งานวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีจอร์เจีย (Georgia Institute of Technology) ในสหรัฐอเมริกา ชี้ว่าในด้านการทหาร เรายังไม่สามารถพึ่งพา AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ในการตัดสินใจแทนมนุษย์ได้ทั้งหมด

แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการใข้ปัญญาประดิษฐ์เข้าไปเสริมระบบอาวุธและยานเกราะ เพื่อช่วยด้านความแม่นยำและการรวบรวมข้อมูลที่มีปริมาณมหาศาล แต่การใช้ ปัญญาประดิษฐ์ ในการตัดสินใจแทนมนุษย์นั้นซับซ้อนกว่านั้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จอน ลินด์เซย์ (Jon Lindsay) จาก School of Cybersecurity & Privacy และ Sam Nunn School of International Affairs ระบุว่า ปัญญาประดิษฐ์ไม่สามารถคิดแทนมนุษย์ในภาวะสงครามที่เต็มไปด้วยการใช้กลยุทธ์ที่หลากหลาย และมีแต่ความไม่แน่นอน หรือที่เรียกว่า ‘หมอกสงคราม’ (Fog of War) ได้

“คุณต้องใช้ปัญญาแบบมนุษย์ในการตัดสินใจเชิงศีลธรรม จริยธรรม และสติปัญญา ภายใต้สถานการณ์ที่สุดแสนจะสับสนและน่ากลัว” ลินด์เซย์กล่าว

ลินด์เซย์และศาสตราจารย์ อาวี โกลด์ฟาร์บ (Avi Goldfarb) แห่งมหาวิทยาลัยโทรอนโต (University of Toronto) ร่วมกันผลิตงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าไม่ควรนำปัญญาประดิษฐ์มาทดแทนมนุษย์ในการศึก แต่ควรนำมาเสริมการใช้กลยุทธ์ของมนุษย์เท่านั้น

ผู้วิจัยชี้ว่าแม้ว่าเครื่องจักรจะเก่งการคาดการณ์ แต่ก็เป็นการคาดการณ์ที่อยู่บนฐานของข้อมูลและการตัดสินใจของมนุษย์ ในขณะที่ปัญหาที่พบในสงครามนั้นเต็มไปด้วยข่าวสารและกลยุทธ์ ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้ใช้งาน ปัญญาประดิษฐ์ นสงครามไม่ได้ก็คือความไม่แน่นอนนี่เอง

ลินด์เซย์และโกลด์ฟาร์บได้ยกตัวอย่างการทำงานของปัญญาประดิษฐ์ในบริษัทเหมือง Rio Tinto ซึ่งมีการใช้รถบรรทุกอัตโนมัติในการขนส่งวัตถุดิบ เพื่อลดต้นทุนและความเสี่ยงที่จะเกิดต่อคนขับที่เป็นมนุษย์ รถบรรทุกเหล่านี้ทำงานโดยอาศัยข้อมูลการจราจรและแผนที่ที่มีอยู่อย่างแพร่หลาย คาดเดาได้ และปราศจากอคติ โดยที่มนุษย์แทบจะไม่ต้องเข้าไปมีส่วน เว้นแต่มีเหตุการณ์พิเศษอย่างการปิดถนนหรือมีสิ่งกีดขวาง

ในทางตรงกันข้าม ข้อมูลในยามสงครามมักจะเต็มไปด้วยอคติ การตัดสินใจที่เกิดขึ้นมักตามมาด้วยข้อกังขา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในสงครามไม่ได้เลย นักวิจัยทั้ง 2 คนแนะนำว่าควรนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ทำงานทีละไม่กี่อย่างในสภาพแวดล้อมที่มั่นคงและเป็นระบบ

ทั้งนี้ การนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในการทหารมีผลเสีย เพราะเมื่อมนุษย์เป็นศูนย์กลางของระบบที่จะนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ ก็อาจจะต้องมีการปรับโครงสร้างการบริหารของกองทัพให้เปลี่ยนไปตามผู้ที่มีอำนาจในการดูแลระบบและตัดสินใจเชิงนโยบาย

ด้วยเหตุนี้ ข้าศึกเพียงแค่ต้องมุ่งโจมตีไปที่ข้อมูลและระบบการตัดสินใจมนุษย์ ก็จะสามารถส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อทิศทางของสงครามแล้ว ซึ่งการเข้าควบคุมหรือทำลายข้อมูลจะทำให้การตัดสินใจอย่างมีเหตุผลทำได้ยากขึ้นไปอีก ด้วยเหตุนี้ มนุษย์ยิ่งต้องเข้ามามีส่วนสำคัญในการตัดสินใจมากขึ้นไปอีก

ที่มา ScienceDaily

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส