ในช่วง 2-3 เดือนมานี้ การถกเถียงบนโซเชียลมีเดียในเรื่องความขัดแย้งอิสราเอลและกลุ่มฮามาสดูจะตึงเป็นพิเศษ

หลายคนกังวลว่าการต่อสู้ในครั้งนี้ทำให้ผู้บริสุทธิ์บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก บ้างก็ว่าอิสราเอลทำถูกแล้วเพราะเป็นการป้องกันตัวเอง ขณะที่บางส่วนก็เห็นใจชาวปาเลสไตน์และประณามอิสราเอล

ท่ามกลามความเห็นเหล่านี้ มีบางส่วนที่โพสต์เนื้อหาที่เป็นการบิดเบือนความจริง ที่นับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ข่าวที่กลุ่มชาวนาฝรั่งเศสนำมูลวัวมาทิ้งหน้าร้าน McDonald’s ถูกนำเสนอว่าเป็นการประท้วงอิสราเอล

ตั้งแต่การบิดเบือนตัวเลขผู้เสียชีวิต การโจมตีเนื้อหาข่าวด้วยข้อมูลเท็จ ใช้เนื้อหาจากเหตุการณ์ในอดีต หรือเหตุการณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาปะปน หรือแม้แต่การ ‘สร้าง’ เหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้น

สงครามกาซาทำให้ข้อมูลเท็จเพิ่มขึ้น

ภายหลังจากที่สงครามกาซาเริ่มขึ้น การปล่อยเท็จก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก ในจำนวนนี้มีทั้งการใช้ภาพจากวิดีโอเกมมาอ้างว่าเป็นภาพจากเหตุการณ์ และยังมีการใช้เทคโนโลยีใหม่อย่าง AI เข้ามาบิดเบือนร่วมด้วย

Bohemia Interactive ผู้สร้าง ARMA 3 อธิบายว่าภาพจากเกมถูกนำไปบิดเบือนอย่างไรบ้าง

นี่ไม่ใช่คำกล่าวลอย ๆ แต่ยืนยันโดยผู้เชี่ยวชาญอย่าง พิปปา แอลเลน คินรอสส์ (Pippa Allen-Kinross) บรรณาธิการข่าวของ Full Fact เว็บไซต์ตรวจข้อเท็จจริง ที่ชี้ว่าสงครามกาซาทำให้การบิดเบือนข้อมูลซับซ้อนขึ้นมาก

ขณะเดียวกัน อดัม แฮดลีย์ (Adam Hadley) ผู้ก่อตั้ง Tech Against Terrorism ยอมรับว่าความตึงเครียดของสงครามที่เพิ่มขึ้น ทำให้การบิดเบือนข้อมูลมีมากขึ้นตามไปด้วย

นี่เป็นเสมือนสงครามข่าวสาร ที่ไม่แพ้สงครามในสนามรบ

อดัม แฮดลีย์

แฮดลีย์ชี้ว่าผู้คนแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในเหตุการณ์นี้มากกว่าในกรณีสงครามยูเครน ทำให้การบิดเบือนข้อมูลรุนแรงกว่ามาก หลายครั้งเกิดจากบุคคลที่มีชื่อเสียง สำนักข่าว หรือแม้แต่หน่วยงานรัฐ

นี่ไม่ใช่ภาพ คริสเตียโน โรนัลโด (Christiano Ronaldo) กำลังชูธงปาเลสไตน์ แต่เป็นนักฟุตบอลชาวโมร็อกโกที่ชื่อ จาวัด เอล ยามีก (Jawad El Yamiq)

แจ็กสัน ฮิงเคล (Jackson Hinkle) อินฟลูเอนเซอร์ด้านการเมืองชาวอเมริกัน ที่มีผู้ติดตาม 2 ล้านคนบน X เคยโพสต์ข้อมูลเท็จหน้าตาเฉยว่าผู้เสียชีวิตจากการบุกสังหารประชาชนในพื้นที่ทางตอนใต้ของอิสราเอลโดยกลุ่มฮามาส เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม มีไม่ถึง 100 คน ส่วนใหญ่เป็นเจ้าของนิคมชาวยิวที่มีอาวุธ

แต่ข้อเท็จจริงคือผู้เสียชีวิตมีมากถึง 1,200 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้บริสุทธิ์ รวมถึงเด็ก ผู้หญิง และชาวต่างชาติ ซึ่งมีชาวไทยรวมอยู่ด้วย

คลิปเก่าจากในซีเรียที่ถูกปั้นแต่งว่าเป็นจรวดจากฉนวนกาซา

สถิติจากองค์กร ProPublica ที่ทำร่วมกับ Tow Center for Digital Journalism ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียเผยว่าฮิงเคลมียอดติดตามพุ่งขึ้นเท่าตัวนับตั้งแต่หลังที่กลุ่มฮามาสบุกโจมตีอิสราเอลเป็นต้นมา จากเดิมที่มีผู้ติดตามแตะ 1 ล้านคนเท่านั้น

เช่นเดียวกับบัญชีผู้ใช้งาน X หลายรายที่โพสต์ข้อมูลเท็จมียอดผู้ติดตามสูงขึ้นจนไปแตะตัวเลขที่มากไม่แพ้สำนักข่าว

ข่าวปลอมเกิดขึ้นทั้งสองฝั่ง

การเผยแพร่ข่าวปลอมไม่ได้เกิดจากเฉพาะฝั่งที่กล่าวหาอิสราเอลหรือเข้าข้างฮามาสเท่านั้น แต่ยังมีข้อกล่าวหาที่ว่าภาพความเจ็บปวดและความสูญเสียที่ชาวปาเลสไตน์โพสต์นั้นเป็นของปลอม

คำกล่าวหานี้มีส่วนหนึ่งที่มาจากหน่วยงานรัฐบาลของอิสราเอลเอง ที่เคยออกมาระบุว่าภาพผู้เสียชีวิตชาวปาเลสไตน์ที่ปรากฎในคลิปวิดีโอบน X เป็น ‘ตุ๊กตา’ ที่เหมือนคน แต่ก็ต้องถอนโพสต์นั้นออกไปหลังจากที่มีการพิสูจน์แล้วว่าในคลิปเป็นคนจริง ๆ

ตัวอย่างการใช้คำว่า Pallywood ของอินฟลูเอนเซอร์ที่สนับสนุนอิสราเอล

ความเชื่อที่ว่าชาวปาเลสไตน์แต่งเรื่องความสูญเสียขึ้นมา จนเกิดศัพท์ใหม่ว่า ‘Pallywood’ ซึ่งเป็นการเอาคำว่าฮอลลีวูด (Hollywood) แหล่งอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของสหรัฐอเมริกา รวมเข้ากับคำว่าปาเลสไตน์ (Palestine)

ข่าวปลอมที่เกิดขึ้นจำนวนมากนอกจากจะทำให้ยากที่จะรู้ว่าข่าวไหนเป็นข่าวจริงแล้ว ยังทำให้คนไม่เชื่อ (หรือเลือกที่จะไม่เชื่อ) ข้อมูลที่เป็นความจริงด้วย

ตัวอย่างมาตรการในหลายประเทศ

เทียร์ฮี เบร์ตอง (Thierry Breton) คณะกรรมาธิการฝ่ายตลาดภายในสหภาพยุโรป นำกฎหมายการบริการดิจิทัลของสหภาพยุโรป (Digital Services Act – DSA) มาขู่ลงโทษแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook และ TikTok ให้จัดการกับการปล่อยข่าวปลอมที่เกี่ยวกับสงครามฮามาส

อย่างไรก็ดี มาตรการนี้ถูกมองว่าจงใจเพ่งเล็งข่าวปลอมจากทางฝั่งผู้สนับสนุนฮามาส หรือคนที่เห็นใจชาวปาเลสไตน์เพียงอย่างเดียว

ผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียอย่าง Meta Platforms เจ้าของ Facebook และ Instagram ที่ลบเนื้อหาเท็จไปแล้วกว่า 800,000 ชิ้น แสดงให้เห็นถึงมาตรการที่เข้มข้น แต่ในขณะเดียวกันก็เผยให้เห็นการปล่อยข้อมูลเท็จที่รุนแรงด้วย

ตัวอย่างคำอธิบายข้อเท็จจริงบน X

ด้าน X ของ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) เองก็มีระบบแปะป้ายชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโพสต์ที่บิดเบือนความเป็นจริงที่เรียกว่า Community Note เพื่ออธิบายข้อเท็จจริงเทียบกับเนื้อหาที่สร้างขึ้น

วิธีป้องกันตัวจากข่าวปลอม

แม้ว่าในปัจจุบันการสร้างข้อมูลเท็จจะด้วยการผสมผสานเทคโนโลยี AI เข้ากับวิธีการเล่าเรื่องที่สมจริงจะทำให้การแยกแยะข้อมูลจริงจากข้อมูลปลอมทำได้ยาก

แต่การมีสติและการใช้วิจารณญาณยังเป็นสิ่งที่ช่วยในการจำแนกข้อมูลข้อเท็จจริงอยู่ เมื่อได้รับข่าวที่น่าตกใจ ควรหยุดคิดก่อนที่จะแสดงความเห็นอะไรออกไป

สำหรับการตรวจสอบความผิดปกติ เครื่องมือดี ๆ อย่าง Google Image หรือ Tin Eye ก็สามารถนำมาใช้ดูที่มาของภาพบนโลกออนไลน์ได้ง่ายมาก

นอกจากนี้ ในโลกยุค AI ยังมีช่องทางจำนวนมากให้เทียบข้อมูลกัน ทั้งจากสำนักข่าว เว็บไซต์ตรวจสอบข้อเท็จจริง อย่าง Snopes และ Full Fact

การตรวจสอบลักษณะการเขียนก็สำคัญ เนื้อหาเท็จมักใช้ถ้อยคำที่ปลุกเร้าอารมณ์ให้ชวนโกรธแค้น และใส่ความคิดเห็นมากจนเกินพอดี

ที่สำคัญคือการเปิดใจให้กว้าง เข้าใจอคติที่ตัวเองมี พยายามดูข้อมูลจากทุกฝ่าย และตรวจสอบแหล่งที่มาให้ถี่ถ้วน อย่าคิดว่าถ้ามาจากสำนักข่าวใหญ่ หรือหน่วยงานรัฐ จะเป็นแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือเสมอไป

เพราะบางทีข้อมูลเท็จอาจมาจากแหล่งที่ดูน่าเชื่อถือก็เป็นได้

ที่มา The Guardian, The Verge, ProPublica, AFP Thailand | Fact Check, DW, BBC News

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส