พานาโซนิคเปิดตัว EZ1000 ทีวี OLED ที่พร้อมวางจำหน่ายรุ่นแรกของบริษัท โดยชูจุดเด่นที่เทคโนโลยีด้านภาพที่ให้สีสันได้สมจริงอย่างที่ผู้สร้างภาพยนตร์ต้องการ พร้อม Soundbar ในตัว ทำให้ได้เสียงที่ดีเยี่ยม

Panasonic EZ1000 OLED TV

Panasonic EZ1000

สำหรับ OLED TV รุ่นแรกของพานาโซนิคมีความละเอียด 4K มีขนาด 65 และ 77 นิ้ว ใช้ใช้เทคโนโลยี 4K HEXA Chroma Drive Pro ที่ประมวลผลแม่สี 6 สีจากตารางสี 3 มิติ พร้อมหน่วยประมวลผล Studio Colour HCX2 ที่ได้รับการปรับแต่งเรื่องสีมาเป็นพิเศษจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องสีในฮอลลีวูด จนได้รับการรับรองมาตรฐาน THX 4K Display และ Ultra HD Premium โดยจอของ EZ1000 รองรับขอบเขตสี DCI-P3 98% แสดงสีได้มากกว่า 1 พันล้านสี ให้ความสว่างสูงสุด 1000 nit

จุดเด่นของเทคโนโลยี OLED (organic light-emitting diode) ที่นำมาใช้ในทีวิรุ่นนี้ คือการที่แต่ละพิกเซลสามารถเปล่งแสงได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องอาศัยแสงไฟส่องด้านหลังเหมือนเทคโนโลยี LCD, LED เดิม ทำให้จอ OLED แสดงสีดำได้ดำสนิท (เพราะแค่ปิดพิกเซล ไม่ส่องแสงออกมา) และยังให้สีสันได้ดีกว่าจอ LED แบบเดิมอีกด้วย นอกจากนี้ตัวจอของ EZ1000 ยังมีเทคโนโลยี Absolute Black filter ช่วยลดแสงสะท้อนสีไวน์แดงจากจอ OLED ทำให้สีดำจากจอเป็นสีดำจริงๆ

แน่นอนว่าทีวี 4K ตอนนี้ก็ต้องรองรับการแสดงภาพแบบ High Dynamic Range หรือ HDR ด้วย ซึ่ง Panasonic EZ1000 ก็รองรับในมาตรฐาน HDR10 และมาตรฐาน HDR สำหรับการออกอากาศต่างๆ (ซึ่งกว่าจะได้ใช้ในไทยอีกคงพักหนึ่ง) แต่ยังไม่รองรับมาตรฐาน Dolby Vision

ตัว Blade Soundbar ที่ฐานของทีวี

ที่น่าสังเกตอีกอย่างคือ EZ1000 มีการติดตั้ว Blade Soundbar มาให้ที่ขาตั้งของทีวี ซึ่งประกอบด้วยสำโพง 14 ตัว ให้กำลังเสียง 80 Watt ทำให้ตัวเครื่องสามารถออกแบบได้บาง เพราะไม่ต้องใส่ลำโพงไว้ในตัวทีวีแล้ว

ความรู้สึกหลังได้สัมผัสเครื่องจริง

เปรียบเทียบสีของ EZ1000 กับมอนิเตอร์งานโปรดักชั่น (ตัวขวา ราคาหลักล้าน) ที่สีออกมาใกล้เคียงกัน

เว็บแบไต๋เราเคยรีวิว Panasonic Viera DX900 ซึ่งเป็น LED TV รุ่นท็อปสุดของปี 2016 ทำให้เราเข้าใจจุดเด่นด้านสีสันของพานาโซนิคที่เริ่มใช้เทคโนโลยี HEXA Chroma Drive แล้ว ใน EZ1000 ทีวี OLED ของปีนี้ก็เช่นกันที่พานาโซนิคจริงจังกับเรื่องการปรับแต่งสีสันให้ตรงกับมาตรฐานของอุตสาหกรรมภาพยนตร์มากที่สุด ภาพที่ได้จาก EZ1000 จึงออกมาใกล้เคียงกับมอนิเตอร์ OLED ที่ตรวจสอบงานในวงการภาพยนตร์มาก การถ่ายทอดสีสัน และสัญญาณรบกวนในภาพต่างๆ ทำออกมาได้ดี ก็เหลือแต่เรื่องความทนทานของจอ OLED ที่ใช้ไปสักระยะสีสันจะดรอปลง ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าพานาโซนิคสามารถจัดการปัญหาปวดใจของ OLED เรื่องนี้ได้ดีแค่ไหน

สีจากพานาโซนิคไม่ใช่สีสดที่สุด แต่พยายามทำให้ตรงมาตรฐานที่สุด

ในเรื่องของเสียงก็เช่นกัน ตัว Soundbar ของ EZ1000 ให้เสียงกังวาล มี Sound Stage ที่กว้างอย่างน่าประหลาดใจ จัดการเสียงแหลมได้สมดุล เสียงเบสให้แน่นกระชับได้เป็นอย่างดี ถ้าไม่ต้องการเสียงระดับรอบทิศทางก็ถือว่า Soundbar ของ EZ1000 นั้นเอาอยู่สบายๆ

ซึ่งเรื่องที่ต้องทดสอบกันต่อไปคือระบบ Smart TV ที่ปีนี้พานาโซนิคก็ยังคงใช้ Firefox OS เหมือนเดิม แม้จะมีข่าวว่า Mozilla เลิกพัฒนาแล้ว แต่พานาโซนิคยืนยันว่าในบริษัทมีทีมพัฒนา Firefox OS ของตัวเอง จึงสามารถเพิ่มฟีเจอร์อย่าง Media Player 2.0 ที่มีความสามารถเล่นไฟล์ได้ดีขึ้น รองรับ HDR10 และระบบเมนู My Home Screen 2.0 ที่ทำงานรวดเร็วขึ้นด้วย (แต่เราก็ยังคิดถึงฟีเจอร์ Chromecast ที่มีใน Android TV นะ ซึ่งตัวพานาโซนิคนั้นมีแค่ระบบ Screen mirroring)

ราคาในไทยยังไม่ประกาศ แต่มากกว่าแสนบาทแน่ๆ เริ่มจำหน่ายช่วงครึ่งปีหลัง

พานาโซนิคเปิดตัวทีวีรุ่นอื่นๆ ประจำปี 2017

นอกจาก Panasonic EZ1000 ทีวีรุ่นท็อปของปีนี้แล้ว พานาโซนิคยังเปิดตัวทีวีชุดใหม่ประจำปี 2017 ครบไลน์ ตั้งแต่จอแบบ Full HD สำหรับกลุ่มเริ่มต้น ไปจน 4K ทั้ง LED และ OLED

ปีนี้พานาโซนิคขยายจอทีวีให้ใหญ่ขึ้นจนสูงสุดที่ 75 นิ้ว และขยายไลน์สินค้าให้มีขนาดจอให้เลือกมากขึ้น โดยพานาโซนิคคาดว่าจอขนาดกลาง ช่วง 40 – 60 นิ้วจะเติบโตมากขึ้น เพราะผู้คนเริ่มแสวงหาจอขนาดใหญ่กว่าจอ 32 นิ้วที่เคยมีเป็นพื้นฐานกันอยู่แล้ว และยอดขายของจอ 4K จะเติบโตมากขึ้น จากระดับราคาที่ลดลงจนจับต้องได้ และมีเนื้อหา 4K สนับสนุนมากขึ้น

เทคโนโลยีตัวสำคัญอย่าง HEXA Chroma Drive ที่เคยมีในรุ่นสูงๆ พานาโซนิคก็ปรับให้เริ่มมีในทีวีระดับกลางมากขึ้น พร้อมลูกเล่นใหม่อย่าง HEXA AI ทำให้แสดงสีผิวได้ดีขึ้น ปรับปรุงสีให้สดใส และ HEXA Boost เป็นปุ่มกดในรีโมทบางรุ่นเพื่อปรับสีให้สดใส เหมาะสำหรับการชมกีฬา ดูการ์ตูน หรือชมภาพยนตร์ นอกจากนี้ในรีโมทยังมีปุ่ม MyApp เพื่อกำหนดแอปที่ใช้บ่อยๆ เช่น Youtube ให้เรียกใช้ผ่านรีโมทได้ง่ายๆ

อุปกรณ์ความบันเทิงอื่นๆ

Panasonic UA3

ปีนี้พานาโซนิคยังเปิดตัวชุดเครื่องเสียงในกลุ่มต่างๆ อีกมากมาย เริ่มตั้งแต่ Urban Audio เครื่องเสียงหน้าตาดูดี ที่ผู้ใช้ในเมืองน่าจะชอบ ซึ่งเว็บแบไต๋เคยรีวิวตัว UA7 ไปแล้ว มาในปีนี้ได้เพิ่มรุ่นน้อง UA3 เข้าไป ที่เสียงยังดังสามบ้านแปดบ้านเหมือนเดิม แต่ลดกำลังลงจาก 1700 Watt RMS ใน UA7 เหลือ 300 Watt RMS ในรุ่น UA3 ให้เหมาะสำหรับการใช้ในบ้านทั่วไปมากขึ้น

Panasonic HTB688 Soundbar

นอกจากนี้ยังมี Sound Bar 2 รุ่นใหม่คือ HTB688 รุ่นพี่กำลัง 300 Watt แบบ 3.1 Channel และ HTB488 รุ่นน้องกำลัง 200 Watt แบบ 2.1 Channel เพื่อตอบสนองความบันเทิงในบ้าน ที่ทีมงานเว็บแบไต๋ได้ทดลองฟังเสียงแล้ว ถือว่าถ่ายทอดเสียงจากภาพยนตร์ได้ละเอียด มีมิติ ฉากแอคชั่นในภาพยนตร์ก็ให้เสียงกระหึ่มโอบล้อมจริงๆ

Panasonic SC-HE1000

ในฝั่งเครื่องเสียงตัวเล็กๆ ก็น่าสนใจโดยเฉพาะอุปกรณ์ในกลุ่ม All connected Audio ที่สามารถสั่งเล่นอุปกรณ์หลายๆ ตัวจากแหล่งเดียวกันได้ เช่นยิงเพลงจากมือถือเครื่องเดียว ให้ไปออกในกลางรับแขก น้องนอน ที่มีอุปกรณ์รองรับ All Connected Audio เหมือนกัน (เข้าใจว่าเป็นเทคโนโลยี Qualcomm AllPlay แต่พานาโซนิคบอกว่าไม่รองรับการใช้งานร่วมกับแบรนด์อื่นซะงั้น) ซึ่งเทคโนโลยีนี้มีในรุ่น SC-All 2 และ SC-HE1000 ซึ่งรุ่นหลังนี้น่าสนใจครับ เป็นเครื่องเล่น CD, Bluetooth รับวิทยุได้ เอาไปติดกำแพงห้องให้สวยเก๋ก็ได้

Panasonic DMP-UB400 Ultra HD 4K Blu-ray Player

และอุปกรณ์ตัวสุดท้ายที่น่าสนใจในครั้งนี้คือ DMP-UB400 เครื่องเล่น Ultra HD 4K Blu-ray ที่ใช้หน่วยประมวลผล HCX เพื่อให้มั่นใจว่าคุณภาพสัญญาณและสีสันที่ออกจากเครื่องไปจะเที่ยงตรงที่สุด สามารถปรับลักษณะ HDR ของภาพได้จากรีโมทของตัวกล่องเลย จะเป็นภาพสำหรับห้องมืด หรือห้องสว่างก็ปรับได้ง่ายๆ นอกจากนี้ยังให้สัญญาณสูงสุด 4K 60p 4:4:4 ได้ด้วย พร้อมรองรับ Netflix 4K ในตัว ซึ่งจะวางขายในไทยเร็วๆ นี้

ใครที่กำลังเล็งๆ ทีวีหรือ 4K Player ก็อดใจรอดูรุ่นล่าสุดจาก Panasonic อีกนิดนะครับ ของดีแน่นอน