กลุ่มแท่งหิน Stonehenge ที่ตั้งอยู่ ณ เมือง Wiltshire สหราชอาณาจักร จัดเป็นอนุสาวรีย์ที่มนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์สร้างขึ้น และก็ได้สร้างความฉงนสงสัย เป็นปริศนาแก่มนุษย์ยุคปัจจุบัน รวมถึงได้กลายเป็นประเด็นถกเถียงของนักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์จากทั่วโลกมายาวนานว่า คนในอดีตสามารถยกแท่งหินทรายจำนวน 15 ชิ้นที่มีลักษณะเป็นก้อนเหลี่ยม ความสูง 4 เมตร กว้าง 2.1 เมตร น้ำหนักต่อชิ้นราว 25 ตัน (หินชิ้นที่ใหญ่ที่สุดนั้นชื่อว่า Magaliths สูงกว่า 7 เมตรและหนัก 30 ตัน) ขึ้นไปวางเรียงกันเป็นวงกลมบนเนินเขาในช่วง 2,000-3,000 ปีก่อนคริสตกาลได้อย่างไร

(ภาพจาก The English Heritage)

ล่าสุดเมื่อวันพุธที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา คณะนักสำรวจและวิจัยของ The English Heritage ได้ออกมาประกาศการค้นพบแหล่งที่มาของหินทราย Sarsen Stones ซึ่งถูกนำไปสร้างเป็นอนุสาวรีย์หิน Stonehenge หินชนิดนี้ค้นพบได้ในป่า West Wood ใกล้กับเมือง Marlborough ที่ห่างออกไปราว 15 ไมล์ (หรือราว 24 กิโลเมตร ) จากจุดที่ Stonehenge ตั้งอยู่ โดยพวกเขาได้อธิบายเพิ่มว่า หินที่ Stonehenge นั้นเชื่อว่าสร้างโดยมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ ยุค Neolithic ประกอบไปด้วยหิน 2 ประเภท โดยหินชิ้นเล็กที่ถูกวางไว้บนหินแท่งใหญ่นั้น ถูกค้นพบก่อนหน้านี้แล้วว่าเป็นหินประเภท Bluestones ที่มาจากภูเขา Preseli ทางตอนใต้ของเวลส์

นักโบราณคดีสันนิษฐานมาตลอดว่า หินของ Stonehenge นั้นน่าจะมาจากแถบเมือง Marlborough แต่ไม่เคยมีหลักฐานที่พิสูจน์ทฤษฎีนี้ได้จนกระทั่งวันนี้ ตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดการค้นพบแหล่งที่มาของหิน Stonehenge ครั้งนี้ ก็คือ การได้ชิ้นส่วน “แกนหลัก” ชิ้นหนึ่งของหินกลับมา หลังจากนาย Robert หนึ่งในทีมผู้ขุดค้นพบสถานที่แห่งนี้ ได้ขอนำไปเก็บไว้ตามสิทธิ์ตั้งแต่ปี 1958 และเพิ่งนำส่งมอบคืนให้กับหน่วยงานที่ดูแลมรดกโลกแห่งนี้ ตามที่เขาเคยแจ้งไว้ว่า จะคืนตอนในวันเกิดอายุ 90 ปีของเขา

Archaeological excavations on Stonehenge in 1958.
ทีมผู้ขุดค้นพบ Stonehenge ในปี 1958 (ภาพจาก NY Times)
David Nash, a geomorphologist at University of Brighton, examining a core from Stone 58 that was stolen in the 1950s and was recently repatriated.
ชิ้นส่วนแกนกลางของหินที่ได้รับกลับคืนมา (ภาพจาก NY Times)
A missing piece of Stonehenge returned after 60 years helped unlock secrets of the stones.
ชิ้นส่วนแกนกลางของหินที่ได้รับกลับคืนมา (ภาพจาก CNN)

ทีมนักวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก The British Academy ได้นำชิ้นส่วนนี้ไปทดสอบด้วยปฏิกิริยาเคมีแล้วพบว่า ชิ้นหินที่ได้รับกลับคืนมามีองค์ประกอบทางเคมีเดียวกัน จึงทำให้เชื่อว่าน่าจะมาจากแหล่งต้นทางเดียวกันกับหินชิ้นอื่น ๆ ที่ Stonehenge นอกจากนั้น พวกเขาก็ยังทดสอบกับแบบเดียวกันกับหินต่าง ๆ ทั่วสหราชอาณาจักร ก่อนจะมาพบว่า หินมีองค์ประกอบทางเคมีตรงกันกับหินที่มาจากป่า West Wood เมือง Marlborough มากที่สุด ป่าแห่งนี้มีพื้นที่ 960 เอเคอร์ที่เต็มไปด้วยดอกไม้สวยงามในช่วงหน้าร้อน และผู้คนมักจะชอบไปปั่นจักรยานหรือวิ่งเทรลกัน

Image
(ภาพจาก The English Heritage)

นี่เป็นการค้นพบที่น่าตื่นเต้นมากที่สุดอีกครั้งของศตวรรษที่ 21 ครับ เพราะวิทยาศาสตร์จะได้เข้าใจมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ Neolithic มากขึ้นกว่าแต่ก่อน” David Nash หัวหน้าทีมสำรวจจากมหาวิทยาลัย Brighton บอก

ทีมนักโบราณคดียังวิเคราะห์ถึงเหตุที่ Stonehenge มีหินสองประเภทที่ถูกพบในบริเวณนั้น อาจเป็นเพราะมีกลุ่มมนุษย์ในประวัติศาสตร์ 2 กลุ่มในช่วง 1,000 ปีนั้น สร้างอนุสาวรีย์แห่งนี้คนละช่วงเวลา นอกจากนั้น พวกเขาจะค้นหาคำตอบกันต่อไปว่า ทำไมมนุษย์ยุคประวัติศาสตร์ถึงเดินทางไกลถึง 24 กิโลเมตรเพื่อนำหินทราย Sarsen Stones มาจากป่า West Wood ทั้ง ๆ ที่หลายจุดที่ใกล้กว่าก็มีหินชนิดนี้เหมือนกัน

Bluebells blooming in West Woods, England, in April 2011.
ภาพป่า West Wood (ภาพจาก CNN)

ข้อสันนิษฐานของเราตอนนี้คือ พวกมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์อยากเลือกขนาดหินที่ใหญ่ที่สุดเพื่อนำมาสร้างค่ะ นั่นทำให้หิน Bluestone ที่เล็กกว่าและถูกนำมาพาดไว้ด้านบนอีกทีนั้น ถูกนำมาจากสถานที่ที่ใกล้กว่า หลังจากนี้ในเฟสต่อไป เราจะค้นหาวิธีการที่พวกเขานำหินมาที่เนินนี้ รวมถึงวิธีการสร้างอนุสาวรีย์หินต่อไป” Susan Greaney หนึ่งในทีมศึกษากล่าวในแถลงของ The English Heritage

ซึ่งตอนนี้แม้ทีมนักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์จะยังไม่รู้ว่ามนุษย์โบราณขนหินมาอย่างไร แต่พวกเขาก็ได้ตัดทฤษฎีว่า หิน Stonehenge ถูกค้นมาจากหมู่บ้าน Avebury ทางตอนใต้ของอนุสาวรีย์ทิ้งไปแล้วเรียบร้อย หลังจากพบสถานที่ที่เป็นแหล่งที่มาอย่างแน่นอนแล้ว

How Stonehenge was built - Travel and Adventure - Argentina Expats ...
ภาพสันนิษฐานถึงวิธีการสร้างอนุสาวรีย์หิน Stonehenge

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส