เรื่องสายไฟฟ้าและสายสื่อสารเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่อยู่กับกรุงเทพมหานครมาอย่างยาวนาน ล่าสุดวันนี้ 2 มิถุนายน 2565 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) (เสาชิงช้า) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยภายหลังประชุมหารือร่วมกับนายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯกทม. บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ KT และทีมที่ปรึกษา เพื่อติดตามความคืบหน้าเรื่องการนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงดิน

ซึ่งโครงการดังกล่าว เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่กทม. ต้องจัดระเบียบปรับปรุงทัศนียภาพของเมืองให้ดูสะอาด ปราศจากสายไฟฟ้า และสายโทรศัพท์รุงรัง โดยทางกทม. ต้องลงทุนพัฒนาระบบท่อร้อยสายระบบสาธารณูปโภคใต้ดิน เพื่อสอดคล้องกับมติที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2561 ซึ่งให้กทม. ดำเนินการนำสายสื่อสารลงใต้ดินทั่วเขตพื้นที่กรุงเทพฯ

ทางด้าน เคที ได้เปิดเผยว่าโครงการดังกล่าวมีการตั้งงบประมาณกว้าง ๆ ไว้กว่า 19,000 ล้านบาท ทำให้มีปัญหาเรื่องการหารายได้ จึงไม่มีความคืบหน้า เพราะเป็นโครงการที่ลงทุนจำนวนมาก ในขณะเดียวกันปัจจุบันยังหาผู้เช่าท่อร้อยสายระบบสาธารณูปโภคไม่ได้ ทำให้ไม่มีรายได้ ซึ่งเป็นปัญหาทางเทคนิค จึงต้องดูรายละเอียดในการทำสัญญาอีกครั้ง เพราะหาก กทม. คิดค่าเช่าท่อร้อยสายแพง ผู้เช่าจะไปคิดค่าบริการกับประชาชน ทำให้ภาระจะตกไปอยู่กับประชาชน ซึ่งเป็นผู้บริโภคโดยตรง

ความคืบหน้า

ปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน นำร่องเสร็จแล้ว เป็นระยะทาง 7.2 กม. วงเงิน 140 ล้านบาท ประกอบด้วย

  1. ถนนวิทยุ (ถนนเพชรบุรี – แยกเพลินจิต – หน้าซอยร่มฤดี)
  2. ถนนรัชดาภิเษก (MRT ศูนย์วัฒนธรรมประตู 2 – หน้าซอยรัชดาภิเษก 7)
  3. ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ (ถนนสาทรเหนือ/ใต้ – ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 10) อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างท่อร้อยสายสื่อสารในแนวถนนพระรามที่ 1 จากแยกปทุมวันถึงแยกราชประสงค์ ระยะทางประมาณ 1 ก.ม. พร้อมกับการปรับปรุงทางเท้า แต่ปัจจุบันยังไม่มีผู้เช่าท่อร้อยสาย ขณะเดียวกันเคที ยังไม่ได้ลงทุนแต่อย่างใด

ที่มา matichon, prachachat

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส