ศุนทัร ปิจไช (Sundar Pichai) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Google และ Alphabet (บริษัทแม่ของ Google) แถลงเปิดตัว Bard ปัญญาประดิษฐ์เชิงสนทนาที่ทางบริษัทกำลังพัฒนาขึ้น โดยจะเปิดให้ทดสอบเบื้องต้น ก่อนจะปล่อยสู่สาธารณะในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

Bard เป็นปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้เทคโนโลยี LaMDA (Language Model for Dialogue Applications) หรือโมเดลภาษาสำหรับใช้ในการสนทนาที่บริษัทเปิดตัวเมื่อปี 2021 เป็นฐานในการพัฒนา

ตัวที่จะเปิดให้ทดลองนี้จะเป็นเวอร์ชันย่อส่วนที่ใช้ขีดความสามารถในการประมวลผลน้อยกว่าเวอร์ชันเต็ม เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเข้ามาทดสอบและเปิดรับความเห็นได้มากขึ้น

ปิจไชชี้ว่า Bard ผสมผสานจุดเด่นของปัญญาประดิษฐ์ด้านภาษาหลายตัวทั้งในด้านขีดความสามารถ สติปัญญา และความสร้างสรรค์ โดยจะดึงข้อมูลที่ใช้ในการประมวลมาจากอินเทอร์เน็ตเพื่อให้การโต้ตอบสดใหม่และมีคุณภาพสูง

โดยปิจไชชี้ว่า Bard มีขีดความสามารถในการอธิบายประเด็นซับซ้อนให้เข้าใจง่าย อย่างการอธิบายการค้นพบใหม่ ๆ จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ให้กับเด็กอายุ 9 ขวบ หรือแม้แต่การศึกษารายละเอียดนักกีฬาเพื่อไปประยุกต์ใช้กับการฝึกซ้อมก็ทำได้

เมื่อช่วงของการทดสอบเสร็จสิ้น Google จะรวบรวมข้อคิดเห็นจากผู้ทดสอบภายนอกกับผลการทดสอบภายในบริษัทเพื่อนำไปปรับปรุงคุณภาพ ความปลอดภัย และศักยภาพในการประมวลข้อมูลในโลกแห่งความเป็นจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ปิจไชยังกล่าวถึงทิศทางการพัฒนา Google Search เสิร์ชเอนจินของบริษัท โดยระบุว่ากำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ใหม่ ๆ อาทิ LaMDA, PaLM, Imagen และ MusicLM ที่จะมาช่วยยกระดับ Search และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในอนาคตด้วย

Google ต้องการให้เสิร์ชเอนจินไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือสำหรับใช้การหาข้อมูลข้อเท็จจริงเท่านั้น แต่จะต้องเป็นเครื่องมือสำหรับการทำความเข้าใจเกี่ยวกับองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่มีความลึกซึ้งขึ้นด้วย

Mobile phone showing a Search query for "is piano or guitar easier to learn and how much practice does each need?" The search result page displays an answer to the question, powered by AI
ตัวอย่าง Google Search รูปแบบใหม่ (ที่มา Google)

ในเร็ว ๆ นี้ จะมีการปล่อยฟีเจอร์ปัญญาประดิษฐ์ที่มาเสริมให้ Search สามารถสกัดข้อมูลที่ซับซ้อนและให้มุมมองหลากหลายแง่มุมต่อสิ่งที่ผู้ใช้ต้องการค้นหาในรูปแบบที่ย่อยง่าย เพื่อให้ผู้ใช้เห็นภาพรวมและสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปค้นหาต่อ อาทิ ข้อมูลจากบล็อกที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์ หรือแนวทางในการเริ่มศึกษาสิ่งที่สนใจ

นอกจากนี้ บริษัทมีแผนจะพัฒนาเครื่องมือ และ API ประเภทต่าง ๆ ที่จะช่วยให้การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์เป็นไปอย่างง่ายดายขึ้น โดยจะร่วมกับหุ้นส่วนที่เป็นสตาร์ทอัปอย่าง Cohere, C3.ai และ Anthropic

ปิจไชทิ้งทายว่า Google ยึดมั่นในหลักการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์อย่างมีความรับผิดชอบ โดยระบุว่า Google เป็นหนึ่งในบริษัทแรก ๆ ที่เผยแพร่หลักการปัญญาประดิษฐ์ (AI Principles) และจะยังคงให้ทรัพยากรและองค์ความรู้แก่นักวิจัยภายใน หน่วยงานของรัฐ และองค์กรภายนอก ในการพัฒนามาตรฐานและแนวปฏิบัติที่ดี พร้อมทั้งจะทำงานร่วมกับชุมชนและผู้เชี่ยวชาญในการสร้างปัญญาประดิษฐ์ที่ปลอดภัยและมีประโยชน์ต่อไป

ที่มา Google

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส