ขยะอิเล็กทรอนิกส์ (e-waste) กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นอย่างมากในยุคปัจจุบัน และมันกำลังกลายเป็นระเบิดเวลาที่รอการปะทุกลับมาทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่แพ้ขยะพลาสติกในตอนนี้

ได้มีการลงบันทึกไว้ว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกทิ้งในแต่ละปีกว่า 50 ล้านตัน ประกอบไปด้วยขยะพลาสติก 20% และคาดว่าปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์จะเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวถึง 110 ล้านตันในปี 2050 ทาง UN ไม่นิ่งนอนใจจึงได้ออกแคมเปญ ‘PolyCE’ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากคณะกรรมาธิการยุโรปรณรงค์ให้ผู้บริโภคหันมาเลือกใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตมาจากขยะรีไซเคิลมากขึ้น และเรียกร้องให้ผู้ผลิตใช้พลาสติกให้น้อยลง

Ruediger Kuehr ผู้อำนวยการโครงการยั่งยืนของมหาวิทยาลัย United Nations กล่าวว่า หากเราไม่เปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจใหม่ โลกของเราจะมีขยะอิเล็กทรอนิกส์กว่า 110 ล้านตันในปี 2050 แน่ ๆ ขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้นในทุก ๆ ปี เขาอธิบายเพิ่มอีกว่าเพราะในปัจจุบันพลาสติกที่ถูกใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อการรีไซเคิล ทำให้มันถูกทิ้งไว้ที่สุสานขยะเป็นจำนวนมาก ยิ่งเทคโนโลยีก้าวหน้าไปมากเท่าไหร่จำนวนขยะอิเล็กทรอนิกส์ก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

การเปลี่ยนแปลงนี้อาจเกี่ยวข้องกับระบบการสื่อสารของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป (ยุค 5G) การรีไซเคิลพลาสติกจากขยะอิเล็กทรอนิกส์อาจช่วยลดกระบวนการการผลิต หรือค่าใช้จ่ายบางส่วนได้เช่นกัน

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาโลกของเราหมุนไปเร็วมาก ประชากรเปลี่ยนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของพวกเขาบ่อยกว่าที่เคยนอกจากนี้สุสานขยะอิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาคแอฟริกาและเอเชียยังไม่ได้รับการจัดการที่ดีเท่าที่ควร นั้นทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องอาจได้รับสารพิษ เช่น สารปรอท ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ร้ายแรงสำหรับผู้ที่ใช้เตารีดบัดกรีเพื่อกำจัดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เช่นกัน

พลาสติกเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลายชนิดแต่การแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมก็เป็นเรื่องที่ทุกคนจำเป็นต้องรับผิดชอบเช่นกัน การเรียกร้องนี้อาจจะเพิ่งเริ่มต้นขึ้น แต่เชื่อเถอะว่ามันจะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่แก่โลกของเราในอนาคตได้

อ้างอิง BBC News

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส