กลับมาเป็นข่าวกันอีกครั้งกับ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ที่ดูเหมือนจะตัดสินใจซื้อ Twitter ในราคาเดิมตามที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่แรกก่อนที่จะขึ้นโรงขึ้นศาลกัน แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่มีใครทราบหรอกว่าจะจบแบบไหน ตราบใดที่ยังไม่มีการเซ็นสัญญาจ่ายเงินกัน มันก็ยังคงพลิกไปพลิกมาแบบนี้ได้อยู่เรื่อย ๆ

สำหรับหลายคนแล้วมัสก์เป็นบุคคลตัวอย่างของผู้นำที่ทำงานหนัก หัวก้าวหน้า สร้างนวัตกรรมอันล้ำสมัย เรียกว่าเป็นอัจฉริยะคนหนึ่งของยุคสมัยปัจจุบันเลยก็ได้ เป็นคนที่สื่อมักให้ความสนใจเสมอไม่ว่าจะขยับตัวไปไหน แต่สำหรับบางคนก็เห็นต่างออกไป มองว่าเขาเป็นแค่พวกหลงตัวเอง นิสัยแย่ ที่มีเงินในธนาคารเยอะมากเพียงเท่านั้น บางทีเขาก็ออกมาด่าคนอื่นว่า “งี่เง่า” (Idiot) หรือ “ทึ่ม” (dumb) ได้อย่างไม่แยแส (ยกตัวอย่างช่วงต้นปี 2020 ที่โควิด-19 กำลังระบาดแล้วเขาออกมาทวีตว่าคนที่กังวลกับโควิด-19 นั้นเป็นคนที่ “ทึ่มมาก”)

ชายคนหนึ่งที่ถูกจับจ้องอยู่ตลอดเวลา บางมุมก็ดูเป็นผู้นำที่สร้างแรงบันดาลใจ บางมุมก็ดูเป็นชายเจ้าอารมณ์ที่ปากพล่อยไม่แคร์คนอื่น ช่างเป็นเรื่องที่น่าแปลกแต่ในขณะเดียวกันก็ชวนสงสัย ตลอดเส้นทางของชีวิตเขาถูกเขียนไว้ในหนังสือ ‘Elon Musk: Tesla, SpaceX, and the Quest for a Fantastic Future’ (มีแปลเป็นภาษาไทยชื่อว่า ‘อีลอน มัสก์’ เลยครับ) สามารถนำมาแยกออกได้เป็นช่วงสำคัญได้ประมาณ 6 ช่วง และในแต่ละช่วงนั้นก็จะมีทั้งด้านดี ไม่ดี และแย่ ในนั้นด้วย ซึ่งหลังจากทราบเรื่องราวทั้งหมดแล้วก็พอจะสรุปได้ว่า ชายคนนี้เป็นคนยังไงกันแน่

ช่วงวัยเด็ก

ดี : มัสก์เป็นเด็กที่ชอบการเรียนรู้เป็นอย่างมาก โหยหาการเรียน อ่านหนังสือได้ทั้งวัน ตอนอายุ 12 ขวบ เขาโน้มน้าวให้พ่อซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องแรก (Commodore VIC-20) ให้เพื่อจะได้เรียนรู้การใช้งานของมันต้องอ่านคู่มือหนาปึ้กและจากคำบอกเล่าว่าที่จริงแล้วต้องใช้เวลากว่า 6 เดือนถึงจะสามารถเรียนรู้ภาษา BASIC ที่ใช้สั่งงานคอมพิวเตอร์ตัวนี้ได้อย่างเชี่ยวชาญ เขาใช้เวลา 3 วันเพื่ออ่านคู่มือ ทั้งวันทั้งคืนจนจบ จนสามารถสร้างเกม ‘Blastar’ ขึ้นมาด้วยคอมพิวเตอร์เครื่องนี้ได้สำเร็จ และนำไปขายได้เงินมากว่า 500 เหรียญสหรัฐฯ

ไม่ดี : เขาถูกล้อเลียนและกลั่นแกล้งเสมอระหว่างที่โตขึ้นมา บางทีโดนทำร้ายร่างกายด้วย มีครั้งหนึ่งที่โดนทำร้ายหนักมากจนเขาสลบแล้วไปรู้ตัวอีกทีที่โรงพยาบาลและรักษาตัวอีกเป็นอาทิตย์

แย่ : เรื่องเกี่ยวกับพ่อของมัสก์ดูเป็นส่วนด้านมืดของเราที่คนไม่ค่อยรู้สักเท่าไหร่ ดูเหมือนว่าพ่ออาจจะเป็นคนที่ใช้ความรุนแรง ถ้าไม่ทางร่างกายก็ด้วยคำพูด เพราะในหนังสือเล่มนี้ระหว่างที่พูดเกี่ยวกับพ่อ เขาปฏิเสธที่จะพูดเรื่องนี้ มีเพียงคำกล่าวสั้น ๆ ประมาณว่า “เขาสามารถทำให้ชีวิตมันห่วยได้ ผมไม่รู้ว่ามนุษย์คนหนึ่งจะกลายเป็นอย่างเขาได้ยังไงกัน”

ธุรกิจแรก

ดี : เขาออกมาจากแอฟริกาใต้ด้วยตัวคนเดียวและไม่มีใครเลย ย้ายไปอยู่แคนาดาได้พักหนึ่งก่อนจะมาเจอพี่ชายที่พาโลอัลโต รัฐแคลิฟอร์เนีย ทั้งคู่ร่วมกันสร้างสตาร์ตอัปขึ้นมาอันหนึ่งชื่อว่า ‘Zip2’ ในวัย 24 ปี เป็นไกด์เมืองแบบออนไลน์สำหรับหนังสือพิมพ์หัวใหญ่ ๆ อย่าง ‘The New York Times’ และ ‘Chicago Tribune’ หลังจากนั้น 3 ปีเขาขายบริษัทนั้นออกไปด้วยมูลค่ากว่า 307 ล้านเหรียญ

ไม่ดี : ถึงแม้ว่าบริษัทที่พวกเขาสร้างจะประสบความสำเร็จด้วยดี แต่ก็มีปัญหากับนักลงทุนเรื่องแนวทางการทำธุรกิจด้วยเช่นเดียวกัน ยังไม่พอ ระหว่างนี้ยังเกิดการปะทะกันภายในบริษัท มัสก์วางแผนขึ้นเป็นซีอีโอ เพราะไม่อยากให้ Zip2 ไปควบรวมกับ CitySearch แต่ภายหลังบริษัทก็โดนขายให้ Compaq อยู่ดี

แย่ : สัญญาณบางอย่างเกี่ยวกับมัสก์เริ่มชัดเจนขึ้น หลังจากที่ Zip2 ได้เงินลงทุนและจ้างพนักงานมาทำงานได้แล้ว โปรแกรมเมอร์ที่มาเขียนโค้ดต่อจากมัสก์บอกว่าต้องมีการแก้ไขโค้ดหลายส่วนเลย เพราะมัสก์แม้จะเป็นโปรแกรมเมอร์ที่เก่ง แต่วิธีการเขียนของเขายุ่งเหยิงมากและถ้ามีปัญหาจะแก้ไขได้ยาก แต่มัสก์ไม่ชอบให้คนอื่นมายุ่งกับสิ่งที่เขาทำ พอหมดวันหลังจากที่โปรแกรมเมอร์แก้โค้ดของเขาแล้ว เขาก็จะกลับมาแก้โค้ดคืนโดยไม่บอกก่อน นอกจากนั้นยังเป็นพวกเจ้ากี้เจ้าการ จุกจิก และตำหนิเพื่อนร่วมงานด้วยภาษาที่หยาบคาย

หนุ่มผู้ร่ำรวย

ดี : เขาตัดสินใจซื้อรถยนต์ McLaren ที่มีเพียง 62 คันบนโลก และใช้เงินส่วนใหญ่ที่ได้มาเพื่อไปลงทุนในธุรกิจอันต่อไป ซึ่งได้เปลี่ยนโฉมหน้าของอุตสาหกรรมการเงินออนไลน์แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน มีแต่คนบอกว่ามันเป็นเรื่องไร้สาระที่คนมั่นใจมากพอที่จะใช้ธนาคารออนไลน์ เขาก่อตั้งบริษัท x.com และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก มากกว่าคู่แข่งอย่าง Paypal (ที่ก่อตั้งโดย ปีเตอร์ ธีล (Peter Thiel)) สุดท้ายก็ตัดสินใจควบรวมในเดือนเมษายน ปี 2000 โดยมีมัสก์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และซีอีโอ
ไม่ดี : หลายคนอาจสงสัยว่ามัสก์ไม่ได้ร่วมก่อตั้ง Paypal หรอกเหรอ? ไม่ใช่ครับ หลังจากที่ควบรวมและมัสก์ขึ้นเป็นซีอีโอของบริษัทแล้ว มีปากเสียงกัน แต่ต่อมามีปัญหาถกเถียงอย่างหนักกับ แม็กซ์ เลฟชิน (Max Levchin) ซีทีโอของบริษัท เกี่ยวกับระบบปฏิบัติการว่าจะใช้ Windows หรือ Unix ความบาดหมางนี้ทำให้มัสก์ถูกปลดออกจากซีอีโอระหว่างที่เขาไปฮันนีมูนด้วย กลุ่มผู้บริหารระดับสูงก็ได้ขอให้ธีลกลับมาเป็นซีอีโอแล้วลดตำแหน่งของมัสก์ให้เหลือแค่ที่ปรึกษาแทน ภายหลังถูกขายให้ eBay ในปี 2002 ด้วยมูลค่า 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
แย่: มัสก์ได้เงินจากดีล eBay ประมาณ 250 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่หลังจากที่ดีลจบไปแล้วมีหนังสือเล่มหนึ่งออกมาชื่อว่า ‘The PayPal Wars’ ซึ่งในนั้นมัสก์มีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีเลยสำหรับบริษัท

SpaceX

ดี : ก่อนหน้านี้มัสก์เกือบเสียชีวิตจากการป่วยเป็นโรค Cerebral Malaria (ไข้มาลาเรียขึ้นสมอง) และหลังจากที่กลับมาหายดีแล้วก็เริ่มมองหาความท้าทายครั้งใหม่ซึ่งก็คือความฝันในวัยเด็กที่จะเดินทางไปดาวอังคาร เขาหาข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อจรวดจากรัสเซีย ซึ่งก็เจอโก่งราคาสูงมาก จึงเริ่มศึกษาว่าจรวดมันสร้างยังไง จนกลายมาเป็น SpaceX
ไม่ดี : จังหวะที่ SpaceX กำลังก่อสร้างตัว ลูกชายคนแรกของมัสก์ชื่อ เนวาดา (Nevada) ก็ถือกำเนิดขึ้น แต่โชคร้ายที่ต้องเสียชีวิตลงด้วยโรค SIDS (Sudden Infant Death Syndrome) หรือโรคไหลตาย
แย่ : ที่ SpaceX ตอนนี้ทุกอย่างเขามีพร้อมหมดแล้ว ทั้งชื่อเสียง ทั้งเงิน ทั้งความสำเร็จที่ผ่านมา เขากลายเป็นผู้นำที่หิวกระหาย แข็งแกร่ง แน่วแน่ และไม่ยอมใคร พนักงานคนหนึ่งที่ทำงานที่นั่นบอกว่า ‘ถ้าอีลอนไม่มีความสุข คุณจะรู้เลย สถานการณ์มันจะแย่มาก’ สตีฟ เดวิส (Steve Davis) หนึ่งในวิศวกรที่มีความสามารถมากที่สุดคนหนึ่งของ SpaceX เคยได้รับงานจากมัสก์เพื่อให้แยกชิ้นส่วนของอุปกรณ์มูลค่า 120,000 เหรียญ แล้วสร้างขึ้นมาใหม่ให้อยู่ภายใต้งบ 5,000 เหรียญตามที่มัสก์ต้องการ ซึ่งวิศวกรคนอื่น ๆ บอกว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่มีวิศวกรคนไหนในบริษัทใดในโลกที่จะลองทำด้วยซ้ำ แต่เดวิสทุ่มเทเวลาและความสามารถทั้งหมดของตัวเองลงไปเป็นเวลา 9 เดือน จนได้ต้นแบบของอุปกรณ์ชิ้นนี้ที่ใช้เงินเพียง 3,900 เหรียญเท่านั้น เขารู้สึกตื่นเต้นและดีใจมากที่ทำได้สำเร็จ ส่งอีเมลไปบอกมัสก์อย่างละเอียดว่าต้องทำยังไงบ้าง มัสก์ตอบกลับมาว่า “โอเค”

Tesla

ดี : มัสก์ชื่นชอบรถยนต์ไฟฟ้าเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว เขาเชื่อว่าอนาคตมันจะกลายเป็นสิ่งที่มาแทนรถยนต์ที่เราขับกันอยู่ทุกวันนี้ เพราะฉะนั้นตอนที่ มาร์ติน เอเบอร์ฮาร์ด (Martin Eberhard) และ มาร์ก ทาร์เพนนิง (Marc Tarpenning) ผู้ก่อตั้ง Tesla นัดคุยกับมัสก์เพื่อจะให้เขามาลงทุน มัสก์ยินดีเป็นอย่างมาก เขาอยากให้รถยนต์ที่ออกมานั้นดูดี เป็นแบรนด์ที่ดูราคาแพง เพราะฉะนั้นเขาเลยทุ่มเทอย่างมากในการออกแบบให้มันสวยงาม
ไม่ดี : หลังจากที่ Tesla ได้สร้างรถยนต์ต้นแบบคันแรกออกมาได้สำเร็จ ก็มีอีเวนต์เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ ได้รับความสนใจจากลูกค้ามากมาย ข่าวร้ายคือว่าชื่อของมัสก์ไม่ได้ถูกกล่าวถึงในสื่อว่าเป็น “ผู้ร่วมก่อตั้ง” ในบทความของ ‘The New York Times’ ไม่มีแม้แต่ชื่อของเขาด้วยซ้ำ แน่นอนครับว่ามัสก์โกรธเป็นฟืนเป็นไฟเลยทีเดียว
แย่ : หลังจากที่ Tesla พยายามจะส่งมอบรถยนต์ที่ลูกค้าได้สั่งพรีออเดอร์เอาไว้ในล็อตแรก ๆ ทุกอย่างก็ไม่ได้เป็นไปตามแผนการสักเท่าไหร่ ชิ้นส่วนบางอันก็แพงเกินไปและตอนนี้กระบวนการขั้นตอนทุกอย่างก็ล่าช้าไปซะหมด มัสก์ซึ่งไม่ค่อยมีความสุขกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่สักเท่าไหร่ จึงนัดประชุมบอร์ดบริหารเพื่อจะให้ตัวเองขึ้นนั่งเป็นซีอีโอแทนเอเบอร์ฮาร์ด บอร์ดตัดสินใจให้เขารับตำแหน่ง และผู้ก่อตั้งสองคนดั้งเดิมก็ออกจากบริษัทไป และเขาก็ขึ้นเป็นซีอีโอของ Tesla ในปี 2008

ตอนนี้

ดี : ตอนนี้มัสก์มีประสบการณ์ทำงานมามากมาย สร้างสตาร์ตอัปและประสบความสำเร็จกับหลายอย่าง เจอแรงกดดันก็ไม่ค่อยหวั่น อย่างตอนปี 2008 สถานการณ์ของ SpaceX ก็ไม่ค่อยดี แต่เขาก็ยังคงนิ่งไม่ตัดสินใจบุ่มบ่าม จนได้ทำสัญญากับ NASA เพื่อขนส่งไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ในปี 2013 สถานการณ์เดียวกันก็เกิดขึ้นกับ Tesla จนเกือบต้องขายบริษัทให้กับ Google แต่ทีมขายของบริษัทก็สร้างยอดขายที่สูงทะลุเป้าจนผ่านพ้นช่วงวิกฤติตรงนั้นมาได้
ไม่ดี : วิถีการเป็นผู้นำของมัสก์ยังคงดุดัน แข็งกร้าวต่อไป ยังคงคาดหวังให้พนักงานของตัวเองทำงานหนัก ไม่เคยเพียงพอ ยกตัวอย่างตอนปี 2010 ที่ SpaceX เพิ่งประสบความสำเร็จในการปล่อยยานอวกาศ Dragon Capsule ก่อนหน้าที่จะมีปาร์ตี้เฉลิมฉลอง มัสก์เรียกประชุมผู้บริหารระดับสูงของบริษัทมาต่อว่า เพราะชิ้นส่วนบางอย่างนั้นช้ากว่ากำหนด โดยในการประชุมนั้นก็มีแขกที่มาพร้อมผู้บริหารที่ไม่ใช่พนักงานอยู่ด้วย
แย่ : ด้วยความที่เขาต้องบริหารบริษัทสตาร์ตอัปหลายแห่ง ชีวิตส่วนตัวเริ่มล้มเหลว ไม่มีเวลาพักผ่อน จนต้องหย่าร้างกับ จัสตีน วิลสัน (Justine Wilson) ภรรยาคนแรก ซึ่งเธอก็เขียนบทความเกี่ยวกับเขาในเชิงลบมากมายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เธอบอกว่า ‘อีลอนมักพูดเสมอว่า ‘ถ้าคุณเป็นพนักงานของผม ผมไล่ออกไปแล้ว’” แล้วยังเจออดีตผู้ก่อตั้ง Tesla ฟ้องในประเด็นที่โดนบีบออกจากบริษัท และแน่นอนที่เลวร้ายสุด ๆ อาจจะเป็นวิธีที่เขาปฏิบัติกับเลขาที่ทำงานกับเขามาหลายปีอย่างไม่มีเยื่อใย หลังจากที่เธอทำงานให้เขามาหลายปี เธอขอขึ้นเงินเดือน แต่เขากลับบอกเธอว่าให้พักงาน 2 อาทิตย์ เขาจะดูว่าตัวเองสามารถทำงานที่เธอทำได้ไหม พอหลังจาก 2 อาทิตย์ผ่านไป เขาก็บอกว่าเธอไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว (แม้เขาจะปฏิเสธเหตุการณ์นี้หลังจากที่เกิดขึ้นก็ตาม)

ตลอดชีวิตของมัสก์ เราเห็นทั้งด้านที่ดีและไม่ดีของเขามาโดยตลอด ไม่มีทางที่จะปักธงได้เลยว่าสรุปสุดท้ายแล้วเขาอัจฉริยะแห่งยุคสมัยหรือคนที่ไร้หัวใจที่เห็นเพียงแค่ประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น มีขึ้นมีลง มีช่วงที่เต็มไปด้วยความสำเร็จและปัญหา อย่างเรื่องดีลทวิตเตอร์ที่กลับไปกลับมาก็มีคนบอกว่าที่จริงแล้วมันมีเบื้องลึกเบื้องหลังที่ซ่อนอยู่อีก จนตอนนี้มัสก์ต้องกลับมาซื้อใหม่อีกครั้งเพราะถอนตัวไม่ได้

ที่จริงแล้วสิ่งหนึ่งที่อาจจะพอเป็นข้อสรุปจากหนังสือเล่มนี้คือมัสก์ก็คือ “มนุษย์คนหนึ่ง” ที่มีทั้งเรื่องดีและแย่ แต่ที่ชัดเจนมาโดยตลอดคือเขาเป็นคนที่ ‘มุ่งมั่น’ ในเป้าหมาย การเดินทางไปยังดาวอังคารยังคงเป็นสิ่งที่เขาใฝ่ฝันว่าจะทำให้ได้ โดยไม่สนใจหรอกว่าคนอื่นจะมองเขาว่าเป็นคนยังไง ตราบใดที่เขายังเชื่อมั่นในเป้าหมายนั้น สำหรับเขาแล้วความรู้สึกของคนอื่นเป็นเรื่องที่ไม่ได้สลักสำคัญอะไรนัก

วอลเตอร์ ไอแซ็กสัน (Walter Isaacson) นักเขียน นักข่าว และศาสตราจารย์ชาวอเมริกันซึ่งตอนนี้กำลังเขียนหนังสือเล่มใหม่กับมัสก์กล่าวว่า

“ถ้ามัสก์นั่งอยู่หน้าคนสี่หรือห้าคนที่ทำตัวเร่งของยาน Starship พลาด เขาจะพูดว่า ‘ถ้าผมเริ่มรู้สึกเห็นอกเห็นใจ [พวกเขา] แทนที่จะย้ายพวกเขาออกไป แสดงว่ามีการเอาใจใส่ผิดที่แล้ว ความใส่ใจของผมคือการเดินทางไปยังดาวอังคาร ไม่ใช่กับคนที่อยู่ตรงหน้า’”

ที่มา:
Adalo Fortune Vanity Fair
Business Insider 1 Business Insider 2
The New York Times 1 Wired
The Guardian Marie Claire
The Entrepreneur Beartai 1 Beartai 2

ภาพปก: Reuters

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส