ถึงแม้ว่าความสามารถในการได้ยินเสียงจะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อเวลาผ่านไปความสามารถดังกล่าวก็จะลดลงไปเรื่อย ๆ ตามอายุ แต่รู้หรือไม่ ว่าการฟังเสียงดังตั้งแต่ที่คุณอายุยังน้อย จะบั่นทอนประสิทธิภาพการได้ยินเร็วยิ่งขึ้น

ผู้คนส่วนมากมักจะใช้เวลาไปกับการฟังเพลงเสียงดังไม่ว่าจะเป็นในคอนเสิร์ต งานเลี้ยง เทศกาลดนตรี หรือแม้แต่หูฟัง หรือลำโพงที่ห้องของคุณ แน่นอนว่าการเปิดเพลงที่คุณชอบดัง ๆ แล้วร้องไปพร้อม ๆ กับมันป็นความสนุกที่หลายคนทำกัน แต่รู้ไหมการฟังเพลงที่ดังเกินไปอาจทำให้คุณหูตึงเร็วกว่าที่ควร

ทำไมเสียงดังถึงส่งผลต่อการได้ยิน?

อย่างแรกสิ่งที่ควรรู้คือปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการหูตึง หรือสูญเสียการได้ยินมีอยู่ด้วยกัน 4 แบบ

  1. ตัวนำการสั่นสะเทือนของเสียงในหูเสียหาย
  2. ประสาทสัมผัสทางการได้ยินเสีย
  3. สูญเสียการได้ยินแบบผสม
  4. ความผิดปกติของเส้นประสาทส่วนปลายของหู

ซึ่งการฟังเสียงดังเป็นหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดการสูญเสียการได้ยินในรูปแบบที่ 2 การสูญเสียประสาทสัมผัสทางการได้ยิน จะเกิดขึ้นเมื่อหูชั้นในได้รับความเสียหาย ผลกระทบส่วนมากจะเกิดกับเซลล์ขนเส้นเล็ก ๆ ที่มีหน้าที่ในการรับประสาทสัมผัสในหูชั้นในของคุณ (stereocilia) เมื่อเซลล์เหล่านั้นเกิดความเสียหาย กระแสประสาทที่จะถูกส่งเข้าไปแปรผลในสมองของคุณก็จะเปลี่ยนไป

การสูญเสียการได้ยินจากเสียงดังอาจเกิดขึ้นเพียงแค่ชั่วคราว หรือส่งผลถาวรเลยก็ได้คุณอาจจะเคยเจอเหตุการณ์ดังกล่าวเวลาที่ได้ยินเสียงดัง ๆ ถึงแม้ว่าคุณจะไม่รู้สึกอะไรก็ตามแต่ในขณะนั้นหูคุณดับไปแล้ว เหตุการณ์เช่นนี้มักพบได้บ่อยเวลาไปร่วมคอนเสิร์ต บางทีคุณอาจรู้สึกเหมือนได้ยินเสียงนั้นในระยะไกล ทั้ง ๆ ที่มันดังมาก หรือไม่ได้ยินอะไรเลยไปชั่วขณะ การได้รับผลกระทบเช่นนี้ซ้ำ ๆ เป็นการทำลายเซลล์ภายในหูโดยที่คุณไม่รู้ตัว

แต่ฉันไม่ได้เปิดหูฟังเสียงดังขนาดนั้นนะ?

หลายคนมีความคิดแบบนี้ ซึ่งคนเหล่านั้นมักไม่รู้ว่าผลกระทบจากหูฟังของพวกเค้าอาจให้ผลเช่นเดียวกับการฟังคอนเสิร์ตได้ ความดังที่เราได้จากหูฟังมากสุดอยู่ที่ 139 เดซิเบล ตามบันทึกของ Noise & Health ซึ่งมากกว่าระดับเสียงที่แนะนำ (ที่มีค่าอยู่ที่ 60 – 85 เดซิเบล เท่านั้น) และโดยเฉลี่ยเราจะเปิดระดับเสียงหูฟังอยู่ที่ 94 -110 เดซิเบล ในขณะที่คอนเสิร์ตมีค่าระดับเสียงอยู่ที่ 130 เดซิเบล

ในความเป็นจริง เราได้รับคำแนะนำให้ฟังเพลงอยู่ที่ระดับ 85 เดซิเบล (เป็นค่าที่ฟังได้ 8 ชม./วันได้โดยไม่ได้รับอันตราย) แต่น่าเสียดายที่ความสัมพันธ์ระหว่างระดับเสียง และระยะเวลาไม่ได้แปรผันตรงกันอย่างที่เราเข้าใจ ตามข้อมูลจากกรมควบคุมและป้องกันโรคทุก ๆ การเพิ่มขึ้น 3 เดซิเบล ความปลอดภัยของระยะเวลาในการฟังจะถูกลดลงครึ่งหนึ่ง ดังนั้นที่ 88 เดซิเบลคุณจะสามารถฟังได้อย่างปลอดภัยเพียงแค่ 4 ชม. ในขณะที่ 91 เดซิเบลจะเหลือเวลาเพียงแค่ 2 ชม. เท่านั้น

อย่างไรก็ตามข้อมูลเหล่านี้เป็นเพียงการเตือน แต่หากคุณอยากได้รับคำแนะนำที่ดีในการรักษาการได้ยินขงคุณไว้ล่ะก็เราแนะนำให้คุณลดระดับเสียงหูฟังของคุณลงมาสักหน่อย หรือไม่ก็เข้าปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญดีกว่าปล่อยให้หูของคุณถูกทำร้ายก่อนวัยอันควรนะคะ

อ้างอิง Cnet.com

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส