หลังเจ้าสัวธนินท์ CP ประกาศ 5 สัปดาห์สร้างโรงงาน 100 ล้าน ผลิตหน้ากากอนามัย “แจกฟรี” เมือจบช่วงเวลาวิกฤต Covid-19 ก็จะยกให้ รพ.จุฬาฯ ดังนั้นเหล่ามดงานก็เริ่มภารกิจเพื่อชาติทันที ตลอดทั้งเช้าค่ำ จนสัปดาห์ที่สอง เรียกได้ว่าเห็นคืบหน้าไปอย่างมาก สำหรับการก่อสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยฟรี CP Mask เพื่อคนไทย

 

ซึ่งข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 19 มีนาคม ที่ผ่านมา งานก่อสร้างโรงงานหน้ากากอนามัย คืบหน้าไปอย่างรวดเร็ว เพราะการวางแผนทางวิศวกรรมอย่างมีระบบ งานหลาย ๆ อย่างเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง จากพื้นที่โล่ง ๆ ตอนนี้เราเริ่มได้เห็นหน้าตาของ Corridor ที่งานโครงสร้างและงานพื้นปูพื้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมกับติดตั้งผนังกั้นห้องและฝ้าเพดาน เพื่อจัดทำห้อง Clean Room และยังมีงานอื่น ๆ อาทิ งานโครงสร้างภายในของลิฟต์โดยสาร, งานรื้อถอนเดิมยังคงมีอยู่, เพื่อติดตั้งหน้าต่างรูปแบบใหม่ งานติดตั้งระบบรางไฟฟ้า พร้อมงานผลิต Pipe bridge สำหรับเดินสายไฟข้ามถนน เป็นต้น

งานนี้ก็ต้องขอชื่นชมทีมงานทุกคนที่มากันด้วยใจ ในระหว่างที่ส่วนของโรงงานได้เดินหน้าไปนั้น ส่วนของฝ่ายไอที ก็ต้องทำงานคู่ขนาน ภายใต้โจทย์ที่ว่า ทุกข้้นตอนต้องโปร่งใส โดยได้มีการออกแบบระบบตรวจนับหน้ากาก หลังจากผ่านเครื่องตรวจสอบคุณภาพ เพื่อให้รู้จำนวนที่ผลิตได้แบบเรียลไทม์ และการจัดเก็บสต้อคว่า ผลิตแล้วเสร็จกี่อัน คงเหลือในสต้อคกี่อัน เพื่อรองรับการออกแบบระบบแจกจ่ายที่จะต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งจะใช้เวลาเขียนซอฟต์แวร์ ประมาณ 3 สัปดาห์ ซึ่งจะเสร็จทันส่วนของเครื่องจักรพอดี ถือเป็นความท้าทายอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งต้องมีการผนึกกำลังจากกลุ่มทรู แอสเซนต์กรุ๊ป ในการนำผู้เชี่ยวชาญด้านไอที มาสุมหัว ผนึกกำลังกัน ในขณะที่กลุ่มทรูประกาศ Work at home ทำงานที่บ้านกันกว่า 80% แล้ว ทำให้การเขียนซอฟต์แวร์ครั้งนี้ ทำกันจากคนละที่ผ่านระบบ วิดีโอทางไกล ทำให้เป็นความท้าทายอีกอย่างหนี่ง ว่าจะเขียนโปรแกรมกันได้ทันหรือไม่

ส่วนเล็ก ๆ แต่สำคัญมาก นั่นคือลวดที่ใช้หนีบจมูก ไม่ให้เกิดช่อง เวลาสวมให้คลุมทั้งจมูกและปาก ขอบที่มีลวดอยู่ด้านบนสันจมูกและรอยจีบพับคว่ำลง ใช้แล้วทิ้ง หากใครสั่งซื้อหน้ากากอนามัยต้องดูส่วนนี้ให้ดี เพราะหากเลือกวัสดุมาทำส่วนหนีบจมูกไม่ดี เวลาใส่จะไม่แนบสนิท ซึ่งซีพี ได้ศึกษาวัสดุทางเลือกหลายชนิด เพื่อให้กดแนบจมูกได้สนิท ไม่มีอากาศเล็ดลอด ซึ่งได้ทดสอบ และสั่งซื้อลวดที่ใช้ในส่วนหนีบจมูกไว้แล้ว ทั้งนี้ รศ.ศิริเดช บุญแสง คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สจล. กล่าวว่า ซีพีเลือกใช้ลวด ที่มีตัวล้อคหัวท้าย เพื่อป้องกันไม่ให้แกนเหล็กเลื่อนไปมา ป้องกันอันตรายจากผู้ใช้งาน โดยระบบจะตรวจสอบอัตโนมัติว่า ลวดอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องหรือไม่ จะเห็นได้ว่าแม้เรื่องเล็ก ๆ ก็สำคัญ

ซึ่งล่าสุด ซีพีได้เข้าไปขอความรู้ และวางแผนร่วมสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในการใช้ AI ตรวจสอบคุณภาพการผลิตหน้ากากอนามัย เรียกว่ารีบเร่งทำงานกันเต็มที่ อัปเดตกันทุกระยะ เพื่อให้แน่ใจว่าโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยแจกฟรีเพื่อประชาชน จะเสร็จสมบูรณ์ สะอาด มีคุณภาพ พร้อมเปิดทำการได้ตามกำหนด จึงต้องเอาใจช่วยซีพีกันเต็มที่เพื่อคนไทยทุกคน

 

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส