กระทรวงสาธารณสุขของประเทศอิสราเอล ระบุว่า มีประชาชนราว 189,000 คนที่ถูกตรวจหาเชื้อหลังได้รับฉีดวัคซีนโควิด-19 ของ Pfizer/BioNTech และพบว่าผู้ป่วยกว่า 12,400 รายหรือประมาณ 6.6% มีผลตรวจเป็นบวกหรือหมายถึงยังตรวจพบเชื้อโควิดอยู่แม้ว่าจะฉีดวัคซีนแล้ว โดยส่วนใหญ่ตรวจพบว่า ผู้ป่วยติดเชื้อหลังจากได้รับวัคซีนเข็มแรกไม่นานซึ่งอาจเป็นช่วงที่วัคซีนยังไม่สร้างภูมิคุ้มกัน ขณะที่ผู้ป่วยอีก 1,410 คนมีผลตรวจเป็นบวกหลังได้รับวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว 2 สัปดาห์ ที่น่ากังวลมากยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ผู้ป่วย 69 คนในบรรดาผู้ป่วยทั้งหมดได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 ครบตามโดสแล้วแต่ก็ยังติดเชื้อโควิด

ศาสตราจารย์ Nachman Ash ผู้ประสานงานด้านโรคระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของอิสราเอลได้ออกมาเปิดเผยว่า วัคซีนของ Pfizer ดังกล่าวมีประสิทธิภาพน้อยกว่าที่คิดและน้อยกว่าผลการทดลองที่เปิดเผยออกมาก่อนหน้านี้โดยผู้ผลิตวัคซีน ทางด้าน Pfizer ก็ชี้แจงว่า การสร้างภูมิคุ้มกันจะเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 15 ถึง 21 หลังได้รับวัคซีนเข็มแรก ซึ่งประสิทธิภาพของวัคซีนจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 52-89% และเมื่อได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 จะมีประสิทธิภาพในการต้านไวรัสได้สูงถึง 95%

อิสราเอลเริ่มฉีดวัคซีนให้กับประชาชนตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม เริ่มจากกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคแทรกซ้อน ซึ่งเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่าประชาชนราว 2.15 ล้านคนหรือกว่า 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมดได้รับการฉีดวัคซีนของ Pfizer แล้ว และขณะนี้มีประชาชนประมาณ 300,000 คนหรือ 3.5% ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 แล้วเรียบร้อย ส่วนยอดผู้ติดเชื้อสะสมในประเทศอยู่ที่ 583,000 คน รักษาหายแล้ว 497,000 คน และเสียชีวิต 4,245 ราย แต่สำหรับความสำเร็จที่สามารถฉีดวัคซีนได้อย่างรวดเร็วนี้ก็ทำให้คาดว่า อิสราเอลจะฟื้นฟูประเทศได้เร็วกว่าประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่ธนาคารกลางอิสราเอล มองว่าเศรษฐกิจของประเทศจะโตขึ้นถึง 6.3% ในปีนี้ และอีก 5.8% ในปี 2022

ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวออกมาว่า อิสราเอลได้กลายเป็นประเทศที่กระจายฉีดวัคซีนให้กับประชาชนภายในประเทศรวดเร็วที่สุด โดยมี Benjamin Netanyahu นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับวัคซีนคนแรก โดยจนถึงวันนี้ อิสราเอลสามารถกระจายฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้มากกว่า 20% ภายในเวลาไม่ถึง 1 เดือน เป้าหมายหลักของโครงการฉีดวัคซีนของอิสราเอล คือการฉีดวัคซีนให้กับผู้คนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้และโดยเร็วที่สุดภายในเดือนเมษายน และจนถึงตอนนี้ประชาชนที่อายุมากกว่า 60 ปีก็ได้รับวัคซีนถึง 72% แล้วด้วย อย่างไรก็ตามอิสราเอลก็ถูกตั้งคำถามถึงประเด็นสิทธิมนุษยชน เนื่องจากความล้มเหลวในการแจกจ่ายวัคซีนให้กับชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาและเวสต์แบงก์ แม้ว่าปาเลสไตน์จะไม่ได้ร้องขอความช่วยเหลืออย่างเป็นทางการจากอิสราเอล

เหตุผลที่ทำให้อิสราเอลตกลงกับ Pfizer เพื่อให้ได้วัคซีนเร็วที่สุด Netanyahu ได้เปิดเผยว่า หนึ่งในข้อตกลงกับบริษัท Pfizer คือการแลกเปลี่ยนข้อมูลของประชาชนสำหรับวัคซีน 10 ล้านโดส ประกอบด้วยรายละเอียดเกี่ยวกับอายุ เพศ ประวัติทางการแพทย์ รวมถึงผลข้างเคียง ซึ่งจะสามารถบอกถึงประสิทธิภาพของวัคซีน (แต่ไม่เปิดเผย และระบุตัวตนของประชาชน เพื่อความเป็นส่วนตัว) และข้อมูลนี้จะถูกส่งให้องค์การอนามัยโลกด้วยเพื่อการศึกษาขั้นต่อไป เพื่อแลกกับสัญญาที่ Pfizer จะจัดส่ง 400,000-700,000 โดสให้กับอิสราเอลทุกสัปดาห์

ยังมีรายงานเปิดเผยด้วยว่า Netanyahu ได้พยายามสานความสัมพันธ์กับผู้บริหารระดับสูงของทั้ง Pfizer และ Moderna เพื่อแลกกับดีลผลประโยชน์ที่อิสราเอลจะได้ แต่ถึงอย่างนั้น อิสราเอลก็ยังต้องซื้อวัคซีนในราคาที่สูงกว่าประเทศอื่น ๆ โดยอาจสูงถึง 47 เหรียญฯ ต่อ 2 โดสที่จะใช้ฉีดสำหรับ 1 คน

นอกจากนี้ ก็มีรายงานมีชาวอิสราเอลอย่างน้อย 13 คนมีอาการอัมพาตที่ใบหน้าหลังจากได้รับวัคซีนของ Pfizer หนึ่งเดือนหลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) และเจ้าหน้าที่เชื่อว่าจำนวนผู้ป่วยดังกล่าวอาจสูงขึ้น รายงานปัญหาที่คล้ายคลึงกัน แต่ FDA ชี้ว่าอาการดังกล่าวไม่เกี่ยวกับการรับวัคซีน ผู้ป่วยรายหนึ่งที่เกิดผลข้างเคียงว่า เขามีอาการอัมพาตที่ใบหน้าราว 28 ชั่วโมง แต่ยังไม่สามารถพูดได้ว่าอาการมันหายไปอย่างสมบูรณ์ภายในกี่ชั่วโมง แต่นอกเหนือจากนั้นเขาไม่มีความเจ็บปวดอะไรอื่นอีก ผู้ป่วยรายนี้ตั้งข้อสังเกตว่าปฏิกิริยานี้เกิดขึ้นได้ยากและเน้นว่าการฉีดวัคซีนเป็นสิ่งที่สำคัญ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส