รีวิว Stray เกมดีที่ไม่ใช่แค่เพราะมี “แมว”
Our score
9.0

Release Date

19/07/2022

Genre

Adventure, Platform, Puzzle

Platform

PlayStation 4, PlayStation 5, Windows (Steam)

Publisher

Annapurna Interactive

Developer

BlueTwelve Studio

Mode

Single-player

รีวิว Stray เกมดีที่ไม่ใช่แค่เพราะมี “แมว”
Our score
9.0

Stray

จุดเด่น

  1. ถ่ายทอดจริตแมวได้อย่างสมบูรณ์แบบ
  2. ฉากการเล่นที่มีชีวิตชีวาแม้จะนำเสนอความเป็น Cyberpunk และ Post-apocalyptic
  3. เนื้อเรื่องและเรื่องราวฉากหลังของโลกที่เกมนำเสนอน่าติดตามทั้งคู่
  4. งานภาพที่สวยงามโดยเฉพาะแสงเงา ที่ใช้ฟีเจอร์นี้ของ Unreal Engine 4 ได้อย่างยอดเยี่ยม
  5. เกมเพลย์เข้าถึงง่ายแต่ก็ไม่ได้ดูถูกสติปัญญาเกมเมอร์ (โดยเฉพาะปริศนาที่ไม่ยาก แต่เน้นให้ใช้การสังเกตสภาพแวดล้อม)

จุดสังเกต

  1. เนื้อเรื่องช่วงท้ายรีบเล่าไป จนทำให้ฉากที่ควรจะได้อารมณ์ดราม่าไปไม่สุดทาง
  2. บนเวอร์ชัน PC มีปัญหาด้านเทคนิกประปราย และมีบั๊กที่ทำให้เกมไปต่อไม่ได้

ถ้ามองแค่เปลือกนอก Stray อาจจะถูกมองว่าเป็นเกมเนี้ยบ ๆ เกมหนึ่งที่สร้างขึ้นเพื่อเอาใจทาสแมว แต่เอาจริง ๆ ไม่แน่ “นี่อาจจะเป็นเกมอินดี้แห่งปี” (ถ้าไม่มีเกมไหนที่มีคุณภาพใกล้เคียงกันออกมาต่อละนะ) ยังไงก็ลองฟังเหตุผลของผู้เขียนได้ในบทความรีวิวเกมนี้ครับ

Story

Stray ว่าด้วยเรื่องราวของแมวตัวหนึ่งที่พลัดหลงจากฝูงด้วยอุบัติเหตุ ทำให้ตกลงมายังนครใต้ดินและได้จับพลัดจับผลู ปลุก B-12 โดรนตัวจิ๋วที่ความทรงจำสูญหาย แต่ยังคงมากไปด้วยสติปัญญาเกินกว่าเครื่องจักรทั่วไปจะมี โดย B-12 รับรู้ได้ว่าเจ้าเหมียวต้องการที่จะกลับไปหาพรรคพวกอีกครั้ง มันจึงตอบแทนด้วยการทำหน้าที่เป็นเพื่อนร่วมทางในการช่วยเหลือแมวน้อยให้กลับไปหาครอบครัว ผ่านการเดินทางที่เต็มไปด้วยอุปสรรค ความเป็นไป และความจริงของนครใต้ดินแห่งนี้ที่เต็มไปด้วย Humanoid หุ่นยนต์ที่รูปลักษณ์และความคิดคล้ายกับสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์

แอบคิดกันไหม ว่าเกมที่เราได้สวมบทบาทเป็นแมว มันจะนำเสนอเนื้อเรื่องออกมาในรูปแบบไหนวะ? ก่อนจะกดเริ่มเกมผู้เขียนคิดไม่ตก แถมตัดสินไปก่อนเลยว่าเกมมันคงไม่มีอะไรมากไปกว่าขายความน่ารักกับจริตแมวที่ทำออกมาได้โคตรจะสมบูรณ์แบบ แต่พอได้เล่นจริงบอกเลยว่า “เหนือความคาดหมายมาก”

การให้ผู้เล่นรับบทเป็นแมวจะเสมือนเป็นตัวแทนการผจญภัยที่โลดโผน ได้มองเห็นสถานที่ที่ช่างดูยิ่งใหญ่ แต่ก็ยังมีมุมลับให้ได้สอดส่องในสถานที่ ที่ใครก็ไม่สามารถเข้าถึงได้เหมือนเรา ในขณะที่โลกของเกมเซตอัปไว้ว่าเป็น Post-apocalyptic ที่ Humanoid แทบจะดูเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีโครงสร้างแบบประชากรอย่างมีอารยธรรมเพียงหนึ่งเดียวของเกมนี้ เพราะพวกเขามีชมชุนแยกย่อย มีวัฎจักร มีการทำงาน มีกิจกรรมนอกเหนือปัจจัยการดำรงชีพ สามารถแสดงอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดได้ และที่สำคัญ มีเศษซากรูปธรรมหลาย ๆ อย่าง เช่นสถานที่ รูปภาพ ที่บ่งบอกว่าจริง ๆ แล้วมนุษย์เคยมีอยู่ในโลกนี้? ซึ่งพอเอาทั้งสองอย่างมารวมกัน มันกลายเป็นการเดินทางไปยังจุดหมายที่สาส์นระหว่างทางหลอมรวมเข้ามาเป็นเนื้อเดียวได้อย่างน่าติดตาม

จุดเริ่มต้นของเรื่องราวมันเล็กจึ๋งเดียว แค่น้องแมวต้องการจะกลับบ้านแค่นั้นเลย แต่เหตุการณ์ระหว่างทางที่ผู้เล่นจะได้เจอ สเกลของมันจะใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และสภาพแวดล้อมก็จะมีส่วนเกี่ยวข้องในการเล่าเรื่องเป็นอย่างมาก เล่นไปก็จะรู้สึกว่า เฮ้ย! Humanoid คิดอะไรแบบนี้ได้ด้วยหรอ หรือในบางฉากเราจะเข้าใจเลยว่าทำไมพวกเขาต้องอยู่อย่างระมัดระวังตัว เรียกว่าเป็นเกมที่มีเรื่องราวสอบผ่านดึงให้ผู้เล่นมีอารมณ์ร่วมกับเกมได้จนจบ ซึ่งก็ไม่ต้องกลัวว่าตัวเกมจะใช้การเล่าเรื่องผ่าน Lore หรือให้เราไปตีความเองอย่างเดียวดาย นี่คือเกมที่นำเสนอเนื้อเรื่องเป็นเส้นตรงนี่แหละ ตัวละครต่าง ๆ จะบอกหรือไกด์เหตุการณ์ในตอนนั้นให้เราตามทันตลอด แค่เรื่องราวปูมหลังของเกมจำนวนหนึ่งหากเรานำมาปะติดปะต่อกันมันจะยิ่งทำให้เราสนุกและจดจำเกมนี้มากกว่าการเล่นให้ผ่าน ๆ จบ ๆ ไป

และหลายคนน่าจะเดาถูกว่าพอตัวเกมจั่วคู่หูร่วมเดินทางมาแบบนี้ ก็ตามคาดครับ ใครเป็นคนอ่อนไหวง่าย “เตรียมเสียน้ำตาได้” เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดเกม B-12 แทบจะอยู่กับเรา 90% แถมรู้เลยว่าผู้สร้างทำการบ้านมาว่า NPC คู่หูแบบไหนที่เกมเมอร์เกลียด เพราะเราจะไม่เจอมันใน B-12 เลย ไม่สาธยายบทพูดเล่นลิ้นหรือยาวพรืด มีแต่คีย์เวิร์ดสำคัญ ๆ แถมมีประโยชน์ในตอนเล่นอีก และด้วยความที่ B-12 เป็น…. (ไม่สปอยล์ละกัน) น้ำเสียง คำพูดที่แม้จะเป็นภาษามั่ว ๆ ไม่มีอยู่จริง กับภาษากายที่ถ่ายทอดผ่านดวงตาของมัน เราจะรู้สึกว่าเรามีเพื่อนร่วมทางจริง ๆ และไม่เหงาเปล่าเปลี่ยวอีกด้วย ซึ่งก็นั่นแหละ รู้ตัวอีกทีเราก็ผูกพันกับ B-12 ไปละ

แต่ข้อเสียของ Story ดูจะเป็นระยะเวลาในการจบเกมนี่แหละ ขนาดผู้เขียนตามเกาะเนื้อเรื่องหลัก + เถลไถลประมาณหนึ่ง + เผลอทำน้องแมวไปส่งดาว… (เกมโอเวอร์นั่นแหละ) ยังใช้เวลาไปประมาณ 5 ชั่วโมงกว่า ๆ ซึ่งระยะเวลานี้มันเน้นหนักไปที่การเล่าเรื่องช่วงต้น – กลางเกมเยอะมาก แต่พอมาถึงองก์ท้าย ๆ ตัวเกมกลับรีบเล่าเกินไป กำลังจะซึ้งปล่อยโฮอยู่แล้วแท้ ๆ อ่าวอะไรกัน!? จบแล้วหรอ… แล้วพอจบก็ไม่มีความยากใหม่ให้เลือก เหตุผลที่เราจะกลับไปเล่นคือตามเก็บความลับต่าง ๆ ของเกมให้มันครบถ้วนเท่านั้น (หรือจะเข้าไปยีปุ่มลับเล็บรัว ๆ ก็ได้นะเพลินดีเหมือนกัน…)

Gameplay

Stray เป็นเกมแนว Adventure แบบ Platformer ปีนไต่สิ่งก่อสร้างหรือพื้นที่ต่างระดับต่าง ๆ เพื่อไปแก้ Puzzle ซึ่งเป็นอุปสรรคหลักของเกม แต่ก็จะมีใส่การเล่นแบบแอ็กชันและแนวลอบเร้น เพื่อเป็นการตัดเลี่ยนการดำเนินเนื้อเรื่อง ซึ่งการบังคับของเกมก็ไม่มีอะไรที่ซับซ้อน มีแค่การกระโดดขึ้นแพลตฟอร์มที่จะทำได้ก็ต่อเมื่อตรงนั้นตัวเกมกำหนด, การวิ่งเร็ว, เปิดไฟฉายที่ก็จะมี 2 เวอร์ชันคือใช้ในการส่องในที่มืดกับป้องกันตัวจากศัตรูในเกม, กดอินเตอร์แอ็กกับสิ่งของในฉาก, การกดซูมเพื่อดูฉากการเล่นใกล้ขึ้น, ลับเล็บ… (เอิ่บ… จริง ๆ นะ) และการกดเรียก B-12 ขึ้นมาดูไอเทมกับเรียกดูข้อมูลที่เจอมาก่อนหน้า

ทั้งหมดที่กล่าวไปจะไม่ปรากฎ UI มารกจอ จะมีก็แค่จังหวะที่ตัวเกมบังคับให้กดจริง ๆ ถึงจะมีไอคอนไกด์เราขึ้นมา (เอาจริง ๆ จะบอกว่าเกือบนำเสนอแบบ Diegetic เนียนไปกับเกมการเล่นเหมือน Dead Space เลยก็ยังได้) ซึ่งมันจะยิ่งเสริมในเรื่องของงานดีไซน์ฉาก เหตุการณ์ที่อยู่ตรงหน้า หรือแม้แต่การการจับจ้องไปที่กิริยาน่ารัก ๆ ของน้องแมว ทำให้เราอินและดื่มด่ำไป ณ ขณะที่เรากำลังสวมบทบาทโลดโผนเป็นเจ้าเหมียว

ในขณะที่ฉากการเล่นของเกมนี้ จะไม่ใช่แมปใหญ่โตมโหฬารอะไร แต่จะเน้นไปที่มิติของฉากมากกว่า พื้นที่โดยมากของเกมจะเปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้ปีนได้ไต่ที่หลายครั้งก็จะพาให้เราไปยังพื้นที่เชิงลึก ให้ลอดเข้าช่องแคบเข้าไปเพื่อเจอฉากภายในอาคารอีกทีบ้าง ใช้เป็นทางลัดบ้าง หรือใช้ในจังหวะหลบหนี เช่น การลอดเข้าประตูกรงขังที่มีช่องพอดีตัว ซึ่งผู้เขียนก็คิดไม่ถึงเหมือนกันว่าจะลอดได้ (แต่… ใครมันจะไปคิดได้ละในสถานการณ์หนีตาย)

ทีนี้มาว่ากันในพาร์ต Puzzle บ้าง ปริศนาแต่ละครั้ง เอาจริง ๆ วิธีการแก้มันไม่ได้ยาก แต่สิ่งที่สำคัญเลยคือการสังเกต ราวกับเราเป็นแมวจริง ๆ โดยคำใบ้มันก็จะอยู่ใกล้ ๆ กับตรงที่ปริศนาอยู่นี่แหละ กับในหลายภารกิจของเนื้อเรื่องและเควสต์เสริม ตัวเกมจะให้ข้อมูลมาผ่านการบอกใบ้ของ NPC ในเกม ที่ก็อีกนั่นแหละ… ไม่ได้ยากอะไร (แถมมาร์กสีข้อความชัดเชียว)

แค่เราต้องลองสังเกตโดยรอบว่าอะไรที่มันดูเข้าเค้า เช่น เควสต์หนึ่งของเกม NPC กำลังตามหาเพื่อนที่กำลังเมาอยู่ในบาร์ เราก็ต้องไปหาเพื่อนของเขาที่บาร์ ซึ่งตอนที่เจอพี่แกนี่คือกำลังเมาจนหลับได้ที่ คนหลับก็ต้องปลุกถูกไหม? แล้วเราจะปลุกเขาได้บ้าง? ก็ลองสังเกตโดยรอบดูว่าอะไรที่พอจะปลุกให้เขาตื่นได้ บนชั้นวางเราปีนขึ้นไปแล้วมีอะไรให้กดอินเตอร์แอ็กไหม? ตัวของ NPC มีปุ่มอะไรให้กดหรือเปล่า? ไม่ต้องไปหาการคำตอบที่ไหนไกล เช็กสภาพห้องโดยรอบให้ดี ๆ แล้วจะพบวิธีแก้ปัญหา

เช่นเดียวกันกับพาร์ตการลอบเร้นที่ไม่ได้ยากอะไร (แต่ขนาดไม่ยาก ผู้เขียนยังส่งน้องไปดาวตั้งหลายรอบ…) เอางี้ มองข้ามฝีมือผู้เขียนไป เอาจริง ๆ มันไม่ได้ยาก แต่ก็ไม่ได้วางตำแหน่งศัตรูดูถูกฝีมือเกมเมอร์ ซึ่งพาร์ตลอบเร้นก็ไม่ได้มาบ่อยอะไรหรอก นู้นเลย จะได้หลบสายตาศัตรูก็กลาง – ท้ายเกม ส่วนพาร์ตแอ็กชันจะโผล่มาในรูปแบบสคริปต์กับฉากการเล่นที่บังคับเอง โดยที่อย่างหลังจะไม่ได้ให้เราใช้หมัดใช้มวยใช้กรงเล็บพิฆาตอะไรหรอกนะ แต่จะเป็นการบริหารการใช้งานของอุปกรณ์ที่จะมีระยะเวลาใช้จำกัด จะใช้ใหม่ต้องรอคูลดาวน์ และก็เหมือนกับพาร์ตแก้ปริศนาที่ต้องให้สภาพแวดล้อมเป็นตัวช่วย (คือเกมนี้เขาเนิร์ฟความเป็นเลือดนักสู้ของแมวในชีวิตให้เหลือแต่ความตะมุตะมิน่ะ ฮ่า ๆ)

Visual and Performance

ถ้ามองในมุมเกมอินดี้ Stray ถือว่า “ทำออกมาได้คุณภาพเกินตัวมาก” ว่ากันเรื่องกราฟิกก่อน ตัวเกมใช้ Unreal Engine 4 ในการรังสรรค์งานภาพออกมา ที่เน้นและให้ความสำคัญไปฟีเจอร์แสงเงาของเอนจินนี้ ไม่ว่าจะทิศทางของแสงหรือ Directional Lights, แสงจากฟ้า Sky Lights, แสงไฟส่องเฉพาะที่ Spot Lights, แสงกระทบผ่านวัตถุ และ Rect Lights การจำลองจากแหล่งกำเนิดแสงต่าง ๆ อย่างทีวี หลอดนีออน เป็นต้น ว่าง่าย ๆ อะไรที่เกี่ยวกับแสงเงา Stray ทำออกมาได้ยอดเยี่ยม ช่วยขับส่งและถ่ายทอดอารมณ์แตกต่างตามที่ตัวเกมต้องการได้ถึงขั้น และนี่แหละที่ทำให้ตัวเกมชวนมอง ชวนดื่มด่ำไปกับการผจญภัยตลอดการเล่น

ส่วนทางด้านฉากของเกม แม้จะบอกว่าเป็นเซตอัปที่ประชากรคือ Humanoid ที่อาศัยอยู่บนโลก Cyberpunk (เทคโนโลยีล้ำหน้าสภาพสังคมที่ถดถอยและเสื่อมทราม) แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าสภาพแวดล้อม ทั้ง ต้นไม้, สิ่งของประดับอาคารบ้านเรือน หรือจะ Humanoid ที่แต่ละตัวสวมใส่เครื่องแต่งกายแตกต่างกัน มันให้ความรู้สึกถึงความมีชีวิตชีวาพร้อมกันนั้นก็เป็นความสวยงามที่อยู่บนเทคโนโลยีที่เต็มไปด้วยสนิมเขรอะ แอ่งน้ำตามถนนหนทาง ราวเหล็ก กับคานไม้ที่ทรุดโทรม สภาพของอาคารปลูกสร้างที่ผุพัง พื้นผิวของโมเดลและพาร์ติเคิลเอฟเฟกต์ ที่กล่าวมามีรายละเอียดยิบย่อยที่สมจริง ของบางอย่างตอนมองแทบจะเหมือนเป็นการปั้นชิ้นส่วนแยกแล้วค่อยมาประกอบกัน (แต่แท้จริงแล้วหลายเกม อาจรวมไปถึงเกมนี้ อาจมีการเลือกใช้วิธีการปั้นโมเดลเป็นชิ้นเดียวแล้วค่อยลับมุมลับองศาให้ดูเหมือนเป็นการนำหลายชิ้นมารวมกันเพื่อลดภาระฮาร์ดแวร์ที่ต้องคอยรัน Asset ในเกมต่าง ๆ แบบเรียลไทม์) คือในด้านกราฟิกนี่แทบไม่น่าเชื่อเลยว่าจะมาจากเกมที่กินพื้นที่แค่ประมาณ 6 GB กว่า ๆ

และที่จะไม่ชมไม่ได้จริง ๆ คือ Sound Design ของเกมที่สมจริงมาก การเดินผ่านแอ่งน้ำ เสียงอุ้งเท้าบนสะพานไม้ การวิ่งบนหลังคาสังกะสี เสียงสิ่งของตกและอีกมากมายที่ว่าด้วยเรื่องของเสียง มันมีมิติความกังวาลอย่างที่ของสิ่งนั้นควรจะเป็น (เอ้อ เสียงร้องของแมวก็ด้วย กดเล่นตอนคัตซีนนี่เพลินมาก ฮ่า ๆ)

ทีนี้ในส่วนของ Performance เดี่ยว ๆ บ้าง ผู้เขียนเล่นบน PC ในเครื่องที่ปรับกราฟิกในระดับสูงทั้งหมดได้โดยเกจวัดสเปกของเกมการันตีว่าผ่านฉลิว (ไม่ขอพิมพ์สเปกนะเดี๋ยวมันจะยาว) ผลลัพธ์คือตลอดการเล่นเฟรมเสถียรตลอด มีบางจังหวะที่เฟรมตกแบบฮวบแต่ก็โชคดีที่ไม่ใช่ฉากชี้เป็นชี้ตาย ในขณะที่ด้านของบั๊กก็มีการเจอเข้าแบบประปราย บางบั๊กจะแค่เป็นโมเดลตัวละครหลุดออกจาก Path ภาพที่เห็นคือจะเป็นชิ้นส่วนของโมเดลค้างกลางอากาศซึ่งไม่ได้ทำให้และบั๊กที่ทำให้เกมไปต่อไม่ได้อยู่เช่นเดียวกัน แต่โชคดีที่แค่การรีสตาร์ตเช็กพอยต์ก็หาย

Final Verdict

หาก Stray ดึงดูดคุณด้วยการความน่ารักของแมวและงานภาพ ก็ถือว่าเป็นจุดที่ไม่ผิดนัก แถมหากได้เล่น เชื่อว่าคุณจะต้องได้อะไรกลับไปมากกว่าเกมที่สนองความต้องการทาสแมว แม้เกมเพลย์จะไม่ได้หวือหวา แต่โดยภาพรวม นี่คือเกมที่ทำได้เกินมาตรฐานของเกมอินดี้มาก ๆ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเกมนี้ควรจะได้รางวัลสักเวที

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส