ใกล้เข้ามาทุกขณะกับการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz และ 1800 MHz ที่ทาง กสทช. กำลังจะจัดเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมปี 2561 นี้ ซึ่งความถี่ 900 MHz เปิดประมูล 1 ชุดราคาประมูลเริ่มต้น 37,988 ล้านบาทและความถี่ 1800 MHz เปิดประมูล 3 ชุด ราคาเริ่มต้นประมูล 37,457 ล้านบาท ทำให้เกิดประเด็นคำถามข้อสงสัยต่าง ๆ มากมายจากราคาที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึง 6 เท่า ทาง Nation TV ช่อง 22 จึงได้เปิดเวทีเสวนาในเรื่อง “จับตาประมูลคลื่นความถี่ไทย จะเป็นอย่างไร?… ในปีหน้า” ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเสวนาในงานนี้ 4 ท่านคือ

  • นายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม
  • อาจารย์สืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยด้านโทรคมนาคม ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ
  • คุณพิสุทธิ์ งานวิจิตวงศ์ นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด
  • ดร. นิตยา สุนทรสิริพงศ์ นักวิชาการด้านโทรคมนาคม

ร่วมพูดคุยถกประเด็นที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากการเติบโตทางด้านการใช้โทรศัพท์มือถือมีแนวโน้มที่สูงขึ้น และมีการใช้อินเทอร์เน็ต 4G ที่มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ข้อจำกัดด้านปริมาณคลื่นความถี่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการใช้งานของผู้ใช้บริการโดยตรง และยังไม่รวมถึงคลื่นความถี่ที่สัมปทานกำลังจะหมดลงอีก 2 คลื่นคือ คลื่น 1800 MHz ของ บมจ.กสท โทรคมนาคม และ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) และคลื่นความถี่ย่าน 850 MHz ของ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในเดือนกันยายนปี 2561 นี้ จึงทำให้เกิดประเด็นข้อสงสัยให้ทั้ง 4 ท่านเข้ามาพูดคุยถกประเด็นกันอย่างเต็มที่ โดยสรุปได้ดังนี้

ผลกระทบหากราคาค่าประมูลคลื่นความถี่สูงมาก ๆ

  • อนาคตอาจเกิดเหตการณ์ถอนตัวของ 1 ใน 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมถ้ายังมีราคาค่าประมูลที่สูง และอีก 2 บริษัทที่มีคลื่นความถี่เพียงพอแล้วตั้งใจที่จะ “เตะตัดขา” โดยการผลักดันราคาประมูลให้สูงกว่าที่ควรจะเป็น
  • การพัฒนาด้านเทคโนโลยีจะช้ากว่าที่ควรเป็นเพราะต้องเอาเงินลงทุนด้านนี้ไปจ่ายค่าสัมปทานคลื่นความถี่ที่สูงกว่าประเทศอื่นในโลกถึง 8 เท่า
  • สิ่งที่เคยเกิดขึ้นในปี 2015 ที่ผ่านมาคือ ผู้ลงทุนต่างประเทศถอนตัวกันเป็นจำนวนมาก ทำให้หุ้นฝั่งสารสนเทศตกลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และส่งผลกระทบมาจนถึงปัจจุบัน
  • มูลค่าที่สูงจะทำให้การแข่งขันถูกปิดเพราะคู่แข่งรายอื่น ๆ ไม่สามารถเข้ามาลงทุนได้เพราะไม่คุ้มค่าการลงทุน ทำให้ตลาดถูกผูกขาดไปตลอด และการประมูลราคาที่สูงคือการทำให้ต้นทุนจม ทำให้ผู้บริการรอวันเจ๊ง
  • อาจทำให้การประมูลคลื่นไม่ครบ ส่งผลให้ประเทศไม่ถูกนำคลื่นไปใช้งานอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ประชาชนเสียผลประโยชน์มหาศาลและประเทศจะเดินหน้าได้ช้าลงกว่าเดิมที่ช้าอยู่แล้ว
  • มีการถอนตัวเกิดขึ้นหากประมูลไปแล้วไม่สามารถทำการกู้แบงค์ได้ และทำให้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน
  • ปัจจุบัน ITU เผยว่าประเทศไทยอยู่ในภาวะที่ขาดแคลนคลื่นความถี่จากความล่าช้าในการประมูลคลื่น ส่งผลกระทบต่อความเร็วที่ควรจะเป็นของเน็ต 3G และ 4G ในปัจจุบัน

ข้อคิดเห็นในการเสวนาครั้งนี้

  • อยากให้ทาง กสทช. พิจารณาเรื่องเงินต้นของการประมูลใหม่ เพื่อให้เหมาะสมและเป็นไปตามข้อสรุป ไม่ควรใช้ระบบ N-1 หรือ กรณีที่มีผู้เข้าร่วมประมูลน้อยราย จะไม่นำคลื่นความถี่บางคลื่นเข้ามาประมูล รวมไปถึงการตั้งราคาที่สูงจนเกินไป
  • ควรมีการพิจารณามอบคลื่นความถี่ 2300 MHz ให้กับทาง dtac เพื่อทำให้บริษัททั้ง 3 มีขนาดคลื่นที่ใกล้เคียงกัน สามารถแข่งขันได้อย่างเต็มที่
  • คลื่นความถี่ 1800MHz นั้นเป็นคลื่นที่สำคัญ จึงต้องมีการวางแผนการประมูลให้ดี อาจจะจัดการแบ่งเป็น 3 ส่วนไม่เท่ากันเช่น 5 MHz, 15 MHz , 20 MHz เพื่อให้ผู้ที่ต้องการคลื่นมากก็เล็งประมูลตัวสูง และผู้ที่ต้องการคลื่นน้อยไม่ต้องเสียเงินลงทุนจำนวนมากเกินไป
  • หลายประเทศมีการร่างแผน Spectrum Roadmap หรือแผนแม่บทเพื่อให้สามารถวางแผนล่วงหน้าได้ว่าจะต้องมีการจัดประมูลเมื่อไหร่ ประมูลคลื่นใด เพื่อให้สามารถคำนวณตัวเลขออกมาได้
  • ควรมีการปรับเปลี่ยนวิธีการประมูลในอนาคตหลังจากปี 2561 นี้ เพื่อให้ทั้ง 2 ค่ายที่ประมูลไปแล้วก่อนหน้านี้ไม่รู้สึกเสียผลประโยชน์มากเกินไป รวมไปถึงควรทำ Spectrum Roadmap ออกมาเพื่อให้ทุกฝ่ายทราบถึงอนาคต ไม่ใช่ต้องหวังเอาน้ำบ่อหน้าเพียงอย่างเดียว

พูดเรื่องคลื่น 5G ในอนาคต

  • ในอนาคตคลื่นความถี่ 5G คือคลื่นความถี่ที่จะต้องใช้ถนนที่กว้างมาก ๆ เพื่อให้ได้ Bandwidth ที่สูง หากเกิดการประมูลโดยยังคงใช้การแบ่งแบบเดิม ก็จะส่งผลกระทบต่อความเร็ว รวมไปถึงความเสถียรของเครือข่ายได้ จึงอยากให้มีการแชร์คลื่นความถี่ผ่านเทคโนโลยีพิเศษแทน และไม่ต้องใช้การประมูลเพื่อให้การใช้งานเป็นไปได้อย่างรวดเร็วที่สุด
  • ในปี 2020 ประเทศญี่ปุ่นตั้งใจจะเป็นประเทศแรกที่ใช้อินเทอร์เน็ต 5G ในการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคซึ่งจะจัดขึ้นที่โตเกียว ถือว่าเป็น 1 ในประเทศที่พัฒนาด้านโครงสร้างเครือข่ายที่เร็วมาก

 

มุมมองผู้บริโภคหลังประมูลปี 2561

  • ตลาดในปัจจุบันเริ่มมีความอิ่มตัวด้านจำนวนผู้บริโภคที่มีจำนวนไม่เพิ่มขึ้นมากเท่าสมัยก่อน ถึงแม้จะมีการบริโภคข้อมูลที่สูงขึ้นก็ตาม
  • การประมูลจะไม่มีเจ้าใหม่เข้ามาลงทุนเพิ่มในปี 2561 นี้
  • และถึงแม้จะมีผู้ที่สามารถประมูลเข้ามาใหม่ได้ แต่ถ้ามีการให้บริการที่ไม่ครอบคลุมทั้งประเทศ ก็เสมือนกับสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ คนก็จะเลือกเจ้าที่พร้อมให้บริการแทนอยู่ดี

 

อย่างไรก็ตามนี่ก็เป็นเพียงความเห็นของผู้เข้าร่วมเสวนาในงานนี้ ซึ่งหวังว่าทาง กสทช. จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปพิจารณาเพื่อหาช่องทางที่ทุกฝ่ายต่างได้รับผลประโยชน์สูงสุดต่อไป