ในวันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม 2564 โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาได้เซ็นคำสั่งประธานาธิบดี (Executive Order) ซึ่งเป็นคำสั่งที่ออกโดยประธานาธิบดีถึงหน่วยงานรัฐบาลกลางโดยไม่ต้องผ่านการรับรองจากสภาคองเกรส โดยมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการผูกขาดการตลาด (anti-competitive practices) จากบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ และภาคส่วนอื่น ๆ

ในอิเวนต์การเซ็นคำสั่งดังกล่าวที่ทำเนียบขาว ส่วนหนึ่งในสุนทรพจน์ที่ไบเดนกล่าวก่อนลงนามคำสั่งคือ ‘ทุนนิยมที่ไม่มีการแข่งขันนั้นไม่ใช่ทุนนิยม มันคือการเอารัดเอาเปรียบ’

คำสั่งในครั้งนี้รวมถึงการดำเนินการและข้อเสนอแนะจำนวน 72 ข้อ เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดจากการที่บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่มีข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานจำนวนมากเกินไป เกิดเป็นความได้เปรียบที่ไม่ยุติธรรมในการแข่งขันเชิงธุรกิจสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก

คำสั่งที่ออกโดยประธานาธิบดีฉบับนี้มีความสำคัญ ดังนี้

  1. การเข้าซื้อกิจการขนาดเล็กเข้ากับบริษัทขนาดใหญ่ (เพื่อลดคู่แข่ง) ต้องมีการตรวจสอบและเข้มงวดมากขึ้น
  2. คณะกรรมการการค้าของสหรัฐ (Federal Trade Commission: FTC) ต้องออกกฎหมายใหม่เกี่ยวกับการเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้
  3. สร้างการแข่งขันที่ยุติธรรมบนตลาดอินเตอร์เน็ต (Internet marketplaces)
  4. ส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการเพื่อปรับปรุงการแข่งขันในด้านสุขภาพ การท่องเที่ยว และการเกษตร

ไบเดนตั้งใจมุ่งเป้าไปที่บริษัทอันดับต้น ๆ ของสหรัฐฯ ซึ่งใช้อำนาจของตนเพื่อกำจัดคู่แข่งรายย่อยและนำข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้มาใช้ประโยชน์

มันไม่ใช่แค่เรื่องการผูดขาดทางการค้า แต่เกี่ยวกับการทำให้ขาดการแข่งขันเมื่อผู้เล่นในตลาดมีจำกัด

อย่างไรก็ตามคำสั่งดังกล่าวจะไม่ถูกบังคับใช้ในทันที หน่วยงานของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องจะต้องใช้เวลาดำเนินการให้คำสั่งเป็นรูปธรรม มีมาตรการและขั้นตอนที่ชัดเจน ก่อนที่จะสามารถนำคำสั่งดังกล่าวมาใช้จริง

อ้างอิง1: CNBC

อ้างอิง2: BBC

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส