Update: ตอนนี้ทาง ดร.ปีเตอร์ กอร์แฮม ได้ออกมาปฏิเสธเนื้อหาบางส่วนในข่าวดังกล่าว โดยยืนยันว่าตนและคณะเพียงค้นพบสัญญาณแปลก ๆ ที่ย้อนศรทิศทางของอนุภาคปกติจำนวน 4 สัญญาณ ในช่วงการวิจัยของ ANITA ตามที่ได้รายงานข่าวเท่านั้น ส่วนทฤษฎีโลกคู่ขนานเป็นการสร้างโมเดลมาอธิบายจากนักวิทยาศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่งเมื่อปี 2018 ที่ ดร.กอ่ร์แฮมไม่ได้มีส่วนร่วมมาก่อน

ซึ่งในขณะนี้ก็กลายเป็นเรื่องร้อนในโลกวิทยาศาสตร์ และนิตยสาร New Scientist เองก็โดนโจมตีอย่างมากในการพาดหัวข่าวที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นคำพูดของ ดร.กอร์แฮม เช่นกัน สรุปว่าพบปรากฏการณ์แปลก ๆ จริง แต่เขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสมมติฐานใด ๆ ที่นำมาอธิบายในขณะนี้ โดยการค้นพบของเขาได้ลงรายละเอียดไว้ตามลิ้งก์ด้านล่าง

https://arxiv.org/abs/1603.05218

อย่างไรก็ตามในข้อสมมติฐานที่เกิดขึ้นกับความประหลาดที่ค้นพบก็กำลังเป็นข้อสนทนาถกเถียงความเป็นไปได้ในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ ที่ส่วนใหญ่เชื่อว่าน่าจะมีคำอธิบายที่เข้าท่ามากกว่าเรื่องโลกคู่ขนาน และก็คงต้องรอการทดสอบซ้ำว่าการทดสอบของ ดร.กอร์แฮม อาจเป็นเพียงความผิดพลาดที่พบอนุภาคย้อนศรทิศทางก็เป็นได้ ตลอดจนต้องทบทวนโมเดลคำอธิบายของนักวิทยาศาสตร์อีกกลุ่มต่อไป ทั้งนี้ก็ยังเป็นเรื่องแปลกที่น่าสนใจในปรากฏการณ์ธรรมชาติที่คล้ายว่ามีการสลับทิศทางอย่างน่าพิศวง และน่าจะกระตุ้นความสนใจในการศึกษาเรื่องฟิสิกส์โลกคู่ขนานต่อไป

นิตยสารด้านวิทยาศาสตร์เก่าแก่อย่าง New Scientist ได้เผยเรื่องราวที่เหมือนหลุดออกมาจากหนังไซไฟอย่างไรอย่างนั้น เมื่อนักวิทยาศาสตร์ในโครงการศึกษาวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากนาซ่ากลุ่มหนึ่งได้เผยว่า บางทีพวกเขาอาจเคยได้พบปรากฏการณ์ที่อาจชี้ว่ามีโลกคู่ขนาน ที่สำคัญคือเวลาของมันเดินย้อนกลับหลังเสียด้วย

ใครนึกภาพไม่ออกเวลาที่เดินย้อนกลับหลัง ก็คล้ายตัวอย่างหนัง Tenet ของผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน ที่รถซึ่งพลิกคว่ำไปแล้วกลับหมุนย้อนมาวิ่งถอยหลังเหมือนไม่เคยเกิดอะไรขึ้นนั่นล่ะ แต่ที่พวกนักวิทยาศาสตร์ค้นพบเขาไม่ได้เห็นชัด ๆ และเข้าใจง่าย ๆ แบบนั้นหรอกนะ

ภาพจากตัวอย่างหนัง Tenet ซึ่งเหมาะกับการอธิบายแบบคนทั่วไป
ภาพจากตัวอย่างหนัง Tenet ซึ่งเหมาะกับการอธิบายแบบคนทั่วไป

เรื่องนี้เกิดขึ้นกับทีมนักวิจัยในพื้นที่แอนตาร์กติกหรือขั้วโลกใต้ นาม ดร.ปีเตอร์ กอร์แฮม (Peter Gorham – ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์จาก University of Hawaiʻi) กับทีมงาน ในปฏิบัติการ Antarctic Impulsive Transient Antenna (ANITA) ที่ได้รับการสนับสนุนจากนาซ่า พวกเขาได้ทำภารกิจใช้บอลลูนติดเสาสัญญาณเพื่อทำการสแกนหาอนุภาคพลังงานสูงที่เป็นลักษณะสำคัญของเทหวัตถุจากนอกโลก ซึ่งอาจปรากฏอยู่สักที่ในผิวน้ำแข็งขนาดใหญ่หลายล้านตารางกิโลเมตรของทวีปแอนตาร์กติกา พวกเขาเคยทำการทดสอบนี้มาแล้ว 2 ครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาแต่ไม่พบอะไร ซ้ำยังเจอกับสัญญาณรบกวนที่ไม่เกี่ยวข้องด้วย และเหตุการณ์ที่พวกเขาพบก็เกิดในครั้งที่ 3 ของปฏิบัติการ

ดร.ปีเตอร์ กอร์แฮม
ดร.ปีเตอร์ กอร์แฮม
ภาพบอลลูนที่ทำการกวาดสัญญาณสำรวจ
ภาพบอลลูนที่ทำการกวาดสัญญาณสำรวจ
ดร.ปีเตอร์ กอร์แฮม อธิบายการทำงานของ ANITA
อนุภาคพลังงานสูงคืออะไร? ทำไมต้องหาที่ขั้วโลก?
อนุภาคพลังงานสูงมักเกิดจากการระเบิดที่ปลดปล่อยพลังงานมหาศาล ที่ปล่อยประจุต่าง ๆ ออกมา เช่น ไอออน อิเล็กตรอน โปรตอน)

ซึ่งอนุภาคพลังงานสูงที่เรารู้จักกันดีคือ อนุภาคพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์ (Solar energetic particle หรือ SEP) ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิด ปรากฏการณ์พายุสุริยะ (Solar Storm) ซึ่งอนุภาคพลังงานสูงนี้อาจเกิดขึ้นได้ 2 แบบ

แบบแรกเกิดพร้อมกับ เปลวสุริยะ (Solar Flare) ซึ่งเป็นการระเบิดที่ชั้นบรรยากาศโครโมสเฟียร์ที่ลอยบาง ๆ อยู่รอบดวงอาทิตย์ ส่วนอีกแบบหนึ่งเกิดจากการที่ดวงอาทิตย์ ปลดปล่อยก้อนมวลสารจากโคโรนา (Coronal mass ejection หรือ CME) ที่ีมีความเร็วสูงพุ่งแหวกไปในกระแสลมสุริยะ (solar wind) ทำให้เกิดคลื่นกระแทก โดยอนุภาคพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์ก็จะเกิดขึ้นในบริเวณคลื่นกระแทกนี้ด้วย

อนุภาคพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์ Solar energetic particle

อนุภาคพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์นี้มีระดับพลังงานต่ำมาก เมื่อเทียบกับ รังสีคอสมิก (Cosmic Rays) ซึ่งเป็นรังสีแกมมาจากนอกโลกที่ถูกเร่งให้มีความเร็วเข้าใกล้ความเร็วแสงและพุ่งเข้าชนชั้นบรรยากาศของโลกในทุกทิศทุกทางตลอดเวลา ทำให้หลายครั้งที่อุปกรณ์ตรวจวัดรังสีคอสมิกที่ตั้งอยู่ใกล้ศูนย์สูตรของโลกจะไม่สามารถตรวจพบอนุภาคพลังงานต่ำ ๆ จากดวงอาทิตย์ได้ เพราะจะถูกสนามแม่เหล็กโลกโน้มนำไปยังบริเวณขั้วแม่เหล็กใกล้ขั้วโลก นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมทีมนักวิจัยถึงต้องหาร่องรอยอนุภาคพลังงานสูงต่าง ๆ มาศึกษาโดยมุ่งไปที่ขั้วโลกใต้ซึ่งเป็นแหล่งรวมการตกชนของอนุภาคพลังงานสูงจากนอกโลกด้วย

ในครั้งนั้นพวกเขาตัดสินใจว่าควรทำการตรวจสอบข้อมูลในพื้นที่เดิมซ้ำอีกครั้ง โดยเฉพาะสัญญาณรบกวนที่ถูกมองข้ามในรอบก่อน ๆ และนับเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องมาก ๆ เพราะพวกเขาได้พบว่าสัญญาณรบกวนนั้นเมื่อวิเคราะห์อย่างถ้วนถี่ ก็เจอว่าเป็นสัญญาณหนึ่งของอนุภาคพลังงานสูงที่ปกติจะเกิดการตกหรือแผ่มาจากอวกาศสู่พื้นโลก แต่สิ่งที่ประหลาดออกไปสำหรับสัญญาณนี้ที่พบจนแทบเป็นไปไม่ได้เลยก็คือ

ลักษณะการเกิดของมันคล้ายการพุ่งจากพื้นโลกออกไปสู่อวกาศ ผิดจากอนุภาคพลังงานสูงทั่วไป

การค้นพบอนุภาคนี้เกิดขึ้นในปี 2016 และหลังจากที่กอร์แฮมและทีมงานแห่งมหาวิทยาลัยคอร์เนลได้เผยแพร่งานวิจัยดังกล่าว พวกเขาและกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ต่างได้เอาหลักฟิสิกส์ และทฤษฎีต่าง ๆ ที่พิสูจน์แล้วในปัจจุบัน พยายามมาอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว แต่ทว่าไม่มีกฎหรือทฤษฎีใดเลยที่สมเหตุสมผล นอกจากว่าสมมติฐานหนึ่งจะถูกยอมรับเสียก่อน

ไม่ใช่ทุกคนหรอกที่จะยอมรับสมมติฐานนี้ได้

ดร.ปีเตอร์ กอร์แฮม กล่าวกับนิตยสาร NEW SCIENTIST

เพราะทางเดียวที่จะอธิบายปรากฏการณ์นี้ได้ คือ การยอมรับว่ามีจักรวาลคู่ขนานที่เกิดร่วมกับการระเบิดครั้งใหญ่หรือ บิ๊กแบง มาพร้อมกับจักรวาลที่เรารู้จัก และจักรวาลคู่ขนานที่ว่านี้มีลักษณะตรงข้ามกับเราทุกประการ กล่าวคือ บวกคือลบ ซ้ายคือขวา และเวลาก็เดินแบบย้อนกลับหลัง ด้วย

บิ๊กแบง ได้ทำให้เกิดมี 2 จักรวาลขึ้น เมื่อ 13,800 ล้านปีก่อน และจักรวาลคู่ขนานนั้นก็มีการไหลของเวลาแบบย้อนกลับ เมื่อมองจากการรับรู้ของจักรวาลเรา 

อิบราฮิม ซาฟา หนึ่งในคณะวิจัยของ ANITA

มาถึงตรงนี้ก็ต้องเน้นย้ำก่อนหลังจากมีการตีโพยตีพายเป็นจริงเป็นจัง ว่านี่เป็นเพียงสมมติฐานที่กลุ่มวิจัยนี้เขามองว่าเป็นความเป็นไปได้หนึ่ง และรอการพิสูจน์ตรวจสอบจากนักวิทยาศาสตร์อื่น ๆ อีกทั้งสมมติฐานก็เป็นระดับล่าง ๆ สุดของการอ้างอิงด้วย ยังไม่ใช้ระดับที่จะไปตั้งทฤษฎี หรือถึงแม้จะเป็นทฤษฎีได้ก็ไม่ใช่ว่าจะเปลี่ยนแปลงในภายหลังไม่ได้ เอาเป็นว่าฟังหูไว้หูแล้วกัน

สำหรับโลกของวิทยาศาสตร์นั้น การพูดถึง พหุภพ หรือ Multiverse ซึ่งเป็นการพูดถึงการมีอยู่ของหลายจักรวาล เกิดขึ้นแบบจริงจังครั้งแรกในการสอนของ แอร์วิน ชเรอดิงเงอร์ ผู้วางรากฐานกลศาสตร์ควอนตัม เมื่อปี 1952 ซึ่งเขาเตือนทุกคนว่าสิ่งที่เขากำลังบอกอาจฟังดูบ้าอยู่สักหน่อย เพราะจากการคำนวณสมการของเขายืนยันว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีหลายเหตุการณ์แตกต่างกันเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นความจริงทั้งหมด

และสำหรับโลกของนิยายไซไฟที่เป็นรากฐานให้หนังไซไฟเกี่ยวกับโลกคู่ขนาน นักเขียนคนแรกที่นำศัพท์และคอนเซ็ปต์นี้ไปใช้ก็คือ ไมเคิล จอห์น มัวร์ล็อก ในนิยายปี 1963 เรื่อง The Sundered Worlds ซึ่งพูดถึงการเดินทางไปสำรวจแกแล็กซี่อื่นที่เผยความลับของการมีอยู่ของพหุภพ

ซึ่งในโลกภาพยนตร์ก็มีการนำแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ไปใช้ทั้งเรื่องจักรวาลคู่ขนาน พหุภพ และเรื่องของการย้อนกลับของเวลา โดยเรื่องล่าสุดที่น่าสนใจมากคือ Tenet ของคริสโตเฟอร์ โนแลน ที่กำลังเข้าฉายในเดือนกรกฎาคมนี้

ตัวอย่างหนัง และฉากเวลาเดินย้อนกลับหลัง

และคงต้องดูกันต่อไปว่าการพิสูจน์ปรากฏการณ์ที่ Peter Gorham ค้นพบนั้นจะมีบทสรุปอย่างไร เปลี่ยนมุมมองที่มีต่อโลกเราไปแค่ไหน หรืออาจมีคำอธิบายอื่น ๆ ที่เข้ามาแทนในอนาคต หักล้างข้อสมมติฐานนี้ได้ ก็ต้องติดตาม เพราะในขณะงานวิจัยของทีมคอร์เนลน่าจะได้รับการตรวจสอบศึกษาเพิ่มเติมด้วย

อ้างอิง1
อ้างอิง2
อ้างอิง3
อ้างอิง4
อ้างอิง5
อ้างอิง6

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส