หลังจากทีมอาสาพัฒนาแอป “หมอชนะ” มีการส่งมอบแอปให้ภาครัฐดูเต็มรูปแบบแล้ว ก็เกิดคำถามหลาย ๆ คำถามจากประชาชน ว่าแล้วนักพัฒนาแอปจะมีท่าทีอย่างไรต่อไปหลังจากส่งมอบแอปให้รัฐบาลแล้ว และคำถามยอดฮิตว่าทำไมแอป “หมอชนะ” จึงมีขึ้นแต่สีเขียวที่แสดงถึงความเป็นผู้ไม่มีความเสี่ยงและปลอดภัยจริงหรือไม่ วันนี้มาไขข้อสงสัยกัน

ทางทีมอาสาพัฒนาแอป “หมอชนะ” ในนาม Code for Public ออกแถลงเพิ่มเติมผ่านเพจ Facebook ว่ายังคงพัฒนาตัวแอปพลิเคชันต่อไปเรื่อย ๆ ใน Repositories ใหม่ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวพันกับของแอปที่ส่งต่อไปแล้ว บน Open Source ในชื่อเรียกใหม่ว่า SQUID หรือชื่อเต็ม ๆ ว่า “Secure & QUick IDentification” โดยคราวนี้นักพัฒนาก็ได้แจ้งว่าจะนำฟีเจอร์ที่พัฒนาแยกออกมาไปรวมกับแอปหลักของ “หมอชนะ” เดิม หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับทางภาครัฐ

แต่อย่างไรก็ตามก่อนการส่งมอบแอปพลิเคชันดังกล่าว ทีมนักพัฒนาเดิมได้มีการแก้ไขบั๊กที่หลาย ๆ คนอาจจะพบเจอ เช่น กินทรัพยากรมากเกินไป เสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งขึ้นอยู่กับทางภาครัฐในการพิจารณานำขึ้น Store เช่นกัน

นอกจากนี้ทางสำนักงานรัฐบาลดิจิทัล หรือ DGA วันนี้ได้ออกแถลงการณ์ถึงประเด็นต่าง ๆ ที่ประชาชนอาจตั้งคำถามกับแอป “หมอชนะ” นี้ เช่น การคุ้มครองข้อมูลส่วนตัว และประเด็นร้อนเรื่องสีแท็กในแอปนั้น ทำไมถึงมีแต่สีเขียว และนั่นหมายถึง “ไม่มีความเสี่ยงติดเชื้อ” หรือ “ปลอดภัย” จริง ๆ หรือไม่

คุ้มครองสิทธิของประชาชน

DGA ได้มีการยืนยันว่าจะไม่มีการดำเนินการใด ๆ ที่เป็นอันละเมิดต่อสิทธิของประชาชน โดยจะสังเกตว่าแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” นี้จะไม่มีการเก็บข้อมูลใด ๆ ที่สามารถระบุตัวตนของผู้ใช้ได้ (ในส่วนของรูปภาพที่ถ่ายไว้ในขั้นตอนลงทะเบียนจะถูกเก็บไว้ในอุปกรณ์ของผู้ใช้เท่านั้น) รวมถึงได้ปิดใช้งานฟีเจอร์ยืนยันตัวด้วยเบอร์โทรศัพท์ที่มีการใช้งานก่อนหน้านี้ พร้อมลบข้อมูลทั้งหมด ตามที่ทางทีม Code for Public ได้แถลงไปแล้ว

สี “เขียว” ปลอดภัยจริงมั้ย??

ในส่วนของแท็กสีที่เป็นสีเขียวถึงแม้จะเข้าหรือผ่านจุดเสี่ยงก็ยังคงเป็นสีเขียวอยู่ ทาง DGA ได้อธิบายว่าเหตุผลที่เป็นเช่นนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดในการแสดงสีซึ่งอาจเป็นผลทำให้ประชาชนตื่นตระหนกได้ จึงใช้เพียงฟีเจอร์ที่เป็นประโยชน์ต่อการสืบสวนโรคก่อนเพียงเท่านั้น

เช่นเดียวกันกับเพจ “หมอแล็บแพนด้า” ที่ได้รายงานออกมาว่า ในภายหลังมีหน่วยงานต่าง ๆ มีการขอให้แท็กสีในแอปทุกคนเป็นสีเขียว ในกรณีที่มีการติดเชื้อ หน่วยงานต่าง ๆ จะมีการสืบสวนเอง ไม่มีการเปลี่ยนสีของแท็กของผู้ที่เข้าใกล้หรือเป็นบุคคลที่อาจจะมีความเสี่ยง

แต่ทีนี้พอระยะหลังมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง ก็เริ่มมีหน่วยงานต่างๆเข้ามาขอแก้แอปให้ทุกคนเป็นสีเขียว ถ้ามีการติดเชื้อเดี๋ยวหน่วยงานจะสืบเองว่าใครบ้างที่เสี่ยงเป็นสีเหลือง สีส้ม กลายเป็นว่ามีแค่หน่วยงานที่รู้ว่าใครเสี่ยง แต่ประชาชนไม่รู้

เพจ “หมอแล็บแพนด้า” – 18 มกราคม 2564

นอกจากนี้ DGA ยังได้มีการให้เหตุผลของการเข้ามาดูแลของภาครัฐแบบเต็มรูปแบบเพราะต้องการเตรียมการสำหรับการขยายทรัพยากรให้สามารถรองรับผู้ใช้งานได้มากขึ้นถึง 30 ล้านคนในอนาคต จากที่ตอนนี้มีผู้ใช้งานแล้วกว่า 5 ล้านคน

สุดท้ายนี้ทาง DGA ได้ขอความร่วมมือจากประชาชนดาวน์โหลดแอป “หมอชนะ” เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนและแพทย์ในการติดตามและเฝ้าระวัง COVID-19 โดยประชาชนสามารถดาวน์โหลดแอป “หมอชนะ” ได้แล้ววันนี้บน 3 แพลตฟอร์ม

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส