ดูเหมือนตอนนี้ไม่ว่าอะไร (หรือใคร) ก็จะได้รับผลกระทบจาก AI ด้วยกันทั้งสิ้น

ไม่เว้นแม้แต่ “กูเกิล” (Google)

อย่างที่เราทราบว่าตอนนี้ AI เริ่มย่างกรายเข้ามาสู่ธุรกิจค้นหาข้อมูล (Search Business) มาแล้ว แถมไม่พอช่วงหลังๆ ถ้าใครสังเกตก็จะเห็นว่าผลการค้นหาของกูเกิลเองก็ดูจะแย่ลงกว่าเดิม (เหตุผลอาจจะเพราะข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจำนวนเยอะมหาศาลที่ AI สร้างขึ้นมาทำให้คุณภาพของข้อมูลบนโลกอินเทอร์เน็ตนั้นลดลงไปด้วย) แถมพวกเครื่องมืออย่าง ChatGPT, Google Gemini หรือ Microsoft Copilot ก็เริ่มเก่งขึ้นเรื่อยๆ

เรากำลังจะเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ของการค้นหาข้อมูลและเสพข้อมูลเข้าไปทุกที

บริษัทอย่าง Perplexity หรือ You.com ล้วนต่างโปรโมทเรียกตัวเองว่าเป็น “Next-Generation Search” หรือเครื่องมือค้นหายุคใหม่ที่พร้อมเข้ามาแข่งกับเจ้าตลาดอย่างกูเกิล แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความกูเกิลจะยอมแพ้ง่ายๆ เพราะพวกเขา (หรือ bing ก็ตาม) ก็พัฒนาเครื่องมือค้นหาข้อมูลที่ใช้เทคโนโลยี AI อยู่เบื้องหลังเช่นกัน

เป็นไปได้ไหมว่าต่อไปเราจะไม่ต้องมานั่งไล่กดลิงก์ทีละอันอีกต่อไป แค่ถาม…แล้วก็ได้คำตอบเลย?

Search ไม่ใช่แค่การค้นหาข้อมูล

ก่อนจะไปตอบคำถามตรงนั้น เราต้องเข้าใจก่อนว่า Search Engine สำหรับผู้ใช้งานทั่วไปไม่ใช่แค่เครื่องมือค้นหาข้อมูลเท่านั้น

นอกจากกูเกิลจะถูกใช้เพื่อหาข้อมูลที่เราต้องการแล้ว หลายต่อหลายคนใช้มันเพื่อหาร้านอาหารที่อยากกินแถวนั้น หาข้อความในกล่องอีเมลที่ผ่านมานานแล้ว พิมพ์หาข้อมูลข่าวสารของประเด็นที่กำลังร้อนแรงบนโลกออนไลน์ ใช้เป็นต้นทางเพื่อไปเว็บไซต์อื่นๆ (ใครไม่เคยพิมพ์ Shopee/Lazada ในกูเกิลบ้าง) หรือบางคนถึงขั้นพิมพ์ ‘Google’ เพื่อไปกูเกิลบนกูเกิลด้วย

เราคิดว่ามันเป็นเครื่องมือหาข้อมูล แต่ที่จริงแล้วมันทำหน้าที่หลายอย่างมากกว่านั้นมาก

เพราะฉะนั้นถ้าอยากจะเอาเครื่องมือค้นหาในรูปแบบของ AI (ที่พิมพ์คำถามเหมือนบทสนทนาแล้วได้คำตอบเลย) มาเทียบกับกูเกิลแล้ว ที่จริงต้องดูว่าหลายๆ ฟังก์ชันที่เราใช้กูเกิลในทุกวันนี้ พวกเครื่องมือค้นหาแบบ AI นี้สามารถทำได้รึเปล่า

เดวิด เพียร์ซ (David Pierce) บรรณาธิการ Verge เว็บไซต์เทคโนโลยีระดับโลก (ก่อนหน้านี้เคยทำงานที่ The Wall Street Journal และ Wired) เลยทำการทดลองเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยนำเอาคำที่คนค้นหากันมากที่สุดบนกูเกิลมาทดลองกับเครื่องมือค้นหาที่เป็น AI ทั้งหลาย

เขาบอกว่า “ในบางสถานการณ์ ผมพบว่าบอตที่สร้างขึ้นมาจากโมเดลภาษา (language model-based bots) ก็มีประโยชน์มากกว่ากูเกิลจริงๆ แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ผมก็ค้นพบว่ามันเป็นเรื่องที่ยากมากเลยที่ไม่ว่าอะไร จะ AI หรืออะไรก็ตามแต่ จะมาแทนที่กูเกิลในฐานะศูนย์กลางของเว็บได้”

AI Search Engine VS. Google

การค้นหาแต่ละแบบเป็นยังไงบ้าง

Navigation

ซึ่งก็คือการพิมพ์ชื่อของเว็บไซต์ที่อยากไปเข้าไปในกล่องค้นหานั่นแหละ เช่น YouTube, Facebook, Yahoo Mail, Shopee ฯลฯ หน้าที่ของกูเกิลคือพาคุณไปยังเว็บไซต์นั้น

สำหรับกูเกิล พิมพ์อะไรก็ขึ้นมาเป็นอันดับแรกๆ อยู่แล้ว แต่พอเป็นพวกเครื่องมือค้นหาแบบ AI มันจะงงๆ หน่อยหนึ่ง อย่างถ้าเราพิมพ์ beartai บนกูเกิล เว็บ BTbeartai ก็จะขึ้นมาอันแรก กดลิงก์ไปต่อเว็บไซต์ได้เลย ส่วนถ้าเป็น AI Search มันจะขึ้นข้อมูลเกี่ยวกับเว็บไซต์/บริษัทนั้นๆ ขึ้นมา ยาวเหยียด ทั้งๆ ที่สิ่งที่ผู้ใช้งานต้องการก็แค่ลิงก์เพื่อไปเว็บไซต์นั้นๆ

การมีข้อมูลที่อธิบายเพิ่มเข้ามาก็ถือเป็นเรื่องที่ดี หากนั่นคือสิ่งที่คุณต้องการ แต่การรอให้มันพิมพ์จนจบเป็นหลายๆ พารากราฟ อธิบายว่าบริษัทคืออะไรดูไม่ตอบโจทย์สักเท่าไหร่

ในเชิงนี้กูเกิลก็ยังทำงานได้ดีกว่า

Real-Time Information Query

หาข้อมูลแบบเรียลไทม์ (หรือล่าสุด) เกี่ยวกับบางอย่างที่เราสนใจ เช่น ผลบอลลิเวอร์พูล, ผลบอลแมนยูฯ, สภาพอากาศ, ค่าฝุ่น PM เชียงใหม่ ฯลฯ เราอาจจะไม่ได้สนใจหรอกว่าข้อมูลมาจากไหน ขอแค่ได้ข้อมูลก็พอ

ยกตัวอย่างการหาคำว่า “ผลบอลลิเวอร์พูล” (ล่าสุดเพิ่งคาบ้านมา 0-3 ครับ)

หากูเกิลเจอเลยคือผลลัพธ์การแข่งขันล่าสุด แต่พอไปหา AI Search ก็ได้จะผลการแข่งขันเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ล่าสุด จะเป็นเกมตั้งแต่เดือนก่อน ที่แข่งกับแมนซิตี้เสมอ 1-1

หรืออย่างการหาร้านอาหารบริเวณที่เราอยู่หรือที่ต้องใช้ข้อมูลของเรากูเกิลก็จะหาข้อมูลได้ดีกว่า​ (ซึ่งอันนี้ต้องบอกว่าอาจจะยังไม่แฟร์กับ AI Search Engine สักเท่าไหร่ เพราะกูเกิลมีข้อมูลเกี่ยวกับเราเยอะกว่าด้วย)

กูเกิลก็ยังทำงานได้ดีกว่า

Evergreen Information

การหาข้อมูลที่เป็นข้อมูลเพื่อนำมาใช้งานจริงๆ อย่างเช่น “Explain 3 Body Problem Mathematic Like I am five” (อธิบายปัญหาทางคณิตศาสตร์ 3 Body Problem เหมือนฉันอายุ 5 ขวบให้หน่อย) หรือ “ทำไมถึงมีน้ำขึ้นน้ำลง?” ฯลฯ

ที่จริงแล้วการค้นหาข้อมูลแบบนี้ ทั้งสองเครื่องมือให้คำตอบที่ดีทั้งคู่ และที่จริงแล้ว AI Search Engine อาจจะทำได้ดีกว่าด้วยซ้ำ เพราะมันแคะเอาแต่คำตอบที่เราอยากได้จากบทความ/แหล่งข้อมูลที่เราต้องการมาตอบให้เลย

แต่ปัญหาคือเรื่องของความถูกต้อง เพราะบางครั้งก็จะเจอคำตอบจาก AI Search Engine ที่ผิดอยู่เช่นกัน เพราะฉะนั้นสุดท้ายแล้วก็อาจจะต้องไปค้นหาข้อมูลลึกๆ เองอยู่ดี

แต่ถ้าเป็นคำค้นหาแบบ ‘Instruction’ อย่างเช่น ‘แคปหน้าจอ Mac ทำยังไง?’ หรือ ‘ล้างข้อมูลใน iPhone ทำยังไง?’ แบบนี้ทั้งสองเครื่องมือก็ทำได้ แต่ AI Search Engine ดูจะให้คำตอบที่สะอาดและกระชับกว่า ไม่ต้องไปค้นหาข้อมูลต่อ ทำตามได้เลย

ถือว่าฝั่ง AI ทำงานได้ดีกว่านิดหน่อย

Exploration Query

นี่เป็นคำถามเพื่อค้นคว้าหาข้อมูล เป็นกระบวนการเรียนรู้และนำไปใช้งานต่อ เช่น “ทำไมแอสไพรินถึงถูกคิดค้นขึ้นมา?” หรือ “ถ้าเราเดินบนดวงจันทร์ น้ำหนักตัวของเราจะเป็นเท่าไหร่?” หรือ “ใครคือคุณหนุ่ยแบไต๋?” ฯลฯ

เป็นคำค้นหาที่มักไม่ได้ติดอันดับต้นๆ ของกูเกิลและไม่ใช่สิ่งที่คนส่วนใหญ่ใช้กูเกิลในแต่ละวัน แต่เป็นสิ่งที่ AI Search Engine ทำได้ดีเลย เพราะมันให้คำตอบที่เป็นเหมือนการสนทนา พูดคุย เหมือนถามตอบ แต่ถ้าเป็นกูเกิล เราต้องไปนั่งไล่กดลิงก์เพื่อหาข้อมูลมาปะติดปะต่อกันเอง

หลังๆ มา พวก AI Search Engine ก็มีการแปะแหล่งที่มาข้อมูลเอาไว้ให้ด้วย ซึ่งเราก็ใช้เพื่ออ้างอิงข้อมูลได้อีกทีว่าถูกต้องรึเปล่า

เรื่องนี้ AI ทำงานได้ดีกว่า

สรุป

สุดท้ายตอนนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าสิ่งที่เราอยากจะทำคืออะไร เครื่องมือแต่ละอันก็ใช้ได้ดีคนละแบบ

ตัวกูเกิลเองก็พัฒนาขึ้นมาเยอะกว่าแต่ก่อน มี widget มีการสรุปข้อมูลให้ มีการแสดงภาพ หรือข่าวสารต่างๆ แบบเรียลไทม์ ซึ่งไม่ใช่แค่ลิสต์ของลิงก์ที่ยืดยาวเป็นแถบลงมาเหมือนเมื่อก่อน

แม้กูเกิลจะยังตอบโจทย์ในหลายๆ เรื่อง แต่ก็ต้องยอมรับว่า AI Search Engine ก็มีข้อดีของตัวเองอยู่ ซึ่งกูเกิลก็ทราบดี ถึงได้ทำ AI Search Engine ของตัวเองขึ้นมาด้วย (Gemini)

กูเกิลก็ต้องพัฒนาเทคโนโลยีการค้นหาของตัวเองเพื่ออุดจุดอ่อน ไม่มีใครอยากมากดลิงก์หลายสิบลิงก์เพื่อค้นหาข้อมูลที่ต้องการ แต่ในขณะเดียวกันกล่องสนทนาที่ตอบทุกอย่างยืดยาว ถูกบ้างผิดบ้างอย่าง AI Search Engine ก็ยังไม่ใช่คำตอบทั้งหมด

กูเกิลไม่ตายง่ายๆ แต่ถ้าไม่ปรับตัวก็คงเสียผู้ใช้งานไปไม่น้อยเหมือนกัน