ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ได้มีการแถลงข่าวว่า บริษัท ฮิวเลตต์ แพคการ์ด เอ็นเตอร์ไพรส์ (Hewlett Packard Enterprise: HPE) จับมือกับศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูง (ThaiSC) หนึ่งในหน่วยงานของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ปิดดีลการซื้อซูเปอร์คอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ที่แรงที่สุดในอาเซียน เพื่อยกระดับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ของประเทศไทย

ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ดังกล่าวคือ HPE Cray Ex supercomputer ซึ่งเป็นซูเปอร์คอมพิวเตอร์รุ่นที่ดีที่สุดของ HPE มีประสิทธิภาพในการคำนวณสูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีความสามารถในการคำนวณมากกว่าคอมพิวเตอร์ของสวทช. เดิมถึง 30 เท่า!

HPE Cray EX supercomputer ประกอบด้วย CPU รุ่นล่าสุดจาก AMD EPYCTM 3rd GEN จำนวน 496 CPU/31,744 แกน และมี 704 GPU จาก NVIDIA A100 Tensor Core โดยจะใช้ระบบระบายความร้อนด้วยของเหลว (liquid cooling) และได้รับการเสริมประสิทธิภาพจาก HPE Slingshot สำหรับการคำนวณข้อมูลขนาดใหญ่ พร้อมระบบจัดเก็บข้อมูลความเร็วสูง Cray ClusterStor E1000 ซึ่งซูเปอร์คอมพิวเตอร์เครื่องนี้จะมีประสิทธิภาพในการประมวลผลสูงสุดที่ 13 Petaflops

จุดประสงค์ของการสั่งซื้อซูเปอร์คอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ คือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสนับสนุนนักวิจัยในด้านต่าง ๆ ได้แก่

  • ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligent) และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics)
  • ด้านการแพทย์ การถอดรหัสพันธุกรรมระดับจีโนม เช่น เชื้อไวรัส COVID-19
  • ด้านสิ่งแวดล้อม การสร้างแบบจำลองฝุ่นละออง PM 2.5 ในประเทศไทย และการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ล่วงหน้า 3 วัน
  • การจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลรหัสพันธุกรรมของคน พืช และสัตว์
  • การจำลองอนุภาคระดับนาโน และอะตอมสำหรับการวิจัยวัสดุขั้นสูง เช่น การพัฒนายา วัคซีน และวัสดุล้ำยุค เป็นต้น
  • การทำแบบจำลองทางวิศวกรรมและการวิจัยทางอุตสาหกรรม

ทางสวทช. ระบุว่า ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นจะส่งผลดีต่อการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงและยกระดับวทน. ให้กับประเทศไทย และคาดว่าจะติดตั้งและเปิดให้บริการกับผู้ใช้งานทั่วประเทศในปี 2565

เครดิตภาพหน้าปก: นางสาวอินทิรา บัวลอย

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส