‘CPF’ หรือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารจำกัด (มหาชน) เปิดโครงการ Thai Food – Mission to Space โดยดำเนินโครงการวิจัยกับ NANORACKS LLC (นาโนแร็กซ์) และ บจก. มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี (MU Space) เพื่อให้ไก่ไทยผ่านการรับรองความปลอดภัยมาตรฐานอวกาศ ให้เป็นมาตรฐานที่สูงระดับเดียวกับที่นักบินอวกาศทานได้

โดยการวิจัยครั้งนี้ จะทำให้ได่ไทยของแบรนด์ CP สามารถผ่านมาตรฐานความปลอดภัยที่มากกว่าระดับโลกทั่วไป ขึ้นไปถึงมาตรฐานระดับอวกาศ (Space Food Safety Standard) ตามหลักเกณฑ์ความปลอดภัยด้านอาหารขององค์กร NASA

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ กล่าวว่า การทานอาหาร คือการลงทุนในสุขภาพของแต่ละคน ถ้าอาหารที่ทานนั้นถูกสุขลักษณะ และสะอาด ก็จะทำให้เราเป็นโรคได้ยากขึ้นไปด้วย ดังนั้นในการทำมาตรฐานไก่ของ CP จึงได้ทำมาตรฐานให้ไปได้ไกลเกินระดับโลก แต่ให้ปลอดภัยพอจะขึ้นไปบนอวกาศได้เลย ผ่านการทำมาตรฐานความปลอดภัยทั้งของ CP เอง, ของไทย และระดับโลกรวม 6 มาตรฐาน

ซึ่งการจะผ่านมาตรฐานทั้งหมดนี้ได้ จะต้องทำหลากอย่างมาก เช่นมีการตรวจ DNA ไก่ด้วย Lab และอุปกรณ์ที่สามารถตรวจได้ลึกเท่าตรวจในคน, อาหารไก่ทั้งหมดใน Feed Mill มีคุณภาพที่ดีกว่าปกติ ด้วยอาหารสัตว์ 4 สูตรใน 42 วันที่เลี้ยง (พร้อมวิตามินกว่า 17 ชนิด), คัดสรร Probiotic จาก 125,000 สายพันธุ์เหลือ 10 สายพันธุ์ไก่มีคุณประโยชน์มากขึ้น, ห้องที่ใช้ในการตรวจสอบวัตถุดิบในอาหารสัตว์ทั้งหมดอย่างละเอียด รวมถึงฟาร์มไก่ที่เลี้ยง ที่มีการควบคุม ปรับอากาศตลอดเวลา ใช้ทั้ง AI, iOT ในการดูแลไก่กว่า 10 ชนิด ทำให้สามารถตรวจสอบได้ว่าในแต่ละวันไก่ทานอะไรไปเท่าไหร่ และรู้ว่าถ้าเกิดปัญหาใด ๆ ขึ้น จะเป็นเพราะอะไร

โดยในทุกขั้นตอนจะทำให้ไก่นั้นสด สะอาด และปลอดจากสิ่งเจือปนให้มากพอจะขึ้นไปอยู่บนอวกาศได้ ในขณะเดียวกัน ทางซีพีก็อยากสร้างความเชื่อมั่นให้มากยิ่งขึ้นไปอีก ด้วยการร่วมมือกับทาง NANORACKS LLC และ MU Space ในการทำวิจัยร่วมกับศูนย์วิจัยด้านอาหารอวกาศของสหรัฐฯ ในการทำให้สามารถส่งไก่ไทยไปสู่อวกาศได้จริง ให้อาหารไทยขึ้นสู่อวกาศได้ ด้วยเมนู ‘กะเพราไก่’

Michael James Massimino (ไมเคิล เจมส์ แมสสิมิโน) อดีตนักบินอวกาศของ NASA ที่เคยปฏิบัติหน้าที่บนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) กล่าวถึงการทำงาน และการใช้ชีวิตบนอวกาศว่าการทำงานบนสภาพไร้แรงโน้มถ่วงนั้นแตกต่างจากการอยู่บนโลก รวมถึงเรื่องของอาหารก็เช่นกัน โดยอาหารในการปฏิบัติหน้าที่ จะต้องอยู่ให้ได้อย่างน้อย 6 เดือน โดยเก็บอาหารไว้ในชั้น (Drawer) และอาหารอยู่ในซองซีลอีกที ซึ่งทุกอย่างจะอยู่ในห่อ และแกะมาประกอบเป็นเมนูในสภาวะสุญญากาศ ซึ่งปัจจุบันมีการให้เลือกนำอาหารที่ชอบขึ้นไปทานบนอวกาศได้แล้วด้วย อย่างของไมเคิลเองก็เลือกเป็นขนมที่ชอบทานในบ้านเกิด ซึ่งไม่ว่าจะเป็นอาหารแบบใด ก็จะต้องมีความปลอดภัยอย่างมาก อาหารทุกอย่างต้องผ่านการทดสอบโดยแลปก่อน ห้ามไม่ให้อาหารมีสิ่งปนเปื้อนเพราะถ้าป่วยในอวกาศจะลำบากแน่นอน หวังเช่นกันว่าความสะอาดแบบนี้ก็น่าจะมีในโลกเราด้วย ไม่ใช่แค่บนอวกาศ และในอวกาศ

Michael James Massimino อดีตนักบินอวกาศของ NASA ที่เคยปฏิบัติหน้าที่บนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS)

นอกจากนั้นในเรื่องของรสชาติ เนื่องจากบนอวกาศที่อยู่ในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง ทำให้การส่งกลิ่นของอาหารเป็นไปได้ยาก และทำให้รสชาติของอาหารนั้นจะบางลงกว่าปกติ ทำให้นักบินอวกาศสนใจในอาหารที่มีรสจัดด้วย

Vickie Kloeris (วิกกี้ โคลเออร์ริส) นักวิทยาศาสตร์ที่เคยทำงานในห้องวิจัยของ NASA กล่าวว่า จากการทำงานด้านนี้มากว่า 34 ปี ทำให้ทราบว่าในการเตรียมอาหารขึ้นสู่อวกาศนั้นต้องเตรียมให้ดี และต้องอยู่ในอุณหภูมิห้องได้นาน จึงต้องทำอาหารเป็นแบบ Freeze Dried Canned food (อาหารกระป๋อง แต่บรรจุอยู่ในถุง เพื่อประหยัดน้ำหนักและพื้นที่) ที่ต้องห่อเป็นพิเศษ เพื่อให้นักบินอวกาศทานได้ง่าย (เพราะในสภาวะไร้น้ำหนัก จะทานอะไรก็ยากกว่า ถ้าตักออกมาด้านนอก) แม้กระทั่งการดื่มน้ำบนอวกาศต้องมีการป้องกันอย่างดี (ไม่ให้รั่วออก) แล้วดูดผ่านหลอดแทน

นอกจากนั้น อาหารเป็นเหมือนสิ่งย้ำเตือนถึงบ้านเกิด (หรือบนโลก) โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่อยู่บนอวกาศนาน ๆ และการทานข้าวร่วมกันถือเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญในการสร้างช่วงเวลาร่วมกัน ทำให้อาหาร และชนิดของอาหารเป็นอีกส่วนสำคัญสำหรับนักบินอวกาศเลยก็ว่าได้ โดยนักบินอวกาศสามารถนำอาหารขึ้นไปทานเองได้ในโอกาสพิเศษเช่นวันคริสต์มาส หรือวันเกิด (Preference Food – อาหารที่นักบินเลือกเอาขึ้นไปอวกาศด้วย) ซึ่งถ้านักบินอวกาศป่วยในอวกาศจะสร้างผลเสียที่หนักกว่าบนโลก เช่นวันทำงานที่เสียไป ซึ่งทำให้เสียต้นทุนในการส่งคนขึ้นอวกาศไปโดยสูญเปล่าค่อนข้างมาก จึงต้องมีการดูแลความสะอาดให้ดี ซึ่งไม่ใช่แค่แบคทีเรีย แต่ต้องรวมสารเคมีที่ปนเปื้อนด้วย

และด้วยความที่อาหารบนอวกาศ จะมีรสชาติและกลิ่นที่เบาลงได้ เพราะกลิ่นสามารถกระจายไปได้หลายทาง ถ้าอาหารไทยซึ่งปกติมีรสจัด ขึ้นไปบนอวกาศได้บ้าง ก็จะเป็นการดีกับทั้งนักบินอวกาศ (ที่ได้ลองอาหารไทยที่มีรสเผ็ด หรือรสจัด) และกับทั้งเศรษฐกิจไทยเองด้วย

ทั้งนี้ ภายในงานได้มีการเสวนาเพิ่มเติมเรื่องอาหารในอวกาศ ว่าทำไมถึงต้องสะอาดให้ได้มากที่สุด ซึ่งประกอบไปด้วย รศ.นพ. ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาติไทย, น.สพ.สมชวน รัตนมงคลานนท์ อธิิดีกรมปศุสัตว์, ดร.โศรดา วัลภา รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และนายอาจวรงค์ จันทมาส นักสื่อสารวิทยาศาสตร์และพิธีกรรายการ ‘ใด ๆ ในโลกล้วนฟิสิกส์’ อีกด้วย

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส