วันศุกร์ที่ 11 กันยายน สำนักข่าว Reuters ได้นำเสนอว่ารัฐบาลจีนไม่เห็นด้วยที่ ByteDance จะพยายามรักษา TikTok ในสหรัฐฯ ด้วยการขายกิจการให้กับบริษัทอเมริกัน และต้องการให้ Tiktok ในสหรัฐฯ ปิดตัวลงเสียยังดีกว่าถูกบังคับขายอย่างไร้ศักดิ์ศรีที่ดูเหมือน ByteDance และจีนนั้นอ่อนแอ (ยอมจำนนแต่โดยดี) เมื่อโดนรัฐบาลสหรัฐฯ บีบคั้น ซึ่งแหล่งข่าวอ้างว่ารับทราบข้อมูลมาจาก 3 บุคคลที่รู้เรื่องนี้โดยตรง

ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมามีข่าวว่าประธานาธิบดี Donald Trump จะออกคำสั่งแบน TikTok ในสหรัฐฯ โดยข้ออ้างเดิม ๆ เรื่องความปลอดภัยต่อความมั่นคง และลือกันว่า ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok เตรียมขายหุ้นเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างบริษัท ต่อมาข่าวเริ่มมีมูลเมื่อ Microsoft ได้ประกาศว่าได้คุยกับ Trump แล้วจะซื้อ TikTok จาก ByteDance และ Trump ก็ได้เปิดไฟเขียวให้ดีลจบภายใน 45 วัน คือ 20 กันยายน หากไม่สำเร็จจากนั้นบริษัทในเครือสหรัฐฯ จะต้องหยุด​ทำธุรกิจกับ Bytedance

ดีลดูเหมือนจะไม่จบลงง่าย ๆ จึงต้องยกระดับความกดดัน วันศุกร์ที่ 14 สิงหาคม Donald Trump ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ลงนามคำสั่งผู้บริหารแกมบังคับให้ ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok ขายหรือเลิกธุรกิจ TikTok ในสหรัฐอเมริกาภายในระยะเวลา 90 วัน คือกลางเดือนกลางเดือนพฤศจิกายน  โดยอ้างว่า “มีหลักฐานที่ทำให้ผมเชื่อว่า ByteDance ได้คุกคามความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา”

จากนั้นมาก็มีหลายบริษัทที่กำลังยื่นข้อเสนอซื้อกิจการ TokTok จากByteDance ได้แก่ Microsoft, Oracle และ Walmart

ต่อมา 28 สิงหาคมกระทรวงพาณิชย์ของจีนได้เพิ่มข้อกำหนด AI เข้าไปอยู่ในรายการผลิตภัณฑ์ควบคุมการส่งออก เพื่อต้องการให้ ByteDance ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลจีนก่อนที่จะขาย TikTok แก่บริษัทอเมริกัน และที่สำคัญผู้ซื้อจะไม่ได้อัลกอริทึม AI ไปด้วย จึงทำให้ดีลการขาย TokTok ยากขึ้นไปอีก

10 กันยายน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ Donald Trump กล่าวว่าจะปิด TikTok ในสหรัฐฯ ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยหรือให้ขายธุรกิจแก่บริษัทอเมริกัน และขีดเส้นตายไว้ภายในวันที่ 15 กันยายนนี้จะไม่มีการขยายเวลาอีกต่อไป สรุปง่าย ๆ ว่ากดดันให้รีบขายโดยด่วน ทั้งที่ยังไม่ถึงเส้นตายของคำสั่งที่ออกมาทั้ง 2 ฉบับ

โฆษกของ ByteDance กล่าวว่ารัฐบาลจีนไม่เคยแนะนำให้บริษัทควรปิด TikTok ในสหรัฐฯ หรือตลาดอื่น ๆ อย่างไรก็ตามการกำหนดเส้นตายวันที่ 15 กันยายนของ Trump ไม่ได้อยู่ในคำสั่งผู้บริหารที่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งอาจจะถูกนำไปใช้โต้แย้งในการพิจารณาคดีที่ TikTok ฟ้องศาลคัดค้านคำสั่งแบนของ Trump

ที่มา : engadget และ reuters

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส