SpaceX จะเร่งปล่อยดาวเทียมบรอดแบนด์ Starlink สู่วงโคจรระดับต่ำของโลก (LEO) เพิ่มอีก 60 ดวง ในภารกิจ v1.0 L25 ด้วยจรวด Falcon9 จาก Launch Complex 39A ที่ศูนย์อวกาศเคนเนดีรัฐฟลอริดาประเทศสหรัฐอเมริกาในวันอังคารที่ 4 พฤษภาคม เวลา 3:01 p.m. EDT (ในประเทศไทยวันพุธ เวลา 02:01 น.) หลังจากที่พึ่งปล่อยภารกิจ V1.0 L24 ไปเมื่อ 29 เมษายนผ่านไปแค่ 1 สัปดาห์เท่านั้น ซึ่งจะทำให้มีดาวเทียม Starlink อยู่ในวงโคจรรวมทั้งหมด 1,498 ดวง เข้าใกล้ 1,600 ดวงเพื่อให้บริการครอบคลุมทั่วโลก

ภารกิจนี้จรวด Falcon 9 จะใช้บูสเตอร์ B-1049 ที่เคยผ่านการบินมาแล้ว 8 ครั้ง (ครั้งนี้ใช้เป็นครั้งที่ 9) เป็นการนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างคุ้มค่ามาก โดยในเดือนธันวาคมได้ผ่านภารกิจ SXM-7 ส่งดาวเทียมให้บริการวิทยุกระจายเสียง, ภารกิจปล่อยดาวเทียม RADARSAT ในเดือนมิถุนายน, ภารกิจบินทดสอบ Crew Dragon ครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2019 และอีก 5 ภารกิจของการปล่อยดาวเทียม Starlink

เมื่อบูสเตอร์ขับเคลื่อนไปถึงระยะที่กำหนดแล้วจะแยกตัวออกจากจรวดท่อนที่สอง จากนั้นบูสเตอร์จะบินกลับมาลงจอดบนเรือโดรน Of Course I Still Love You ในมหาสมุทรแอตแลนติก ส่วนของ Fairing ที่ใช้สำหรับห่อหุ้มดาวเทียมเพื่อป้องกันผลกระทบจากแรงดันอากาศและความร้อนที่เสียดสีในชั้นบรรยากาศของโลก เมื่อทำการปล่อยดาวเทียมอยู่บนวงโคจรส่วนของ Fairing ก็จะแยกออกจากกันเป็น 2 ส่วน ซึ่งภารกิจนี้ครึ่งหนึ่งของ Fairing ได้ผ่านการใช้งานมาแล้ว 2 ครั้ง

SpaceX มีเป้าหมายที่จะให้บริการอินเทร์เน็ตความเร็วสูงผ่านดาวเทียม Starlink ให้ครอบคลุมทั่วโลกหลังจากที่ปล่อยดาวเทียมได้มากกว่า 1,600 ดวง ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากภารกิจ v1.0 L28 ในเดือนพฤษภาคมนี้

27 เมษายน คณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารของสหรัฐฯ (FCC) ได้อนุมัติให้ SpaceX สามารถปล่อยดาวเทียม Starlink อยู่ในวงโคจรที่ต่ำกว่าเดิมจากระดับความสูง 1,110 – 1,325 กม. (ที่ได้อนุมัติไว้ตอนแรกในปี 2018 จำนวน 4,425 ดวง) เป็น 540 – 570 กม. ช่วยให้ดาวเทียมชุดต่อไป 2,814 ดวงใช้ระดับที่ 540 – 570 กม. หลังจากที่ SpaceX จะปล่อยดาวเทียมชุดแรกได้ 1,584 ดวงที่ระดับ 550 กม. ในอีกไม่กี่เดือน

สรุปง่าย ๆ ว่าตอนนี้ SpaceX ได้รับความชัดเจนที่จะปล่อยดาวเทียมชุดหลังที่ระดับใหม่ 540 กม. ซึ่งเชื่อว่าจะมีการอัปเดตตารางการปล่อยดาวเทียม Starlink ที่บ่อยขึ้นเพื่อให้ครบ 4,425 ดวงตามที่ขออนุญาตไว้ในปี 2018 และมุ่งสู่เป้าหมายให้บริการบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียม 42,000 ดวงที่ีครอบคลุมทั่วทั้งโลกในอนาคต

ที่มา : spacex

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส