ทิศทางของรถไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าล้วน ไฮบริดหรือปลั๊ก-อิน ไฮบริด เริ่มเห็นชัดในหลายประเทศที่ออกนโยบายปรับเปลี่ยนการใช้งานรถยนต์ไปเป็นรถไฟฟ้าทั้งหมดภายในเวลา 5-10 ปีข้างหน้า การมองหารถไฟฟ้าไว้ใช้งานจึงเป็นเทรนด์ใหม่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่คนส่วนใหญ่มักจะมองหารถที่มี ‘ราคา’ และ ‘การใช้งาน’ ตอบโจทย์และทำให้ผู้ใช้รู้สึกคุ้มค่าที่สุด แต่สำหรับใครที่ยังไม่กล้ายื่นขาไปหารถไฟฟ้าเต็มตัว เราขอแนะนำรถปลั๊ก-อิน ไฮบริด ที่ใช้เครื่องยนต์ควบคู่กับพลังงานไฟฟ้า มาพิสูจน์กันว่า ‘คุ้มค่า’ กว่ารถยนต์จริงไหม?

ชาร์จไฟคุ้มค่ากว่าน้ำมันจริงไหม?

ปัจจุบันมีให้เลือกทั้งรถที่เป็นไฟฟ้าล้วนๆ ไฮบริด รวมถึงปลั๊ก-อิน ไฮบริด (PHEV) ที่เหมาะกับช่วงเปลี่ยนผ่านจากเครื่องยนต์ไปสู่ระบบไฟฟ้าเต็มตัว สามารถใช้งานไปกลับที่ทำงานโดยแทบจะไม่ต้องเติมน้ำมันเลยด้วยซ้ำ ก่อนอื่นการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ามีอยู่ด้วยกัน 3 แบบ ได้แก่ การชาร์จแบบธรรมดา (Normal Charge) มาจากเต้ารับโดยตรง ใช้เวลาชาร์จประมาณ 12-16 ชั่วโมง การชาร์จแบบรวดเร็ว (Double Speed Charge) หรือเครื่องชาร์จ EV Charger ตู้ชาร์จไฟฟ้ากระแสสลับ (AC Charging) ใช้เวลาชาร์จประมาณ 6-8 ชั่วโมง และการชาร์จแบบด่วน (Quick Charge) เป็นการชาร์จไฟฟ้ากระแสตรง (DC Charging) นิยมใช้ตามสถานีบริการนอกบ้าน ใช้เวลาประมาณ 40-60 นาที 

สำหรับรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด ที่สามารถทั้งชาร์จไฟฟ้าและเติมน้ำมันได้ อาจจะใช้เวลาในการชาร์จแตกต่างกัน อย่าง Mitsubishi Outlander PHEV ใช้เวลาชาร์จแบบปกติเพียง 4 ชั่วโมงก็ได้แบตเต็ม 100% และยังมี Quick Charging ที่ใช้เวลาเพียง 25 นาทีเท่านั้น สามารถเก็บพลังงานไฟฟ้าไปใช้งานได้ถึง 80% เลยทีเดียว เรียกได้ว่าอุ่นใจเรื่องเวลาในการชาร์จไปได้ระดับหนึ่ง

เทคนิคเลือกเครื่องชาร์จ EV Charger 

รถไฟฟ้าแต่ละรุ่นมีความสามารถในการรับไฟไม่เท่ากัน ตั้งแต่ 3.6 – 22kW เช่นเดียวกับเครื่องชาร์จก็มีให้เลือกถึง 4 ขนาด คือ 3.7 kW, 7.4 kW, 11 kW และ 22 kW การเลือกเครื่องชาร์จจึงขึ้นอยู่กับ ‘ความสามารถรับไฟ’ ‘ขนาดแบตเตอรี่’ และ ‘ขนาดเครื่องชาร์จ’ ให้สัมพันธ์กัน เช่น รถไฟฟ้ามีแบตเตอรี่ขนาด 40 kW รับไฟสูงสุด 6.6 kW/h ใช้เวลาชาร์จประมาณ 6 ชั่วโมง ดังนั้นเครื่องชาร์จที่เหมาะสมคือ 7.4 kW เนื่องจากถ้าขนาดเครื่องชาร์จจ่ายไฟน้อยกว่านี้ส่งผลให้ชาร์จได้ช้าลง ในขณะที่หากเครื่องชาร์จจ่ายไฟมากขึ้นก็ต้องลดกำลังไฟให้ลงมาเพียงพอกับความสามารถในการรับไฟของตัวรถอยู่ดี ทั้งนี้เครื่องชาร์จและตัวรถไม่ควรห่างกันเกิน 5 เมตร เพราะสายเครื่องชาร์จ EV Charger มีความยาวประมาณ 5-7 เมตรเท่านั้น และควรตั้งอยู่ในร่มเสมอ

จุดชาร์จมีที่ไหนบ้าง?

ปัจจุบันมีแอปพลิเคชันระบุตำแหน่งสถานีชาร์จไฟฟ้าหลายแอปฯ เช่น การไฟฟ้านครหลวงทำแอปพลิเคชันชื่อ MEA EV ที่ใช้ระบุตำแหน่งสถานีชาร์จรถไฟฟ้าทั่วประเทศไทย ถึงแม้ตอนนี้ยังไม่ครอบคลุมทุกจังหวัด แต่ก็เพียงพอสำหรับการใช้งานในเมืองหลวง นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือจาก  

– ปั๊มน้ำมันปตท. และบางจาก มีสถานีให้บริการเฉพาะกรุงเทพและปริมณฑล 
– ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล มีจุดให้บริการ 24 จุด
– การไฟฟ้านครหลวง (MEA) ปัจจุบันมีสถานีชาร์จไฟฟ้าทั้งหมด 10 สาขา 
– การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (EGAT) มีสถานีชาร์จไฟฟ้าทั้งหมด 23 จุด ภายใน 8 จังหวัด นนทบุรี, ฉะเชิงเทรา, นครราชสีมา, อยุธยา, ขอนแก่น, อุบลราชธานี, สงขลา และลำปาง 
– การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) มีสถานีชาร์จไฟฟ้ามากที่สุด กระจายทั่วประเทศไทย ทั้งหมด 263 สถานี ครอบคลุมพื้นที่ 75 จังหวัด

สรุปข้อดี/ข้อเสีย PHEV

รถปลั๊ก-อิน ไฮบริด มีข้อดีตรงที่ใช้พลังงานไฟฟ้า แต่ยังคงเติมน้ำมันได้ รวมถึงโหมดขับขี่ที่สามารถนำน้ำมันมาเปลี่ยนเป็นไฟฟ้าได้ด้วย จึงเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์สำหรับคนที่ยังกังวลเรื่องสถานีไฟฟ้าที่ยังไม่ครอบคลุมทุกจังหวัด และหากมองในระยะยาวรถปลั๊ก-อิน ไฮบริดหรือรถไฟฟ้าย่อมคุ้มค่ามากกว่ามากกว่ารถที่ใช้น้ำมัน ทั้งค่าซ่อมบำรุงน้อยกว่า หรือการคำนวณรายจ่ายจากค่าไฟก็แม่นยำกว่า ที่สำคัญการรับประกันของแบตเตอรี่ก็เพียงพอสำหรับการใช้งานรถ 1 คัน ครบประกันแล้วค่อยเปลี่ยนคันก็สิ้นเรื่อง

ข้อดีข้อเสีย
– รถปลั๊ก-อิน ไฮบริดประหยัดค่าใช้จ่ายและค่าบำรุงรักษาในระยะยาว 
– รถปลั๊ก-อิน ไฮบริด สามารถเดินทางได้ด้วยพลังงานไฟฟ้า100% 
– สามารถเติมน้ำมันได้และมีโหมดใช้น้ำมันมาปั่นไปเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ หมดกังวลเรื่องไฟฟ้าหมดกลางทาง
– ต้นทุนสูงกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันเพียวๆ 
– สถานีให้บริการยังน้อย แต่เพียงพอสำหรับกรุงเทพฯ และปริมณฑล
– ระยะเวลาในการชาร์จยังกินเวลานานเทียบกับการเติมน้ำมัน

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส