28 เมษายน ไดฮัตสุ (Daihatsu) บริษัทย่อยของโตโยต้า (Toyota) ออกมายอมรับว่าได้กระทำผิดในการขออนุมัติการทดสอบการชนด้านข้างของรถยนต์ 4 รุ่น ที่พัฒนาโดยไดฮัตสุสําหรับตลาดต่างประเทศ ซึ่งรุ่นที่มีปัญหาหลัก ๆ ได้แก่ Toyota Yaris ATIV ที่จำหน่ายในไทย กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับและเม็กซิโก และ Perodua Axia ที่จำหน่ายในมาเลเซีย ซึ่งผ่านขั้นตอนการทดสอบที่ไม่ถูกต้องรวมทั้งหมด 88,123 คัน ซึ่งถ้านับเฉพาะรถที่จำหน่ายในไทยก็จะมีรถที่เกี่ยวข้อง 36,890 คัน และขออภัยอย่างสุดซึ้งสำหรับการทรยศต่อความไว้วางใจของลูกค้า

ไดฮัตสุเผยได้สอบสวนการกระทำผิดโดยการสัมภาษณ์แผนกที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้อง การตรวจสอบรถยนต์ และประวัติการพัฒนา ซึ่งพบว่าในประวัติมีการเปลี่ยนแปลงการออกแบบและผลการทดสอบในกระบวนการพัฒนา

บริษัทยืนยันว่าในการทดสอบการชนด้านข้างของรถยนต์ 4 รุ่น พบว่า “บุด้านในของประตูที่นั่งด้านหน้ามีการปรับเปลี่ยนอย่างไม่ถูกต้อง (ดูได้จากคลิปด้านล่าง) และมีการละเมิดขั้นตอนและวิธีการทดสอบการชนด้านข้างตามข้อกำหนด” สรุปง่าย ๆ คือมีการปรับเปลี่ยนบุที่ประตูของรถยนต์ที่ใช้ทดสอบเพื่อให้ผ่านการอนุมัติ แต่จะไม่มีในรถยนต์ส่วนใหญ่ที่ขายออกไป

รถยนต์ 4 รุ่น ที่มีการกระทำผิดในการขออนุมัติการทดสอบการชนด้านข้าง รวม 88,123 คัน ได้แก่

  • Toyota Yaris ATIV ผลิตในไทย / มาเลเซีย เริ่มผลิตตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2022 และมีจำหน่ายในไทย กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับและเม็กซิโก ฯลฯ ซึ่งได้จำหน่ายไปแล้ว 76,289 คัน
  • Perodua Axia ผลิตในมาเลเซีย เริ่มผลิตตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2023 และมีจำหน่ายในมาเลเซีย ซึ่งได้จำหน่ายไปแล้ว 11,834 คัน
  • Toyota Agya มีแผนที่จะผลิตในเดือนมิถุนายน 2023 ผลิตในอินโดนีเซีย และจำหน่ายในเอกวาดอร์
  • หนึ่งรุ่นที่อยู่ในการพัฒนา ไม่ขอบอกรายละเอียดในตอนนี้

รถยนต์เหล่านี้ ไดฮัตสุมีหน้าที่รับผิดชอบกระบวนการทั้งหมดตั้งแต่การพัฒนา การทดสอบเพื่อขอใบรับรองที่จำเป็น ส่วนโตโยต้าจะทำในเรื่องยื่นขอใบอนุญาตประเภทรถยนต์จากหน่วยงานรัฐ เมื่อผ่านแล้วก็จะจำหน่ายภายใต้แบรนด์ของโตโยต้า

ไดฮัตสุเสนอแนวทางแก้ไขว่าได้ระงับการขนส่งรถยนต์ไปยังประเทศต่าง ๆ ที่ได้รับการอนุญาต จากนั้นจะทดสอบซ้ำภายในบริษัทแล้วทดสอบอีกครั้งต่อหน้าหน่วยงานตรวจสอบและออกใบรับรอง เมื่อผ่านการรับรองก็จะดำเนินการจัดส่งรถยนต์ต่อไป

สุดท้ายบริษัทจะตั้งคณะกรรมการจากภายนอกเข้ามาวิเคราะห์สาเหตุ และหามาตรการป้องกันเพื่อไม่ให้ปัญหาเหล่านี้เกิดซ้ำอีก

คำชี้แจงจากโตโยต้าประเทศไทย

ทางด้าน Toyota Motor Thailand ได้ออกคำชี้แจงโดยระบุว่า

  • สำหรับรถในรุ่นปัจจุบันที่ขายในไทย ยังไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินการแก้ไข บริษัทยืนยันว่าลูกค้าสามารถใช้รถได้ต่อไป
  • งานแถลงข่าวเมื่อวันที่ 28 เมษายน โตโยต้าการมีการทดสอบการชนต่อหน้าหน่วยงานที่จัดการทดสอบอีกครั้ง ซึ่งได้รับการอนุมัติว่าเป็นไปตามข้อกำหนดการทดสอบการชนด้านข้าง UN-R95 แล้ว
  • แต่สำหรับไทย จำเป็นต้องตรวจสอบซ้ำในประเทศญี่ปุ่นตามข้อกำหนดการทดสอบพยาน (witness testing) จึงมีความจำเป็นต้องหยุดจัดส่งและจำหน่ายชั่วคราว หลังจากนี้ บริษัทจะทำการเร่งจัดส่งรถให้เร็วที่สุด ภายใต้คำแนะนำและการตรวจสอบอนุมัติโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  • บริษัทฯ ขออภัยเป็นอย่างสูงต่อลูกค้าและผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ที่ให้ความไว้วางใจในแบรนด์โตโยต้า

ที่มา : daihatsu.com

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส