เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2565 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ (ACT) ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย จัดเวทีเสวนาออนไลน์ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในหัวข้อ “ผู้นำ… กับการปราบโกง”

นายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ระบุว่า การสร้างการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนเป็นสิ่งสำคัญในการต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชัน ผู้นำองค์กรส่วนปกครองท้องถิ่นเป็นกำลังสำคัญในฐานะคนต้นแบบ ที่จะทำงานร่วมกับภาคประชาชนเพื่อปราบโกง

ขณะเดียวกันองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันพร้อมสนับสนุนการตรวจสอบคอร์รัปชันผ่านแพลตฟอร์ม ACT AI ซึ่งเป็นเครื่องมือและแหล่งรวมข้อมูลให้เข้าถึงการสืบค้นข้อมูลโครงการภาครัฐ รวมทั้งเครื่องมือตรวจสอบโครงการในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST), การใช้กลไกข้อตกลงคุณธรรม (IP) ที่จะสนับสนุนให้เกิดความโปร่งใส สร้างประโยชน์กับประชาชนได้อย่างสูงสุด อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนการตรวจสอบคอร์รัปชันได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

ทางด้าน ศาสตราจารย์ วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ที่ผ่านมาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีภาพติดตัว คือ เป็นจุดรวมแห่งการเข้ามาหาผลประโยชน์ เนื่องจากมีการจับโกงได้เป็นจำนวนมาก จนทำให้ภาพลักษณ์ออกมาในเชิงลบ ทั้งที่ความจริงอาจเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของภาพคอร์รัปชันระดับประเทศ

ทั้งนี้ การที่จะปรับกระบวนการสู้กับปัญหาคอร์รัปชันได้ ต้องเริ่มจาก (1) ลดการผูกขาด (2) ลดการใช้ดุลพินิจ (3) การทำให้โปร่งใส และ (4) ข้อมูลที่เข้าถึงได้ สิ่งเหล่านี้ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน หากเราสามารถสร้างวัฒนธรรมประชาสังคมที่ไม่ยอมรับการคอร์รัปชัน มีมาตรการทางสังคมในการลงโทษและปฏิเสธคนที่มีพฤติกรรมคอร์รัปชันได้อย่างเข้มแข็ง ตนเชื่อว่ามาตรการทางสังคมจะเป็นส่วนสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันร่วมกับการขับเคลื่อนจากภาคประชาสังคม

นอกจากนี้ ตัวแทนผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ร่วมเสวนาต่างร่วมกันแบ่งปันประสบการณ์และมุมมองต่อการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้อย่างน่าสนใจ โดย นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต กล่าวตอนหนึ่งว่า ข้อกฎหมาย กฎระเบียบที่เข้มงวดมากเกินไปก็เป็นข้อบกพร่องประการหนึ่ง อีกทั้งบางกรณียังมีความเหลื่อมล้ำต่อการแก้ไขและปราบปรามคอร์รัปชัน สังคมจะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมไม่ใช่ละเว้นให้กับผู้ใหญ่ แต่ในขณะที่ผู้น้อยหรือท้องถิ่นถูกข้อระเบียบต่าง ๆ จำกัดจนเกิดความกลัวไม่กล้าคิดหรือทำงานอะไรเลย จนแยกแยะอะไรไม่ออกว่าอะไรดีหรือไม่ดี หากปล่อยไว้ความเหลื่อมล้ำทางกฎหมายกลายจะเป็นมะเร็งร้ายในระบบการทำงาน

ทางด้าน นางสาวเพ็ญภัค รัตนคำฟู นายกเทศมนตรี ตำบลเกาะคา จังหวัดลำปาง กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดจะต้องสร้างเวทีการมีส่วนร่วมให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลสาธารณะได้ มีช่องทางให้ร้องทุกข์ มีระบบการตอบสนองต่อปัญหาเพื่อแก้ไขได้ทันท่วงที สร้างความไว้วางใจให้ชุมชน เมื่อทำได้ก็จะกลายเป็นความร่วมมือร่วมกันนำไปสู่ชุมชนจัดการตนเองในที่สุด โดยผู้นำจะเป็นต้นแบบของการรับฟังเสียงประชาชน สร้างการเมืองภาคประชาชนให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง ส่วน นายบรรจง โฆษิตจิรนันท์ นายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด ระบุว่า การให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมที่สำคัญต้องเริ่มจาการเลือกตั้งอย่างสุจริตโปร่งใส ประชาชนได้เลือกผู้นำที่เขาต้องการเข้ามาทำงานอย่างแท้จริง และเป็นผู้นำที่รับฟังประชาชนสร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เมื่อประชานมีส่วนร่วมก็จะช่วยลดปัญหาคอร์รัปชันได้

ด้าน นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวว่า การเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงและนำเสนอข้อมูลผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม อาทิ แอปพลิเคชันรับร้องทุกข์ หรือไลน์ออฟฟิเชียล นับเป็นการเปิดช่องทางการมีส่วนร่วมในทุกรูปแบบทุกช่องทาง โดย ‘ผู้นำ’ จะต้องรับฟังและแก้ไขโดยมุ่งถึงประโยชน์ของสาธารณะ อีกทั้งผู้นำยังต้องเป็นต้นแบบให้กับคนในทุกช่วงวัย ซึ่งสิ่งสำคัญจะต้องสร้างจิตสำนึกเรื่องของปัจเจกกับสาธารณะ ตั้งแต่วัยเด็ก ให้ได้ตระหนักถึงความสำคัญในสำนึกรักบ้านเกิด ปกป้องท้องถิ่นตนเอง เมื่อเด็กเหล่านั้นเติบโตขึ้นเขาจะหวงแหนและป้องกันไม่ให้เกิดการคอร์รัปชันในท้องถิ่นขึ้นมาได้ 

ขณะเดียวกัน นายชนะนันท์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนครชุม จังหวัดกำแพงเพชร ได้ย้ำว่า เป็นโอกาสดีเมื่อองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันและสถาบันพระปกเกล้าร่วมกันกระตุ้นแนวคิดการต่อสู้กับคอร์รัปชัน เพราะไม่อยากให้สังคมรู้สึกเคยชินกับปัญหาเหล่านี้ หากเราจะจัดการกับปัญหาคอร์รัปชันนั้น ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ไม่ปล่อยให้สังคมรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องของตัวเองแล้วไม่ให้ความสำคัญ ถ้าทุกส่วนสร้างจิตสำนึกการปราบโกงได้ตั้งแต่เด็กก็จะช่วยปลูกฝังการไม่คอร์รัปชัน นำไปสู่การพัฒนา และสร้างการมีส่วนร่วมในระดับสังคมได้ต่อไป

เวทีเสวนาออนไลน์ “ผู้นำ… กับการปราบโกง”

สำหรับกิจกรรมวันต่อต้านคอร์รัปชัน ประจำปี 2565 ให้ความสำคัญกับแนวคิด “ผู้นำ…กับการปราบโกง” โดยกำหนดจัดกิจกรรมขึ้นในวันที่ 6 กันยายน 2565 ตั้งแต่เวลา 09.00 – 11.00 น. บริเวณชั้น M ณ สถานีกลางบางซื่อ (โซนประตู 4) ภายในงานประกอบด้วย นิทรรศการผลงาน 11 ปี ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน และการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นพร้อมกลเม็ดการปราบโกงของผู้นำระดับต่าง ๆ นำโดย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมผู้นำระดับจังหวัดและท้องถิ่นร่วมเสวนาแสดงพลัง ตลอดจนการนำเสนอผลงานของ ACT AI ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับสืบค้นข้อมูลสาธารณะเพื่อการตรวจสอบคอร์รัปชันอีกด้วย