[รีวิวเกม] Detroit: Become Human ลงตัว สวยงาม น่าติดตามที่สุดของค่าย Quantic Dream
Our score
8.9

Detroit: Become Human

จุดเด่น

  1. ความลงตัวที่สุดในบรรดาเกมของค่ายนี้
  2. การบังคับที่ง่าย แต่ยังท้าทาย
  3. กราฟฟิกสมจริง ภาพมุมกล้องแบบหนังฮอลลีวู้ด
  4. เนื้อเรื่องสุดยอดผ่าน 3 ตัวละครหลัก
  5. เส้นทางเลือกแตกย่อยได้เยอะมาก

จุดสังเกต

  1. เนื้อเรื่อง "บาง" รูทเข้าขั้นน้ำเน่า ตรรกะอ่อน
  2. กินทรัพยากรเครื่องจนพัดลมสะท้าน
  3. ต้องพออ่านภาษาอังกฤษได้บ้างจึงจะสนุก
  4. ถึงกราฟิกโมเดลตัวละครหลักจะเทพ แต่ส่วนอื่นก็ยังมีงานเผาให้เห็นบ้าง
  • กราฟิกและการนำเสนอ

    9.5

  • การควบคุม

    8.0

  • เนื้อเรื่อง และการวางทางเลือก

    9.0

  • ความแปลกใหม่

    9.0

  • ความคุ้มค่าน่าเล่นซ้ำ

    9.0

ใครเป็นสายเสพเนื้อเรื่องที่มีหลากหลายทางเลือกให้ท้าทายการตัดสินใจ เพื่อพิชิตเนื้อเรื่องแบบ Best ยัน Worst Ending คงรู้จักชื่อของค่าย Quantic Dream เป็นอย่างดี โดยเฉพาะผลงานสร้างชื่อในยุคเอ็กคลูซีฟสำหรับโซนี่อย่าง Heavy Rain (2010) และ Beyond: Two Souls (2013) ที่มีให้เล่นกันถึง 2 เจนเลยทั้งเครื่องเพลย์ฯ 3 และรีมาสเตอร์ในเพลย์ฯ 4 (แล้วเพิ่งแจกฟรีเกม Heavy Rain ให้สมาชิกเพลย์สเตชั่นพลัสไปเมื่อเดือนก่อนนี่เอง)

แต่สำหรับแฟนตัวจริง น่าจะเคยเล่นกันมาตั้งแต่เกม Fahrenheit (2005) หรืออาจคุ้นอีกชื่ออย่าง Indigo Prophecy ในยุคของมัลติแพลตฟอร์ม ที่เรียกตัวเองเป็นเกมแนว Cinematic Interactive Drama Action-Adventure ซึ่งสร้างประสบการณ์สุดว้าวในยุคนั้นให้กับเกมเมอร์อย่างมาก ด้วยรูปแบบการเล่นที่เหมือนกำลังชมภาพยนตร์ผสมกับเกมเพลย์เรียกสติ ที่เรียกว่าได้ใช้ทุกปุ่มของจอย (สำหรับคอมก็ใช้ทั้งเม้าส์และคีย์บอร์ด) ได้คุ้มสุด ๆ นอกจากนั้นการสวมบทบาทของตัวละครหลากหลายที่ผู้เล่นต้องมีส่วนในการตัดสินชะตากรรม เพื่อเดินเส้นเรื่องที่วางไว้อย่างน่าตื่นเต้นก็คือเสน่ห์แบบสร้างฐานแฟนพันธุ์แท้ขึ้นมามากมายทีเดียว

สำหรับเกม Detroit: Become Human นี่ถ้าใครตามมาแต่ต้นคือเป็นโปรเจ็กต์ที่เห็นกันมาตั้งแต่ปลาย ๆ เจนของเครื่องเพลย์ 3 เลยทีเดียว และคือเกมที่สร้างความพรั่นพรึงในเรื่องของกราฟิกโมเดลตัวละครที่สุดแสนสมจริงสวยงามราวกับซีจีของภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดทุนสร้างร้อยล้านกันเลย ทั้งนี้อาจเพราะ เดวิด เคจ หรือชื่อจริงๆคือ เดวิด เดอ กรัตโตลา ตัวผู้กำกับหลักและผู้ก่อตั้งค่าย Quantic Dream เป็นผู้ที่สนใจในงานภาพยนตร์อย่างมาก ต้องยอมรับว่านอกจากบทเกมที่เนื้อเรื่องน่าดึงดูดแล้ว เกมของค่ายนี้ยังคุณภาพสูงทั้งการใช้ดนตรีประกอบ การตัดต่อและมุมกล้องแปลกใหม่ด้วย คือมองมันเป็นหนังเลยก็ได้เลยล่ะ

แต่ด้วยเวลาการพัฒนายาวนานก็ทำเราเกือบลืมโปรเจ็กต์นี้ไปเลย จนมาปลายเจนเครื่องเพลย์ 4 เอาเนี่ยถึงได้เล่นกัน ก็สรุปแบบคร่าว ๆ ฟันธงกันตรงนี้ก่อนเลยว่า

คุ้มค่าการรอคอยมากกกกกกก นะ สำหรับสาวกน่ะ

เนื้อหาเกม และประวัติศาสตร์เมืองที่กลืนกลมคมคาย

เนื้อหาของ Detroit เป็นการบูรณาการหนังและนิยายแนวไซไฟปรัชญา ที่ยิ่งเล่นเกมไปได้กลิ่นไอแรงทั้ง Blade Runner ทั้ง I,Robot ทั้ง A.I. ทั้ง Ex Machina คือมาเยอะหลายเรื่องอ่ะ ในทางที่ดีด้วยนะ โดยเราจะค่อย ๆ เข้าใจเนื้อหาต่าง ๆ ผ่านมุมมอง หรือเส้นเรื่องของ 3 ตัวละครหลักที่ล้วนเป็นหุ่นแอนดรอยด์ทั้งสิ้น

คอนเนอร์ แอนดรอยด์สืบสวน

หนึ่งคือ คอนเนอร์ แอนดรอยด์สืบสวนที่บางคนคงได้เล่นในตอนที่เป็นเดโมไปแล้ว เขาสามารถใช้สมองอัจฉริยะในการประมวลหลักฐานและจำลองสถานการณ์ในที่เกิดเหตุเพื่อการวิเคราะห์คดี นอกจากนั้นเขายังมีหน้าที่สำคัญในการเป็นผู้เจรจากับคนร้าย หรือสืบจากศพเหยื่อโดยเฉพาะคดีที่ผู้ร้ายคือหุ่นแอนดรอยด์ด้วย ส่วนตัวผมค่อนข้างชอบตัวละครนี้ที่สุดนะ เพราะเขาอยู่ตรงกลางระหว่างมนุษย์และแอนดรอยด์ที่สุด เขาต้องพยายามเข้าใจมนุษย์เพื่อร่วมงานกัน ถึงขนาดบางครั้งก็ต้องใช้เล่ห์หลอกแอนดรอยด์ด้วยกันเพื่อบรรลุภารกิจให้ฝั่งมนุษย์ตามโปรแกรมที่ได้รับมา ในขณะเดียวกันมนุษย์ที่เขาเกี่ยวข้องก็มักแสดงความดูถูกและไม่ยอมรับเขา กลายเป็นว่าเขาแทบไม่มีพวกที่จริงใจเลยจริง ๆ การตัดสินใจของเส้นเรื่องคอนเนอร์จึงกระทบตอนจบค่อนข้างมาก เพราะโจทย์ของคอนเนอร์ส่วนตัวผมมองว่าเป็นโจทย์การตัดสินใจที่ยากมากนะ

มาร์คัส แอนดรอยด์รับใช้ของศิลปินชื่อดัง

สองคือ มาร์คัส แอนดรอยด์รับใช้ของศิลปินชื่อดัง ที่ถูกคนใส่ร้ายจนถูกนำไปทำลายทิ้ง แต่เพราะชะตาอันยิ่งใหญ่เขาฟื้นขึ้นมาและถูกชักนำให้เดินทางค้นหา เจริโต้ ดินแดนในคำเล่าลือในหมู่แอนดรอยด์ว่าเป็นสวรรค์ของเหล่าหุ่นที่เกิดความรู้คิดขึ้นมา และทีละนิดเขาก็ค่อย ๆ กลายเป็นแสงนำทางของเหล่าหุ่นต่าง ๆ ตัวละครนี้ค่อนข้างเลือกง่ายคุณสามารถขาวสุดหรือดำสุดแบบเดาชะตากรรมมันได้เลยนะ เป็นเส้นเรื่องที่ผมมองว่าน้ำเน่าสุดนะ แต่ก็นั่นล่ะเรื่องราวแบบมาร์คัสเนี่ยมันชวนให้ปลาบปลื้มไม่ใช่น้อยนะ มันคือตัวแทนของอารมณ์อุดมคติแบบเอพิกเลยล่ะ

คาร่า แอนดรอยด์รับใช้

ตัวสุดท้ายคือ คาร่า จริง ๆ ควรจะยกเธอมาพูดเป็นตัวแรกด้วยซ้ำนะ เพราะตั้งแต่เริ่มโปรเจ็กต์มาเธอถูกนำเสนอเป็นตัวหลักมาตลอด ทั้งยังเป็นสาวหนึ่งเดียวในตัวละครหลักด้วย คือเป็นดอกไม้จรรโลงใจผู้เล่นสุดเลยล่ะ  เธอเป็นแอนดรอยด์รับใช้ที่ต้องดูแล อริส เด็กหญิงลูกของเจ้านายที่ซื้อเธอมา และจับพลัดจับผลูต้องเดินทางผจญภัยไปด้วยกันเพื่อข้ามแดนไปหาเมืองที่มนุษย์และหุ่นจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบ คือเส้นเรื่องนี้ผูกมาเพื่อดราม่า เพื่อช็อกคนเล่น เพื่อกระแทกกระทั้นหัวใจคนดูสุด ๆ อ่ะ

แน่นอนว่าตามสไตล์ครับ ท้ายสุดทั้ง 3 ก็ต้องมาเกี่ยวพันไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ในช่วงเหตุการณ์ขมวดเกลียวที่สุด และการตัดสินใจของแต่ละตัวละครเมื่อมาผนวกกันก็จะเกิดความเป็นไปได้มากมายนำไปสู่บทสรุปที่หลากหลายสมใจนักล่าเรื่องราว โดยส่วนตัวเกมนี้ไม่ค่อยมีเส้นเรื่องที่เปล่าประโยชน์ หรือจำเป็นต่อแก่นเรื่องน้อยแบบเส้นเรื่องอินเดียนแดงใน Beyond: Two Souls คือเกมนี้คิดมาละเอียดและกลมกล่อมเป็นเอกภาพสอดคล้องกันดีมากครับ

โดยความแยบยลและฉลาดอีกประการของตัวเกมคือมันเอามาผสานกับประวัติศาสตร์ดราม่ายุคอุตสาหกรรมใหม่ในอเมริกา อย่างที่เมืองดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน คือประยุกต์ได้เนียนอย่างต้องกราบอ่ะ คมคายมาก ตรงนี้ขอแบ่งปันความรู้กันหน่อยเผื่อจะอินขึ้น

เรื่องราวของเมืองดีทรอยต์ ดราม่ายุคอุตสาหกรรม

คือเมืองดีทรอยต์เนี่ยในยุคอุตสาหกรรมรถยนต์อเมริกันเฟื่องฟูสักเมื่อ 80 ปีก่อน ประมาณทศวรรษ 1930 ถือเป็นเมืองแห่งโรงงานผลิตรถยนต์เลย เพราะคือฐานใหญ่ของ GM บริษัทระดับโลกของอเมริกา ความเจริญและเทคโนโลยีหลั่งไหลเข้ามามากรวมถึงคนมากมายที่มาขุดทองกันด้วย แต่ภายหลังเพราะประสบปัญหาทางการเงินในช่วงปลายทศวรรษ GM ก็เลือกกดค่าแรงและลดสวัสดิการต่าง ๆ ลง จนคนงานหรือก็คือชาวเมืองส่วนใหญ่นั่นล่ะ รู้สึกทนไม่ไหว ประท้วงก่อจลาจล เรียกว่าประธานาธิบดีรูสเวลท์ในตอนนั้นต้องส่งกองทัพเข้ามาจัดการความวุ่นวายเลยทีเดียว นักข่าวต่าง ๆ ก็จับจ้องเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นี้ เพราะท้ายสุดมันทำให้เกิดสหภาพแรงงานขึ้นครั้งแรก ทำให้นายทุนไม่สามารถเอารัดเอาเปรียบลูกจ้างได้อีกต่อไป

ระหว่างที่เล่นนอกจากสภาพบ้านเมืองที่ถูกปล่อยทิ้งรกร้างในย่านคนจน ตัดกับภาพความเจริญสุด ๆ ของเมืองในตัวเกมแล้ว เรายังได้เห็นการแทนภาพของแอนดรอยด์กับภาพคนงานที่ถูกกดขี่ด้วย สัญญะต่าง ๆ ในฉาก แล้วการเดินเรื่องอย่างสุดแสนจะดราม่า ก็ผลักให้เรายิ่งเล่นยิ่งอินเข้าเรื่อย ๆ กับการตัดสินใจในแต่ละช่วงของตัวละคร ที่ต้องบอกว่าคนเขียนบทยกเรื่องจริงมาสวมเรื่องสมมติ แล้วตกตะกอนให้คนเกิดความคิดความเข้าใจต่อสังคมโลกได้อย่างปรัชญามากครับ โดยเฉพาะคำถามใหญ่ที่ว่า เรายอมรับหรือเคารพต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพราะอะไรกันแน่ ตรงนี้เรียกร้องให้แต่ละคนตอบไประหว่างการเดินทางตลอดเกมนี้ครับ

และถ้ากลัวจะง่วงอืดยืด บอกเลยครับเข้มข้นหลากอารมณ์ได้ตลอดเลย และที่สำคัญเกมหลอกล่อด้วยฉากปักธงที่ชวนให้คิดว่าตัวละครนั้น ๆ ต้องตายแหง ๆ อยู่ตลอดเลย จนเราเครียดมากเหมือนกันนะเพราะตัวละครบางตัวเราโคตรผูกพันมัน รักมันเลย และบางช่วงที่พอมันดราม่าจัด ๆ นี่โห บางฉากยอมกลับไปเล่นใหม่เพื่อแก้ผลลัพธ์เลยล่ะ บอกตรงนี้เลยเกมนี้มีโอกาสทำเอาตับแตกเยอะมากครับ รู้ทเส้นเรื่องที่ดีที่สุดก็ยังมีดราม่าเลยนะ

กราฟิก

มาพูดถึงด้านกราฟิกบ้าง ต้องยอมรับแบบสุดใจว่าโมเดลตัวละคร การทำเท็กเจอร์ผิว และเอฟเฟ็กต์ต่าง ๆ รวมถึงโมแค็ปสีหน้าท่าทางนี่ สมกับการพัฒนาอย่างจริงจังยาวนานมาก คือสวยสมจริงมาก ๆ จะโคลสดูใกล้ ๆ ก็ยิ่งตื่นตาในความละเอียด สีหน้านี่ก็อินเข้าใจง่ายมาก ส่วนพวกฉากนี่ก็ถือว่าได้ดีเลยครับมีความหลากหลายสภาพแวดล้อม บางฉากนี่นึกว่าเกม Resident Evil บางฉากก็นึกว่า Mission Impossible เลยนะ หลากอารมณ์ครบเครื่องมาก ถึงบางฉากจะไม่ได้ละเอียดมากนักแต่ก็ยืนพื้นบนความพอดีไม่ต่ำเกรดจนน่าเกลียด

ที่ขัดใจคงเป็นบางอย่างที่เผาแบบชัดเจนอย่างการเข้าโหมดวิเคราะห์หรือวิชั่นพิเศษของตัวละครที่เวลาหยุดนิ่ง รายละเอียดของตัวประกอบและฉากนี่ดรอปลงจนช็อกนะบางที โดยเฉพาะฉากหลัง ๆ ที่ตัวละครประกอบฉากจำนวนมาก ๆ ก็มีความทื่อและเผางานอยู่เหมือนกันราวกับใช้แรงทำทั้งเกมมาดีแล้วเริ่มเหนื่อย

และที่สั่นสะท้านหัวใจสุดคงเป็นเสียงพัดลมของตัวเครื่องที่ดังก้องไม่ต่างกับตอนเล่นเกมอย่าง God of War ฉบับล่าสุดเลยทีเดียว (ซึ่งก็อดฯปรับแต่งมาดีกว่านะในภาพรวม) ยิ่งบางช่วงที่ต้องเรนเดอร์โมเดลจำนวนมากในฉากก็มีอาการกระตุกหน่วงให้เห็นเหมือนกัน บั๊กที่ทำให้ตัวละครทำท่าแปลก ๆ หรือลอยก็มีบ้างแต่ต้องยอมรับว่าน้อยมากกก ส่วนบั๊กที่ทำให้เกมค้างจนต้องออกจากเกมก็มีเหมือนกันแต่ก็น้อยมากกกก อีกนั่นล่ะ (ผู้รีวิวเจอไป 1-2 ครั้ง ในช่วงใกล้ ๆ จบเกม)

การควบคุม

การควบคุม และความลื่นไหลของเกมเพลย์ ถ้าใครเคยเล่น Beyond: Two Souls อันนี้จะใกล้พอสมควร พัฒนาจากตอนเกม Heavy Rain ที่การคุมไม่สะดวกขั้นสุดไปเยอะมาก แต่อาจเพราะบียอนด์ใส่รายละเอียดการควบคุมไว้เยอะ ทั้งฉากแอ็กชั่นที่ค่อนข้างมาก และการควบคุมวิชั่นวิญญาณคุ้มครองเราอีก ก็จะค่อนข้างมีการใช้ปุ่มและเซ็นเซอร์ของจอยครบเครื่องกว่ามาก แต่พอมาเกมดีทรอยต์นี้เหมือนจะปรับลดลงมาให้พอดี ไม่ยากเยอะเท่าบียอนด์ฯ แต่ก็ไม่ง่ายจนขาดความท้าทาย คือใครที่เล่นบียอนด์มาแล้วคงพริ้วเลยล่ะ โดยรวมผมว่าพอดีลงตัว ลื่นไหลไม่สะดุดดีสามารถเล่นได้เพลิน ๆ โดยไม่ต้องยกจอยสั่นจอยขัดจังหวะเลย

ส่วนที่ต้องชมอีกอย่างคือความใส่ใจในรายละเอียดของการนำเสนอครับ โดยเฉพาะหน้าเมนูที่มีตัวละครแสดงรีแอ็กชั่นกับการเล่นของเราด้วยนะ คือบางทีเธอจะถามคำถามเราเกี่ยวกับประเด็นในเรื่อง หรือแสดงท่าทีต่อการตัดสินใจที่ผ่านมาของเราด้วยสีหน้าท่าทางได้ด้วย คือเจ๋งเลยอ่ะ ในตอนช่วงจบเกมยังมีกิมมิกเจ๋ง ๆ ด้วยนะ

ฟันธงคุ้มไหมถ้าจะซื้อ

และสุดท้ายก็คงขอแนะนำคนที่จะซื้อมาเล่นครับ ว่ามันคือเกมที่โคตรดีโคตรเจ๋งเลยล่ะถ้าคุณชอบเกมแนวนี้ และพอจะมีสกิลภาษาอังกฤษในระดับหนึ่ง เพราะถ้าไม่อ่าน/ฟังบทสนทนาต่าง ๆ มันจะเอาไปตอบตัดสินใจทางเลือกได้ไม่ดีและไม่อินเลย ตัวทางเลือกก็ซับซ้อนใกล้เคียงกันมากนะบางทีแบบต่างกันนิดเดียว มันคือแสดงให้เห็นว่าเกมมันรองรับความคิดของผู้เล่นไว้ครบเครื่องหลากหลายทีเดียว การไล่หาการจบหรือจุดเปลี่ยนเหตุการณ์แบบต่าง ๆ ที่เป็นได้มันจึงน่าสนใจมาก ยอมกลับไปเล่นใหม่หลายฉากเพราะความอยากรู้นี่ล่ะครับ และเกมก็เอื้อให้เราไปสำรวจเส้นทางที่ต่างไปด้วยนะ เราสามารถกลับมาเล่นแชปเตอร์เคยผ่านไปแล้วใหม่ได้ โดยเลือกได้ว่าจะเซฟผลลัพธ์ไปในแชปเตอร์อื่นด้วยหรือไม่ หรือแค่เล่นเพื่อดูความเป็นไปได้อื่นแล้วไม่เซฟไป

นอกจากนี้เกมยังเปิดให้ใช้ทริกเล็ก ๆ ในการเล่นด้วย โดยถ้าผลลัพธ์ดูไม่เป็นดั่งใจเรากดออกไปเข้าหน้าเมนู แล้วกลับเข้ามาเล่นใหม่ มันจะเริ่มที่ต้นฉากนั้นใหม่ เพราะเกมไม่ได้ทำการเซฟออโต้ทุกครั้งที่เรากดเลือกย่อย ๆ ทำให้เรากลับไปแก้ไขทางเลือกที่ไม่ชอบใหม่ได้ โดยเฉพาะพวกควิกไทม์อีเว้นท์ยาก ๆ ที่ส่งผลต่อเนื้อเรื่องนี่ได้ใช้บ่อยเลย

อ่อเกมมีระบบสะสมคะแนนไว้ใช้ปลดเนื้อหาพิเศษต่าง ๆ เช่นวิดีโอหนังสั้น คอนเซ็ปต์อาร์ต เพลงประกอบ โมเดลตัวละครในหน้าเมนูด้วย โดยคะแนนนี้ก็มาจากการเล่นของเราว่าได้ทำกิจกรรมเยอะขนาดไหน และเก็บทางแยกแต่ละอันในเส้นเรื่องได้เยอะขนาดไหนนั่นเอง กระตุ้นให้ผู้เล่นสำรวจและลองเสี่ยงเล่นในทางต่าง ๆ มากขึ้นด้วย

และถ้าคุณทั้งไม่มีสกิลภาษา ไม่ชอบเล่นเกมแนวเนื้อเรื่องแบบนี้อีก ผ่านไปเลยครับมันคือเกมดีที่คุณจะเอาไปดองและบ่นในภายหลังเท่านั้นเอง

ขอบคุณ Sony Interactive Entertainment สำหรับเกมเพื่อรีวิวนะครับ