หลังจากเปิดให้บริการในไทยมานานกว่า 2 เดือน ล่าสุด JOOX บริการฟังเพลงออนไลน์แบบสตรีมมิ่งที่ให้บริการในประเทศไทยโดย Sanook.com ก็ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ ถือเป็นประเทศที่ 4 ในภูมิภาคเอเชีย ต่อจากฮ่องกง มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

จุดเด่นของ JOOX คือมีเพลงให้บริการมากกว่า 3.5 ล้านเพลงจากค่ายเพลงกว่า 100 ค่ายทั่วโลก เช่น แกรมมี่, โซนี-บีอีซี, Spicy Disc, Warner Music, Universal Music, Small Room, What the Duck ฯลฯ ถ้าในไทยก็ขาดค่ายหลักๆ อย่าง RS เท่านั้น โดยเปิดให้บริการฟรีสำหรับผู้ใช้ทุกคน แถมยังดาวน์โหลดเพลงมาฟังแบบ Offline ได้ด้วย

แต่สำหรับคนที่ต้องการฟังเพลงในส่วน VIP ที่มีราวๆ 10-20% ของเพลงทั้งหมด, ต้องการฟังเพลงคุณภาพสูงสุดของ Joox, ต้องการเปิดเอฟเฟกเสียง DTS หรือต้องการปิดโฆษณาที่แทรกทุกๆ 5 เพลงของ Joox ก็สามารถสมัครเป็นสมาชิก VIP ได้ในราคา 129 บาทต่อเดือน ซึ่งถ้าหากใครไม่ต้องการจ่ายเงิน Joox ก็มีกิจกรรมมากมายที่แลกรับวัน VIP ฟรี เช่นการแชร์แอป เป็นต้น

เรามองว่าการให้บริการฟรีเป็นโมเดลเดียวที่เหมาะกับคนไทย ตอนนี้จึงไม่ได้หวังรายได้จากสมาชิก VIP ที่ต้องใช้เวลาสร้างพฤติกรรมให้คนไทยอย่างน้อยก็ 3 ปี

เมื่อ JOOX มีเพลงจำนวนมากแล้ว สิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ playlist และการจัดเพลงตามธีมต่างๆ ที่ JOOX มีทีมงาน Music Director คนไทยเพื่อจัด playlist เพลงไทยและเทศอย่างน่าสนใจ ทั้งการจัดตามอารมณ์ (รัก, โกรธ,เศร้า) ตามสถานการณ์ (เพลงบน BTS, รถเมล์) ตามสถานที่ (เพลงจากแหล่งบันเทิงต่างๆ เช่น Muse) หรือ playlist เพลงใหม่ทั้งไทยและเทศ ซึ่งการฟังเพลงตามเพลย์ลิสเหล่านี้ก็ถือว่าเปิดโลกการฟังเพลงได้มาก เพราะได้รู้จักเพลงใหม่ๆ ที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน แต่สิ่งหนึ่งที่ JOOX ยังขาดอยู่คือระบบสร้างรายการเพลงอัตโนมัติโดยเรียนรู้จากเพลงที่เราเคยฟัง แต่ทีมงานก็สัญญาว่ากำลังพัฒนากันอยู่

นอกจากใช้บริการบนสมาร์ทโฟนแล้ว JOOX ยังสามารถใช้บริการผ่านคอมพิวเตอร์จาก Sanook! Music ที่สามารถซิงค์รายการเพลงและ Playlist ส่วนตัวมาเล่นผ่านเบราว์เซอร์ได้ด้วย

ข้อมูลอื่นๆ ของ JOOX

  • JOOX พัฒนาขึ้นโดยบริษัท เทนเซนต์ โฮลดิ้งส์ จำกัด เปิดใช้งานเป็นครั้งแรกที่ฮ่องกงเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2014
  • ตอนนี้มีคนใช้งาน JOOX 20 ล้านสตรีมต่อวัน (หมายถึงเปิดเพลง 20 ล้านครั้ง)
  • เฉลี่ยแล้วฟัง 90 นาทีต่อคนต่อวัน
  • รายได้ของ JOOX มาจาก สมาชิก VIP, โฆษณาระหว่างฟังเพลง, Sponsor Playlist ซึ่งจะแบ่งรายได้กับค่ายเพลง
  • Sponsor Playlist คือการที่แบรนด์ให้จัดเพลย์ลิสเพลงเป็นอารมณ์ที่สื่อถึงแบรนด์นั้นๆ ทำให้เมื่อผู้ฟังฟังเพลงเหล่านี้ก็จะนึกถึงแบรนด์ไปในตัว
  • JOOX สามารถรับฟังส่วนตัวได้ แต่ถ้าต้องการเปิดในร้านค้า ร้านอาหาร ทางร้านก็ต้องมีใบอนุญาตจากเจ้าของสิทธิ์เพลงด้วย
  • ไม่มีแผนพัฒนาเวอร์ชั่นสำหรับ Windows Phone
  • เพลย์ลิส MRT กับ BTS ต่างกันตรงที่ MRT จะเป็นเพลงที่บรรยากาศทึมๆ ตามอารมณ์ของรถใต้ดิน ในขณะที่ BTS เป็นเพลงที่สดใสกว่า

ดาวน์โหลด