม 203 วันในระยะทาง 293 ล้านไมล์ (472 ล้านกิโลเมตร) โดยมีประกาศยืนยันการทำทัชดาวน์หรือลงจอดสำเร็จจาก Jet Propulsion Laboratory (JPL)  ซึ่งเป็นห้องควบคุมภารกิจ เมื่อเวลาประมาณ 15:55 น. ของวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 ตามระบบ EST หรือ เวลาประมาณ 03.55 น. ของวันนี้ (19 กุมภาพันธ์ 2564) ตามเวลาประเทศไทย

สตีฟ ยูเช็ย์ก (Steve Jurczyk) ผู้ดูแลและประสานงานภารกิจนี้กล่าวว่า “การลงจอดครั้งนี้เป็นหนึ่งในช่วงเวลาสำคัญสำหรับนาซา สหรัฐอเมริกาและการสำรวจอวกาศทั่วโลก เรากำลังอยู่ในจุดเริ่มต้นของการค้นพบและเตรียมพร้อมสำหรับการเขียนตำราใหม่ ….ภารกิจ Mars 2020 Perseverance แสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณแห่งความพากเพียร (ตามความหมายของชื่อ Perseverance) แม้ในสถานการณ์ที่ท้าทายที่สุด ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และการสำรวจ ภารกิจนี้ยังแสดงให้เห็นถึงอุดมคติของมนุษย์ ที่ต้องการมุ่งมั่นสู่อนาคต และจะช่วยเตรียมความพร้อมให้แก่มนุษย์เดินทางสำรวจดาวอังคารต่อไป”

ความน่าทึ่งของภารกิจ

รถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์ มีน้ำหนักประมาณ  2,263 ปอนด์ (1,026 กิโลกรัม) ทั้งยังเปี่ยมไปด้วยนานาเทคโนโลยี ได้แก่ ระบบไฟฟ้าที่ให้กระแสไฟฟ้าและความร้อน ที่มีชื่อว่า Multi-Mission Radioisotope Thermoelectric Generator หรือ MMRTG ที่กระทรวงพลังงานของสหรัฐอเมริกา (DOE) มอบให้กับนาซาผ่านความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาระบบไฟฟ้าสำหรับการใช้งานในอวกาศ

ทั้งยังติดตั้งเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ใช้ในการสำรวจหลัก 7 ชนิด มีกล้องที่มากที่สุดที่เคยส่งไป และมีระบบแคชที่ซับซ้อน ระบบแรกส่งขึ้นไปในอวกาศด้วย (อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับอุปกรณ์สำรวจเพิ่มเติมได้ที่ เจาะลึกยาน Perseverance รถสำรวจ และ Ingenuity คอปเตอร์สำรวจดาวอังคารของนาซา!

“Perseverance เป็นหุ่นยนต์สำรวจที่ซับซ้อนที่สุดเท่าที่เราเคยทำมา นั่นก็เพื่อที่จะหาหลักฐานชิ้นใหญ่ที่สำคัญว่าเคยมีสิ่งมีชีวิตอยู่บนดาวอังคารหรือไม่” ลอรี กลาเซ (Lori Glaze) หัวหน้าแผนกวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ของนาซากล่าว

นักธรณีวิทยาและนักดาราศาสตร์วิทยาได้ทำการทดสอบรถสำรวจเป็นเวลาหลายสัปดาห์ เพื่อให้มั่นใจว่ามันพร้อมที่จะปฏิบัติภารกิจสำรวจตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ ในหลุมอุกกาบาตเจเซโร (Jezero Crater) บนดาวอังคารเป็นเวลา 2 ปี

ด้วยหน้าที่ตรวจสอบหิน ตะกอนของทะเลสาบโบราณ และดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำของหลุมอุกกาบาตเจเซโร เพื่อระบุลักษณะทางธรณีวิทยาของภูมิภาคและสภาพภูมิอากาศในอดีต รถสำรวจยังต้องค้นหาสัญญาณของสิ่งมีชีวิตของจุลินทรีย์ในสมัยโบราณ และนำตัวอย่างกลับมายังโลกเพื่อตรวจสอบโดยละเอียดในห้องแล็บ (อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับภารกิจเพิ่มเติมได้ที่ รวมนานาสาเหตุที่ไม่ควรพลาดชม ‘Perseverance ลงจอดบนดาวอังคาร’ เช้ามืด 19 กพ. นี้)

โทมัส เซอร์บุเชิน (Thomas Zurbuchen) ผู้ช่วยผู้ดูแลด้านวิทยาศาสตร์ของนาซากล่าวว่า

“เหตุการณ์ในวันนี้คือสิ่งที่น่าตื่นเต้น มันคืออีกก้าวของการนำข้อมูลสำคัญอย่างตัวอย่างในยุกแรกเริ่มบนดาวเคราะห์ดวงอื่นกลับมายังโลก และเป็นครั้งแรกที่เราจะนำตัวอย่างหินและดินกลับมาจากดาวอังคาร เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวอย่างเหล่านี้จะบอกอะไรแก่เรา แต่ที่แน่ ๆ สิ่งที่มันบอกนั้นเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และจะเป็นที่จดจำแน่นอน และมันอาจไขคำตอบด้วยว่า มีสิ่งมีชีวิตบนดาวอื่นนอกจากโลกหรือไม่” 

ปูทางสู่การเดินทางของมนุษย์ในอนาคต

ไมเคิล วัตคินส์ (Michael Watkins) ผู้อำนวยการศูนย์ JPL กล่าวอย่างตื่นเต้นว่า

“การลงจอดบนดาวอังคารเป็นงานที่ยากและท้าทายเสมอและเราภูมิใจที่ทำมันสำเร็จ ในครั้งนี้นอกจากมันจะช่วยสำรวจและค้นหาสัญญาณของสิ่งมีชีวิต นำตัวอย่างกลับมาตรวจสอบยังโลกแล้ว การพัฒนาเทคโนโลยีทั้งหลายเพื่อการณ์นี้ยังเป็นการกรุยทางและยกระดับภารกิจหุ่นยนต์สำรวจในอนาคต และนำไปสู่การเดินทางของมนุษย์ในอนาคตด้วย”

ในการสำรวจ อุปกรณ์ต่าง ๆ อาทิ Mars Entry, Descent, and Landing Instrumentation 2 (MEDLI2) จะเก็บข้อมูลของชั้นบรรยากาศดาวอังคาร และทำงานควบคู่กับระบบ Terrain-Relative Navigation เก็บข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต้องการเดินทางและลงจอดยานของมนุษย์ในอนาคต กล้องต่าง ๆ เช่น Mastcam-Z และ SuperCam จะช่วยให้รายละเอียดของภูมิทัศน์ กระทั่งข้อมูลเชิงลึกเช่นความแข็งของหินบนดาวอังคารด้วย

นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์ตรวจจับรังสี และอุปกรณ์ทันสมัยต่าง ๆ อีกหลายอย่าง รวมทั้งยังนำ Ingenuity Mars Helicopter ซึ่งเฮลิคอปเตอร์สำรวจดาวอังคาร เครื่องบินลำแรก ไปทดลองบินบนดาวอังคารด้วย

เพื่อเป็นการย้ำเตือนวันแห่งประวัติศาสตร์นี้ จอห์น แมคนามี (John McNamee) หัวงานทีมผู้ดูแลภารกิจ Mars 2020 Perseverance จากศูนย์ JPL ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “Perseverance เป็นมากกว่ายานสำรวจ มันยังเป็นผลงานที่เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจของทีมงาน และมนุษย์อีก 10.9 ล้านคนที่ลงชื่อร่วมกับเรา ทำให้พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจของเราด้วย ดังนั้นภารกิจนี้จึงเป็นเครื่องยืนยัน ตอกย้ำถึงผลพวงของความพยายาม ว่าในที่สุดเราก็ทำได้ถึงจุดนี้และเราจะก้าวต่อไป”

อ้างอิง

NASA

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส