กรณีที่คลิปวาบหวิวส่วนตัวของคนดังหลุด เราก็คงจะได้เห็นกันอยู่เนือง ๆ นำมาซึ่งความอับอาย และผลกระทบทางจิตใจที่ยากจะประเมินค่าได้

แต่ใครจะไปรู้ว่าสักวันหนึ่ง มันก็อาจจะเกิดขึ้นกับเราได้เช่นกัน

หลุดจากไหนได้บ้าง

บ่อยครั้งที่คลิปวิดีโอซึ่งบันทึกช่วงเวลาส่วนตัวของผู้เสียหายหลุดออกมา มักจะเกิดจากคนใกล้ตัว หรืออดีตคนใกล้ตัวที่มีคลิปของตัวเองอยู่ เพราะตอนที่ถ่ายไว้ก็คงไม่ได้คิดว่ามันจะหลุด และคงต้องการเก็บความทรงจำที่ส่วนตัวมาก ๆ เอาไว้

นี่ยังไม่นับกรณีที่มีคนแอบถ่ายเราทำกิจกรรมส่วนตัวเพื่อนำไปเผยแพร่ต่ออีกด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น เนื้อหาส่วนตัวยังอาจหลุดได้จากเวลานำอุปกรณ์ไปซ่อม หรือขายอุปกรณ์ไปให้กับคนอื่น แล้วคนที่มีอุปกรณ์ของเราอยู่ในครอบครองกู้คืนข้อมูลเพื่อวัตถุประสงค์ไม่น่าไว้ใจ

ภัยจากการแฮกยังเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่น่ากังวลสำหรับคนที่มีคลิปและภาพส่วนตัวไว้ในสมาร์ตโฟนหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ เหมือนอย่างในกรณีที่เกิดขึ้นกับภาพส่วนตัวของคนดังจำนวนมากที่หลุดจากการแฮก iCloud เมื่อปี 2014

โทษร้ายแรงแค่ไหน

แต่เราไม่ได้ต้องการที่จะโทษเหยื่อ เพราะคนอื่นที่จงใจปล่อยคลิปลับของเราต่างหากที่เป็นคนผิดเต็ม ๆ

ตามกฎหมายแล้ว ไม่ว่าใครก็ตาม (รวมถึงตัวเราเอง) ก็ไม่มีสิทธิจะปล่อยคลิปลับของเราสู่โลกออนไลน์ การทำเช่นนี้เป็นการทำผิดข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และข้อหานำเข้าข้อมูลที่มีลักษณะลามกอนาจาร ตามมาตรา 14 (4) ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์) มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้ที่นำไปเผยแพร่ต่อก็ถือว่ามีความผิด ฐานที่เป็นผู้ส่งต่อข้อมูลตามมาตรา 14 (5) ของ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น ยังถือว่ามีความผิดฐานเผยแพร่ภาพลามก ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 287 (1) มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในส่วนของการกู้คืนไฟล์ส่วนตัวนั้น ในไทยยังไม่มีกฎหมายที่ออกมาคุ้มครองที่ชัดเจน แต่มีพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ที่ถูกออกแบบมาเพื่อไม่ให้คนอื่นนำข้อมูลส่วนตัวของเราไปใช้ได้ตามใจชอบ รวมถึงการที่มีภาพของเราไปอยู่ในเนื้อหาของคนอื่นก็ตาม

ลบแล้วก็ยังอยู่

แน่นอนว่าความไม่สบายใจอาจทำให้เราต้องลบคลิปส่วนตัวของเราอย่างหมดจด แต่ว่าการกด ‘ลบ’ ก็ไม่ได้แปลว่ามันจะหายไปจริง ๆ

เพราะมันยังจะสามารถกู้คืนได้ด้วยการใช้ซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ที่หาได้ง่ายมากในร้านค้าแอปฯ ทั่ว ๆ ไป

แถมนอกจากจะสามารถกู้ได้แล้ว หลายครั้งการลบในอุปกรณ์ ก็ยังหลงเหลือไฟล์ที่ยังอยู่ในคลาวด์ เพราะการตั้งค่าสำรองข้อมูลไว้อัตโนมัติด้วย

ตัวอย่างคำสั่ง Diskpart

สำหรับการลบข้อมูลอย่างถาวร อาจเลือกใช้ซอฟต์แวร์ประเภท Shredder ที่มีอยู่ให้เลือกอย่างหลากหลายทั้ง File Shredder และ Wiztree หรือในกรณีของเครื่องพีซีที่ใช้ Windows อาจใช้คำสั่ง Clean All ของฟังก์ชัน Diskpart ที่อยู่ใน Command Prompt (พิมพ์ cmd ในช่องค้นหาบน Start Menu)

นอกจากนี้ การใช้ฟังก์ชันคืนค่าจากโรงงาน หรือ Factory Reset ก็ช่วยลบไฟล์ให้กู้ยากขึ้นด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี อุปกรณ์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะสมาร์ตโฟนทั้ง iOS และ Android ต่างก็มีฟังก์ชันสำรองข้อมูลและซิงก์ขึ้นไปบนคลาวด์ ซึ่งเมื่อข้อมูลไปอยู่บนนั้นแล้ว การที่จะลบยิ่งทำได้ยากกว่า ทางที่ดีที่สุดคือการปิดการซิงก์ตั้งแต่แรก ลบข้อมูลที่อยู่ในบัญชีคลาวด์ (Apple ID หรือ Google Account) หรือตัดการเข้าถึงบัญชีที่ใช้โดยถาวร

แล้วถ้าไม่อยากลบล่ะ?

แม้จะบอกว่าไม่ควรเก็บภาพหรือคลิปที่เป็นส่วนตัวมากเกินไป ก็คงเป็นเรื่องที่จะยากที่จะหักห้ามใจ เพราะอยากจะเก็บความทรงจำที่สุดจะส่วนตัวไว้

แม้แต่แฟนที่เรามองว่ารักมากที่สุด จะรู้ได้ไงว่าเขาจะไม่เอาคลิปกิจกรรมส่วนตัวไปแบ่งกับเพื่อนในอนาคต

เวลานำอุปกรณ์ของเราไปซ่อมต้องแน่ใจระดับหนึ่งแล้ว ว่าข้อมูลของเราจะไม่ถูกกู้ออกมาเพื่อนำไปเผยแพร่ คงไม่มีทางไหนที่มั่นใจได้เต็มร้อย แต่ก็อาจสำรองข้อมูลเอาไว้ก่อน ทำการ Factory Reset แล้วค่อยส่งซ่อมน่าจะไว้วางใจได้มากที่สุด

ต่อมาคือภัยทางไซเบอร์ ก็เหมือนการป้องกันภัยไซเบอร์อื่น ๆ ที่ต้องระวังมากเป็นพิเศษในการกดลิงก์ โหลดไฟล์ หรือเข้าเว็บไซต์ที่ไม่คุ้นเคย

ท้ายที่สุด คือการที่ให้คนอื่นถ่ายคลิปของเราไว้ในอุปกรณ์ของคนอื่น แม้จะด้วยความยินยอมก็ตาม ไม่ว่าคน ๆ นั้นจะเป็นใคร ไว้ใจได้มากแค่ไหน ก็ไม่มีอะไรที่จะการันตีได้ว่าบุคคลคนนั้นจะไม่นำคลิปลับของเราย้อนกลับมาโจมตีเรา

เพราะการที่คลิปส่วนตัวเรามีเราเก็บเอาไว้น่าจะปลอดภัยที่สุด