สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ชวนมาดูพระจันทร์ขนาดเต็มดวง ที่ใกล้โลกที่สุดในรอบปี ผ่านกล้องโทรทัศน์ในคืนวันลอยกระทง

ปรากฎการณ์ “ซูเปอร์มูน” ถือว่าเป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นอยู่หลายต่อหลายครั้ง ปัจจัยสำคัญของการเกิดปรากฎการณ์นี้ คือการโคจรรอบโลกที่เราอยู่อาศัย การโคจรของดวงจันทร์อยู่ในลักษณะของวงรีและมีการส่ายเข้าออก จึงทำให้การโคจรของดวงจันทร์ในบางครั้ง มีการเข้าใกล้โลกในระยะห่างที่ไม่เท่ากัน บางครั้งก็เห็นได้อย่างชัดเจน บางครั้งก็เห็นไม่ชัดเท่าไหร่

สำหรับปรากฎการณ์ซูเปอร์มูนในครั้งนี้ จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 ตามเวลาในประเทศไทย ช่วงเวลาประมาณ 20.52 น. (ตรงกับวันลอยกระทงพอดี) ซึ่งครั้งนี้ ประเทศไทยได้เปรียบมากๆ ในการได้เห็นปรากฎการณ์นี้ เนื่องจากในช่วงเวลาเดียวกัน อีกซีกโลก อยู่ในช่วงกลางวันพอดี ต่อให้สามารถมองเห็นได้ แต่ก็ไม่ชัดเท่าที่เราได้เห็น

ตัวอย่างปรากฎการณ์ซูเปอร์มูนที่เกิดขึ้นในปี 2013

ตัวอย่างปรากฎการณ์ซูเปอร์มูนที่เกิดขึ้นในปี 2013

ครั้งนี้ จากการคำนวนระยะห่างของดวงจันทร์กับโลก จะห่างอยู่ที่ระยะ 356,523 กิโลเมตร ถือว่าใกล้ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในรอบ 68 ปี ซึ่งใครที่พลาดในครั้งนี้ ต้องรอไปอีกประมาณ 18 ปีข้างหน้า (ซึ่งบางท่านก็คงเดินทางไปที่ทางช้างเผือก หรือไม่ก็ดาวหญ้าแพรกเรียบร้อย…)

ทั้งนี้ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้เชิญชวนผู้ที่สนใจ เข้าร่วมกิจกรรมชมปรากฎการณ์ซูเปอร์มูนพร้อมกันอย่างใกล้ชิด โดยจัดใน 3 สถานที่หลักๆ

  • เซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่
  • หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา
  • หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ฉะเชิงเทรา

รวมถึงเครือข่ายดาราศาสตร์อีกว่า 160 แห่ง ทั่วประเทศ

ที่มา: Geo Astroสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ