แทบทุกอย่างและทุกด้านของชีวิตเรามักจะมีเรื่องของเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ ชีวิตกับเทคโนโลยีเป็นสองสิ่งที่แยกกันแทบไม่ออกแล้วในปัจจุบัน ทุกปีเราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา บางอย่างมาแล้วก็หายไป เป็นเพียงกระแสของช่วงเวลานั้น แต่ก็กลายเป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงวิถีการใช้ชีวิตของเราไปเลย

ก่อนจะไปดูว่าปีหน้ามีอะไร อยากชวนย้อนดูปี 2022 สักหน่อย

ในส่วนของพวกฮาร์ดแวร์ ดูเป็นอะไรที่ค่อนข้างน่าเบื่อสักหน่อย ไม่ได้มีอะไรใหม่ ๆ น่าสนใจนัก iPhone 14 เมื่อเทียบกับ iPhone 13 แทบจะเรียกว่า ‘ต่างกันน้อยมาก’ หรืออย่างเฮดเซต Quest Pro ของ Meta ที่พยายามชูว่าจะเปลี่ยนวิถีคนทำงานก็ไม่ได้น่าประทับใจอะไรขนาดนั้น (แบตเตอรี่ที่ใช้ได้แค่สองชั่วโมงก็ทำให้มันยิ่งใช้งานได้อย่างจำกัดมาก ๆ) โซเชียลมีเดียกลายเป็นพื้นที่น่าสนใจที่สุด โดยเฉพาะการเติบโตของ TikTok และการเข้าซื้อ Twitter ของ อีลอน มัสก์ (Elon Musk)

พอมาถึงช่วงปลายปีก็มีกระแสเรื่อง ChatGPT แชตบอตจาก OpenAI บริษัทวิจัย Artificial Intelligence ที่กำลังทำให้คนทั้งโลกตื่นตาตื่นใจว่ามันจะมาเป็นผู้ช่วยทำงานคนใหม่แทน Google ในการค้นหาข้อมูลได้หรือเปล่า เพราะเบื้องต้นตอนนี้ทำได้ตั้งแต่เขียนบทความ หาข้อมูล เขียนบทกวี สร้างเรซูเม เขียนโค้ด ทำเอกสารแบบฟอร์มต่าง ๆ อย่างแผนธุรกิจหรือสัญญาจ้างงานก็ได้เช่นกัน

แล้วปี 2023 เทคโนโลยีที่จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตมากขึ้นจะมีอะไรบ้าง ลองมาดูกันครับ

1. แชตบอตเริ่มมีบทบาทในการทำงานมากขึ้น

ต่อเนื่องจากปลายปีที่ผ่านมากับ ChatGPT คนที่เริ่มใช้งานมันจริง ๆ ก็มีให้เห็นอยู่บ้าง มีคนใช้มันเพื่อเขียนนิทานเด็กแล้วนำไปขายบน Amazon บางคนสร้างคอร์สออนไลน์สอนใช้ ChatGPT บางคนใช้มันเพื่อทำงานวิจัยหาข้อมูล ซึ่งความสามารถของมันค่อนข้างหลากหลาย

แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม สัญญาณเตือนแรกที่เกิดขึ้นคือเรื่องของ ‘ความไม่ถูกต้องของข้อมูล’ ที่ ChatGPT มอบกลับมาให้ผู้ใช้งาน ซึ่งถ้าเรามองในมุมของการใช้งานแบบจริงจังถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลไม่น้อย เพราะหากงานวิจัย บทความบนสื่อ หรือข้อมูลใด ๆ ที่เผยแพร่ออกไปอย่างไม่ถูกต้อง มันอาจสร้างความเสียหายในการนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ต่ออย่างผิด ๆ ได้เช่นกัน

ข้อบกพร่องอันนี้ของ ChatGPT เป็นสิ่งที่หลายฝ่ายมองว่าต่อไปในอนาคตบริษัทจะสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้เรื่อย ๆ เมื่อมีการอ่าน วิเคราะห์ และแยกแยะข้อมูลได้อย่างถูกต้องมากขึ้น ในอนาคตเราจะเห็นการโต้ตอบกับแชตบอตเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้น ถามตอบข้อมูลกับ AI เป็นผู้ช่วยในงานต่าง ๆ ของชีวิตประจำวัน

ยกตัวอย่างเช่นเรากำลังทำงานวิจัยเกี่ยวกับสงครามที่เกิดขึ้นบนโลกและผลกระทบของมันที่มีต่อเศรษฐกิจ ซึ่งเราอาจจะป้อนข้อมูลเป็นไฟล์ pdf หนา 100 หน้าเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้กับ AI แล้วให้ย่อยส่วนที่สำคัญออกมาให้ก็ได้ ตรงนี้จะช่วยประหยัดเวลาและไม่ต้องไปนั่งหาข้อมูลเองอีกต่อไป (แต่เราก็ยังต้องเช็กข้อมูลที่ย่อยมาให้อีกทีว่าตรงรึเปล่าด้วย)

ก้าวต่อไปของแชตบอตอาจจะเป็นการรวมมันเข้ากับแอปพลิเคชันที่มีอยู่แล้วในท้องตลาดอย่าง Microsoft Word หรือ Google Docs ที่เราสามารถเรียกแชตบอตในนั้นได้เลย โดยให้มันช่วยหาข้อมูลหรือสร้างแบบฟอร์มเอกสารต่าง ๆ โดยไม่ต้องย้ายแอปพลิเคชันไปมา ทำให้กระบวนการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

2. Virtual Reality (Metaverse)

ช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเราเห็นความพยายามของบริษัทมากมายในการทำเฮดเซตสำหรับ Virtual Reality อย่าง Quest 2, HTC Vive หรือ Sony Playstation VR สำหรับการเล่นเกม ตอนนี้เทคโนโลยีกำลังพัฒนาได้เร็วมากขึ้น และหลายบริษัทก็ยังเชื่ออยู่ว่านี่เป็นเทคโนโลยีที่จะมาเปลี่ยนชีวิตของเราในอนาคตเหมือนสมาร์ตโฟน

ถ้าจะให้เอ่ยถึงบริษัทหนึ่งก็คงหนีไม่พ้น Meta (บริษัทแม่ของ Facebook) ที่พยายามสร้าง Metaverse โลกเสมือนจริงที่เมื่อเราใส่เฮดเซตแล้วก็จะเข้าไปใช้ชีวิตในนั้น ทำงาน เล่น เจอเพื่อนฝูง เล่นเกม ฯลฯ เรียกว่ามีชีวิตที่เติมเต็มในโลกเสมือนอีกใบได้เลย แต่หลังจากที่เปิดตัวเฮดเซต Quest Pro ในปีที่ผ่านมา เสียงตอบรับก็ไม่ได้ดีมาก นักลงทุนของบริษัทมากมายต่างก็บอกว่า มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) กำลังหลงทางและเขาทุ่มเทให้กับ Metaverse มากเกินไปจนลืมผลิตภัณฑ์อื่นของบริษัทอย่าง Facebook และ Instagram ไปแล้ว

ในปี 2023 เทรนด์ของ Virtual Reality ยังคงเดินหน้าต่อไป เพราะบริษัทใหญ่อย่าง Apple มีทีท่าว่าจะเข้ามาร่วมวงกับเขาด้วยในการสร้างเฮดเซตของตัวเอง เว็บไซต์เทคโนโลยี CNET บอกว่าปี 2023 ถือเป็น ‘ปีที่ตัดสินว่า Metaverse จะรอดหรือร่วง’ เลยด้วย เพราะถ้า Apple เข้ามาแล้วทุกอย่างยังไม่ได้ดีขึ้นหรือคนไม่สนใจ ตลาดอาจจะเงียบและซาลงไปเลยก็ได้

แน่นอนว่าเทคโนโลยีแบบนี้จะต้องใช้เวลากว่าจะถูกใช้งานโดยผู้บริโภคในวงกว้าง ด้วยความเทอะทะและราคาค่อนข้างสูง ผู้ใช้งานกลุ่มแรก ๆ นั้นจะเป็นกลุ่มคนที่ติดตามเทรนด์และอยากลองใช้เทคโนโลยีเฉพาะเท่านั้น อาจจะจำกัดอยู่ในอุตสาหกรรมเกม ซึ่ง Apple เองก็คงไม่ต่างกัน

ปี 2023 จะยังไม่ใช่ปีที่เฮดเซตหรือ Metaverse จะบูมและมีคนผู้ใช้งานระดับเดียวกับสมาร์ตโฟน แต่มันมีโอกาสเป็นไปได้ที่ปีหน้าจะเป็น Tipping Point ที่ทำให้เทรนด์ Metaverse กลับมาอีกครั้งและค่อย ๆ เติบโตหรือบางทีถ้ามันเงียบและซาหายไป ปีหน้าก็อาจจะเป็นจุดจบของมันแล้วก็ได้

3. รถไฟฟ้าที่ไม่ใช่แค่ Tesla

เราเห็นเทสลา (Tesla) เข้ามาเปิดตัวในประเทศไทยเมื่อปลายปี 2022 มีคนจองไปหลายพันคันภายใน 24 ชั่วโมงแรก ทำให้เห็นว่าเทรนด์ของรถยนต์ไฟฟ้ากำลังมาอย่างเต็มที่ และคนก็ตื่นตัวเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก อาจจะด้วยราคารถไฟฟ้าที่เอื้อมถึงและค่าน้ำมันที่แพงขึ้นอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมาที่ช่วยผลักดันความต้องการของตลาดให้เพิ่มสูงขึ้นด้วย

แม้ว่าเทสลาจะยังเป็นเจ้าตลาดในปี 2022 แต่ปีหน้าและปีถัด ๆ ไปจะมีคู่แข่งที่เยอะมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างที่เห็นว่าหุ้นของบริษัทเทสลาทิ้งดิ่งมาตั้งแต่ต้นปีจนถึงปลายปีไปแล้วกว่าครึ่ง นักลงทุนเริ่มกังวลเรื่องคู่แข่งในตลาด ในขณะที่หัวเรือใหญ่อย่างมัสก์ก็มัวไปวุ่นอยู่กับทวิตเตอร์จนเหมือนไม่มีเวลามาดูแลเทสลามากนัก มีคู่แข่งอย่าง Ford, GM, Audi, Rivian, Toyota, GWM, BYD และ VinFast ที่กำลังเข้ามากินส่วนแบ่งของตลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย

ประเทศทางฝั่งยุโรปและเมืองใหญ่ ๆ หลายเมืองอย่างแคลิฟอร์เนียและนิวยอร์กต่างก็มีกฎหมายแบนการขายรถยนต์ที่ใช้น้ำมันภายในปี 2035 เป็นความพยายามต่อสู้กับภาวะโลกร้อนซึ่งผลักดันให้ยอดขายของรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นด้วย

เพราะฉะนั้นตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป ตลาดของรถยนต์ไฟฟ้าจะไม่ใช่ของเทสลาเพียงแบรนด์เดียวอีกต่อไป

4. Social Media ที่เปลี่ยนไป

Facebook / Instagram / Twitter / YouTube จะไม่ใช่เจ้าตลาดโซเชียลมีเดียอีกต่อไป เราเห็นการเติบโตของ TikTok ที่เข้ามาแย่งชิงผู้ใช้งานอย่างรวดเร็วจนเจ้าเดิม ๆ ที่มีในตลาดต้องปรับตัวมาโฟกัสที่ฟีเจอร์วิดีโอสั้นของตัวเองกันแทบทั้งสิ้น แต่การเติบโตนี้ก็นำมาซึ่งปัญหาเช่นกันเพราะมีข่าวเรื่องการถูกแบนออกมาอยู่ตลอด อย่างล่าสุด ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok จากประเทศจีนออกมารายงานว่ามีพนักงานบางคนในบริษัทเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้งานอเมริกันบางคนโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งในนั้นมีนักข่าวถึงสองคนด้วย

ที่ระส่ำระสายมากตอนนี้เห็นจะเป็น Twitter ที่ยังไม่รู้ว่าจะออกหัวหรือก้อย ล่าสุดมัสก์ออกมาตั้งโพลว่าเขาควรจะลงจากตำแหน่งซีอีโอของทวิตเตอร์รึเปล่า ซึ่งผลโพลที่ออกมาส่วนใหญ่คนก็บอกว่าอยากให้เขาออก ซึ่งภายหลังมัสก์ก็ออกมาโพสต์ว่าเขาจะลงก็เมื่อมีคนที่ ‘งี่เง่า’ พอที่จะมารับงานนี้ต่อจากเขา

สุดท้าย TikTok อาจจะถูกแบนในอเมริกา Twitter อาจจะล้มละลายถ้าเกิดว่าสร้างรายได้ไม่มากพอจ่ายดอกเบี้ยหลักพันล้านเหรียญต่อปีที่มัสก์เอาบริษัททวิตเตอร์ไปค้ำเพื่อกู้เงินมาซื้อตอนปิดดีล แต่ตอนนี้คนเริ่มขยับขยายไปยังโซเชียลมีเดียทางเลือกอื่น ๆ อย่าง Mastodon ที่มีความคล้ายกับ Twitter และ BeReal ที่ใช้เชื่อมกันระหว่างกลุ่มเพื่อนและแชร์ภาพเซลฟี่ที่ไม่ต้องตบแต่งเหมือนอย่าง Instagram กันมากขึ้นแล้ว

โซเชียลมีเดียจะมีการกระจายตัวไปยังแพลตฟอร์มอื่น ๆ มากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจเพราะที่ผ่านมานั้นมันกระจุกตัวอยู่แค่ไม่กี่เจ้าและทำให้มีอำนาจควบคุมผู้ใช้งานค่อนข้างเยอะ แม้เจ้าใหญ่ ๆ จะยังไม่ตาย แต่โซเชียลมีเดียเล็ก ๆ ก็เริ่มมีเสน่ห์และกลายเป็นพื้นที่รวมตัวใหม่สำหรับคนที่เบื่อเจ้าเดิม ๆ ได้เช่นกัน

ที่มา:

The New York Times Beartai The New York Times
Beartai CNET YouTube
The New York Times The Guardian
Reuters The New York Times

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส