สืบเนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และความเฟื่องฟูของวงการสตรีมมิงทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ถูกพลิกโฉมไปอย่างสิ้นเชิง แต่มันก็นำมาซึ่งปัญหาจากการเร่งผลิตคอนเทนต์มาเสิร์ฟป้อนบริการสตรีมมิงต่าง ๆ จนนำไปสู่ปัญหาความไม่เป็นธรรมต่อทีมงานในกองถ่ายภาพยนตร์จนทำให้เกิดเหตุการณ์สุดตึงเครียดมาตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมระหว่าง เครือข่ายพันธมิตรผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ (Alliance of Motion Picture and Television Producers) หรือ AMPTP กับเครือข่ายพันธมิตรลูกจ้างกองถ่ายภาพยนตร์นานาชาติ (International Alliance of Theatrical Stage Employees) หรือ IATSE ซึ่งเป็นฝ่ายยื่นข้อเรียกร้อง Beartai Buzz รวบตึงสรุปเหตุการณ์การเรียกร้องในครั้งนี้มาให้แล้ว

รู้จักกับ  IATSE ผู้นำการประท้วง

Beartai Buzz ทีมงานกองถ่ายเจรจาข้อตกลงกับโปรดิวเซอร์ฮอลลีวูดสำเร็จ

เครือข่ายพันธมิตรลูกจ้างกองถ่ายภาพยนตร์นานาชาติ (International Alliance of Theatrical Stage Employees) หรือ IATSE จัดตั้งเมื่อปี 1893 โดยเป็นสหภาพที่รวมคนทำงานในกองถ่ายทั่วไปเช่น ช่างแต่งหน้า ช่างไฟ คีย์กริป เป็นต้น โดยปัจจุบันมีสมาชิกถึง 150,000 คนซึ่งการมีสหภาพของคนทำงานกองถ่ายจะทำให้เกิดการต่อรองผลประโยชน์และดูแลคุณภาพชีิวิตของคนกอง รวมไปถึงการเป็นตัวแทนต่อรองเพื่อรักษาผลประโยชน์และเรียกร้องความเป็นธรรมให้สมาชิกโดยที่ผ่านมาทาง IATSE เคยประท้วงหยุดงาน 1 ครั้งในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้ทีมงานกองถ่ายภาพยนตร์ โดยปัจจุบันมีนาย แมตต์ โลบ (Matt Loeb) ดำรงตำแหน่งประธานของสหภาพ

รู้จักกับ AMPTP เครือข่ายผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์

Beartai Buzz ทีมงานกองถ่ายเจรจาข้อตกลงกับโปรดิวเซอร์ฮอลลีวูดสำเร็จ

เครือข่ายพันธมิตรผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ (Alliance of Motion Picture and Television Producers) ก่อตั้งในปี 1924 เป็นการรวมกลุ่มของตัวแทนโปรดิวเซอร์ถึง 350 คนเพื่อทำหน้าที่ต่อรองกับคนทำงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ในปัจจุบันมีนางแครอล ลอมบาร์ดินี (Carol Lombardini) ดำรงตำแหน่งประธานสหภาพ

เครือข่ายสตรีมมิงกับปัญหาสวัสดิภาพแรงงาน

กว่าที่เราจะได้เลือกชมคอนเทนต์ภาพยนตร์และซีรีส์อย่างสบายใจเบื้องหลังคือการทำงานของแรงงานตั้งแต่ระดับหัวแถวไปจนถึงปลายแถว และด้วยความที่เครือข่ายสตรีมมิงไม่ว่าจะเป็นเน็ตฟลิกซ์ ดิสนีย์พลัส หรือแอปเปิ้ลทีวีพลัสต่างได้รับการระบุในฐานะสื่อใหม่ (New Media) เลยทำให้ค่าตอบแทนสำหรับทีมงานใต้เส้น (Below-the -line workers) ไม่ได้มีมาตรฐานในการจ่ายค่าแรงเหมือนภาพยนตร์ฉายโรงใหญ่ด้วยข้ออ้างในอดีตว่าตัวเองยังไม่ใช่ฮอลลีวูด แต่ในเมื่อทุกวันนี้เครือข่ายสตรีมมิงมีอำนาจไม่ต่างจากฮอลลีวูดดังนั้นการกำหนดค่าแรงและสวัสดิภาพการทำงานก็ควรเป็นมาตรฐานเดียวกัน

ยิ่งไปกว่านั้นจากการเปิดเผยของ แมทต์ โลบ (Matt Loeb) ประธาน IATSE ยังกล่าวว่าผลกระทบจากช่วงวิกฤติโรคระบาดโควิด 19 ทำให้หลังภาวะผ่อนคลายแรงงานกองถ่ายต้องทำงานกันกว่า 70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เป็นเวลาร่วม 8 เดือนส่งผลกระทบต่อร่างกายและสวัสดิภาพชีวิตคนทำงานทุกภาคส่วน

ข้อเรียกร้องของ IATSE ที่เรียกร้องสำเร็จ

โดยสาเหตุหลัก ๆ ที่ต้องออกมาประท้วงในครั้งนัี้ก็สืบเนื่องจากความไม่เป็นธรรมทั้งชั่วโมงการทำงานที่เกินลิมิตจนทำให้ทีมงานไม่ได้พักผ่อนรวมไปถึงค่าจ้างที่ได้จากการทำงานในภาพยนตร์สตรีมมิงที่ไม่เป็นธรรมซึ่งที่ผ่านมาในวันที่ 4 ตุลาคมทางสมาชิกของ IATSE ก็ลงคะแนนโหวตว่าหากทาง AMPTP ไม่ยอมรับข้อเรียกร้องจะมีการนัดหยุดงานของสมาชิกทั้งหมดในวันจันทร์ที่ 18 ตุลาคมนี้ซึ่งก็ถือว่าโชคดีที่ทางฝ่ายหลังยอมรับข้อเสนอและตกลงในกรณีข้อเรียกร้องขั้นพื้นฐานเพื่อลดความตึงเครียดและเพื่อให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ยังเดินหน้าต่อไปได้จึงเกิดข้อตกลงที่จะกลายเป็นสัญญาระยะ 3 ปีต่อไป ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญดังนี้

  • ปรับขึ้นค่าแรง
  • ปรับปรุงสภาวะการทำงานและค่าแรงในโปรดักชันของหนังสตรีมมิง โดยมีเนื้อหาสำคัญคือการปรับค่าแรงให้แก่ทีมงานใต้เส้นและการกำหนดชั่วโมงการทำงานให้เป็นธรรมดังที่กล่าวไป
  • เว้นระยะห่าง 10 ชั่วโมงระหว่างคิวถ่ายทำ ซึ่งโดยปกติแล้วการถ่ายทำภาพยนตร์จะมีการกำหนดคิว (Shift) ในการถ่ายทำซึ่ง 1 คิวจะเท่ากับ 12 ชั่วโมง แต่ผลกระทบจากการที่จะต้องเร่งดำเนินการถ่ายทำคอนเทนต์ภาพยนตร์ลงสตรีมมิงในช่วงเวลาที่ผ่านมาทำให้ทีมงานถูกลากยาวคิวการทำงานไปถึง 17 ชั่วโมงทำให้สวัสดิภาพด้านร่างกายของทีมงานลดลงและเคยมีทีมงานประสบอุบัติเหตุจากการพักผ่อนไม่เพียงพอมาแล้ว ดังนั้นการกำหนดให้มีช่องว่าง 10 ชั่วโมงระหว่างคิวการถ่ายทำจะทำให้ทีมงานมีเวลาในการนอนหลับพักผ่อนได้เพียงพอเพื่อประสิทธิภาพการทำงานอีกด้วย
  • ทางนายจ้างจะดูแลสวัสดิการตลอดการทำงาน
  • เพิ่มบทลงโทษสำหรับกองถ่ายที่ไม่จัดเตรียมอาหารให้ทีมงานหรือเตรียมให้ไม่เพียงพอและไม่เป็นธรรม
  • กำหนดวันหยุดพักผ่อนช่วงสุดสัปดาห์ให้ไม่น้อยกว่า 32 ชั่วโมงหรือเต็มที่ 54 ชั่วโมงต่อครั้ง
  • ขยายวันลาป่วยสำหรับทีมงานทั่วประเทศ
  • ลดชั่วโมงการทำงานสำหรับทีมงานที่ตั้งครรภ์
  • กำหนดให้วันมาร์ติน ลูเธอร์ คิง (Martin Luther King’s day) เป็นวันหยุดสำหรับกองถ่าย สำหรับข้อเรียกร้องนี้ถือเป็นชัยชนะที่ทำให้เห็นถึงความสำคัญในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของคนผิวดำในอเมริกาซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นแรงงานและทีมงานในกองถ่ายภาพยนตร์ด้วย
  • ทีมงานได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและยอมรับในความหลากหลาย ซึ่งตรงนี้นอกจากเรื่องที่ทีมงานในทุกเชื้อชาติ สีผิวและทุกเพศสภาพจะได้รับการปฏิบัติจากนายจ้างอย่างเป็นธรรมแล้ว ยังมีข้อเรียกร้องที่ดีมาก ๆ คือการจัดสวัสดิการกองทุนสุขภาพและแผนเงินบำนาญแก่สมาชิกที่เกษียณไปแล้ว
  • แต่ที่ยังอยู่ในระหว่างต่อรองคือการขึ้นค่าแรง 3% ต่อปีซึ่งทาง AMPTP ยังขอต่อรองให้ขึ้นค่าแรงปีแรก 3% แล้วปรับเป็น 2.5% ต่อไปในปีถัดไป

ซึ่งหลังจากนี้จะมีการร่างสัญญาฉบับสมบูรณ์ต่อไป โดยยังมีรายละเอียดของข้อเรียกร้องหลายประการที่ยังต้องเจรจาหาข้อตกลงกันอยู่

ย้อนมองแรงงานกองถ่ายเมืองไทย

อ้างอิงจากวิทยานิพนธ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหัวข้อ การสำรวจปัญหาและพัฒนานโยบายเพื่อส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย จัดทำโดยนายณัฐนันท์ เทียมเมฆ มีการนำเสนอปัญหามากมายในกองถ่ายทำภาพยนตร์ไทยทั้งปัญหาชนชั้นในกองถ่ายและสวัสดิการของคนกอง ซึ่งในณัฐนันท์ก็ระบุเช่นกันว่าการจะพัฒนาคุณภาพชีิวิตแรงงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยอย่างแรกเลยคือการต้องจัดตั้งสหภาพเหมือนในต่างประเทศซึ่งก็ไม่ต่างจาก IATSE ที่เรานำเสนอไป

เพราะจะเป็นตัวแทนที่มีอำนาจต่อรองเรียกร้องความเป็นธรรมในการทำงานกับนายทุนต่าง ๆ ให้คนกอง อันจะนำไปสู่การจัดสวัสดิการให้คนกองในการดูแลด้านร่างกายและจิตใจต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาแรงงานกองถ่ายในไทยเองก็ยังประสบปัญหาต่าง ๆ แทบไม่ต่างจากประเทศสหรัฐอเมริกา เราคงต้องจับตาว่านโยบายที่อยากจะใช้ซอฟต์เพาเวอร์ของรัฐบาลไทยในการสร้างรายได้ให้เหมือนประเทศเกาหลีจะนำไปสู่การดูสวัสดิภาพในชีวิตของคนทำงานหรือไม่

อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส