หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องการส่งแผ่นจานทองคำไปกับยานสำรวจอวกาศ 2 ลำ วอยเอเจอร์ 1 และ 2 ที่บันทึกคำทักทายภาษาไทยสู่ห้วงอวกาศเมื่อ 40 กว่าปีก่อนกันมาบ้าง ปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก บวกกับไอเดียสร้างสรรค์แหวกแนวของเยาวชนไทย การนำเสียงขึ้นไปยังอวกาศจึงจะเกิดขึ้นอีกครั้ง ทว่าแทนที่จะไปเพียงแค่ประโยคสั้น ๆ คราวนี้กลับไปเป็นเพลงเลยทีเดียว

“ความฝันกับจักรวาล” ของศิลปินชื่อดัง Bodyslam คือชื่อของบทเพลงนั้น และนับเป็นเพลงไทยเพลงแรกที่จะได้ขึ้นไปสู่อวกาศ ด้วยเนื้อหาที่กล่าวถึงชีวิตในเชิงปรัชญา การตั้งคำถามถึงผู้สร้างชีวิต ทั้งยังสะท้อนถึงความมุ่งหมายใฝ่รู้และใฝ่ฝัน อันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ จึงได้รับเลือกจากกลุ่มนักวิจัยเยาวชนไทย นำไปแปลงเป็นข้อมูลเชิงดีเอนเอ (DNA Storage) และจะนำส่งขึ้นไปในอวกาศเพื่อทดสอบต่อไป

ภารกิจอวกาศนี้ เกิดจากแรงผลักดันที่ต้องการทำงานวิจัยเทคโนโลยีขั้นสูง (Frontier Science) แบบหลอมรวมข้ามศาสตร์ (Anti-disciplinary) และเกิดจากความร่วมของสเปซทีเอช Freak Lab และ บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด และ MIT Media Lab ทั้งยังได้รับคำปรึกษาจากมหาวิทยาลัยระดับโลกอย่าง MIT และ Harvard แสดงให้เห็นว่าการสำรวจอวกาศสามารถนำวิทยาศาสตร์กับศิลปะมาหล่อรวมกันได้

สำหรับกระบวนการแปลงเพลงในเป็นข้อมูลเชิงดีเอนเอ หรือ ดีเอนเอสังเคราะห์นั้น เกิดขึ้นจากแนวความคิดเกี่ยวกับการบันทึกข้อมูลในโลกปัจจุบันซึ่งนับวันจะยิ่งไม่เพียงพอต่อข้อมูลที่เพิ่มล้นขึ้นทุกที นักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกจึงได้หันมาสนใจการเก็บข้อมูลในรูปแบบทางชีววิทยาแทน

นายชยภัทร อาชีวระงับโรค (ปั๊บ) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวันผู้พัฒนาอัลกอริทึมเพื่อนำเพลงความฝันกับจักรวาล มาแปลงเป็นคู่เบสใน DNA อธิบายว่า การเก็บข้อมูลในคอมพิวเตอร์ ใช้การแทนที่ข้อมูลลงในเลขฐานสองคือ 0 และ 1 แต่ในทางชีววิทยา DNA ใช้การเก็บรหัสทางพันธุกรรมในรูปของคู่เบส Adenine Cytosine Guanine และ Thymine ทำให้เก็บข้อมูลได้มหาศาลกว่ามาก

กระบวนการแปลงข้อมูลเริ่มจากการนำเพลงความฝันกับจักรวาลมาแปลงเป็นโน้ตดนตรีสากลอย่างง่าย จากนั้นใช้อัลกอริทึมที่พัฒนาขึ้นมา เปลี่ยนโน้ตให้กลายเป็นเลขฐานสอง แล้วนำเลขฐานสองไปแปลงเป็น DNA อีกที

แต่การเก็บข้อมูลรูปแบบนี้ก็มีข้อจำกัด ทีมนักวิจัยเยาวชนจึงต้องพัฒนาอัลกอริทึมอีกชุดเพื่อเช็กความถูกต้องของข้อมูล รวมทั้งยังต้องตัดต่อ DNA และออกแบบโครงสร้างทางโมเลกุล เพื่อให้ DNA ไม่ให้เกิดการเสียหาย และการส่งขึ้นไปในอวกาศก็เพื่อจะดูว่า DNA เหล่านี้มีความทนทานหรือไม่อย่างไร ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการเก็บบันทึกข้อมูลและงานด้านอวกาศต่อไปในอนาคต

เพลง “ความฝันกับจักรวาล” จะเดินทางขึ้นสู่อวกาศไปกับยาน New Shaperd ของ Blue Origin ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบริษัท  มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี บริษัท โดยเดิมมีกำหนดเดินทางไปกับ Blue Origin ในภารกิจ New Shepard mission (NS-13) เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2020 เวลา 22:00 ตามเวลาประเทศไทย แต่ได้เลื่อนออกไปและยังมีกำหนดไม่แน่ชัดเนื่องจากปัญหาทางเทคนิค ผู้ที่สนใจสามารถถติดตามข่าวสารและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เพจเฟซบุ๊กของ mu Space Corp และเว็บไซต์ spaceth.co

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส