ขอจบข่าวด้วยคำว่า “ยัง” แต่ถ้าใครอยากรู้ว่าทำไม มาดูเหตุผลกันครับ

อาจเป็นคำถามสำหรับผู้ใช้งานที่ไม่ได้อยู่ในวงการถ่ายภาพแบบจริงจังว่าตอนนี้เราสามารถพอที่จะเทียบกล้องของสมาร์ตโฟนกับกล้องระดับ Mirrorless ได้หรือยัง อันที่จริงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาฝั่งผู้ผลิตสมาร์ตโฟนได้พัฒนากล้องให้มีฟีเจอร์เพิ่มขึ้นมาหลายอย่าง บางอย่างก็เป็นสิ่งที่มักจะพบในกล้อง Mirrorless ด้วยซ้ำ

สมาร์ตโฟนถ่ายไฟล์ RAW ได้แล้ว

ฟีเจอร์ที่จำเป็นสำหรับช่างภาพระดับโปรคือไฟล์ภาพที่เรียกว่าไฟล์ RAW ซึ่งสมาร์ตโฟนระดับไฮเอนด์ส่วนใหญ่ในปัจจุบันก็รองรับการถ่ายภาพออกมาเป็นไฟล์ RAW กันเยอะแล้ว ข้อดีของไฟล์ RAW คือตัวไฟล์มีความละเอียดสูงทำให้ช่างภาพสามารถปรับแต่งภาพได้ดีขึ้น เช่น White Balance การดึงรายละเอียดต่าง ๆ เป็นต้น

ภาพจาก CNET

เซนเซอร์ที่ใหญ่ขึ้น รับแสงได้ดีกว่า

กล้อง DSLR มีเซนเซอร์ที่มีขนาดใหญ่ ช่วยให้ช่างภาพสามารถบันทึกภาพที่มีความละเอียดสูง คงความคมชัดของภาพได้ดี เก็บแสงได้มากกว่าเซนเซอร์ขนาดเล็ก ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญกว่าตัวเลขเมกะพิกเซลเสียอีก

สำหรับสมาร์ตโฟน ปัจจุบันเซนเซอร์ที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่ระดับ 1 นิ้วหรือเซนเซอร์ Sony IMX989 ใหญ่เทียบเท่ากับกล้องขนาดเล็กอย่าง Sony RX100 โดย Xiaomi ร่วมพัฒนาโดยให้ทุนมากกว่า 15 ล้านเหรียญ มีใช้เฉพาะในสมาร์ตโฟนจีนบางรุ่นเท่านั้น

แต่เซนเซอร์ขนาด 1 นิ้วก็ยังห่างไกลกับเซนเซอร์ขนาด 35 mm ที่ใช้กันในกล้อง Full Frame หรือแม้แต่เทียบกับ APS-C ที่กล้อง Mirrorless ขนาดเล็กใช้ ก็ยังเล็กกว่าพอสมควร

Sensor sizes overlaid inside.svg

ระบบโฟกัสอัตโนมัติที่ซับซ้อนเพื่อภาพที่คมชัด

ระบบโฟกัสของสมาร์ตโฟนในปัจจุบันมีความแม่นยำสูงเพื่อให้ภาพที่ได้ไม่มีอาการเบลอ โดยเฉพาะการถ่ายภาพที่มีการเคลื่อนไหวเร็ว ๆ หรือในสภาพที่แสงน้อยเป็นต้น

สามารถตั้งค่าเลนส์และการถ่ายได้หลากหลายขึ้น

ป้จจุบันสมาร์ตโฟนมีเลนส์ที่หลากหลาย ทำให้ผู้ใช้งานสามารถสร้างมุมมองของภาพที่ไม่ซ้ำเดิม ไม่ว่าจะเลนส์ช่วงนอร์มอล,เลนส์ซูม หรือเลนส์ Ultrawide เป็นต้น สำหรับใครที่อยากถ่ายภาพหน้าชัดหลังเบลอก็มี Portrait โหมด บางรุ่นรองรับการถ่ายมาโคร เรียกว่าเครื่องเดียวแทบจะจบ

นอกจากนี้ยังมีการใช้ความสามารถฮาร์ดแวร์ซอฟต์แวร์เข้ามาช่วยให้การถ่ายภาพง่ายขึ้นกว่าเดิมด้วย ยกตัวอย่าง

  • Dual Aperture: สมาร์ตโฟนบางรุ่นนอกจากจะปรับรูรับแสงแบบอัตโนมัติแล้ว ยังมีตัวเลือกให้ผู้ใช้งานสามารถปรับขนาดของรูรับแสงแบบ Manual ได้ด้วย
  • Night Mode: เป็นการปรับปรุงภาพด้วยซอฟต์แวร์ที่ทำให้การถ่ายภาพในที่แสงน้อยหรือกลางคืนทำออกมาได้ดีขึ้นกว่าเดิม
  • Motion Autofocus: ระบบออโต้โฟกัสที่เหมาะกับวัตถุที่กำลังเคลื่อนไหว

อื่น ๆ

  • ประมวลผลภาพด้วย AI: เรียกว่าเป็นยุคแห่ง AI ที่เข้ามามีบทบาทในการถ่ายภาพ เช่น การวิเคราะห์ภาพจากซีนต่าง ๆ หรือการเติมหรือลบองค์ประกอบออกจากภาพอย่างแนบเนียนด้วยฟีเจอร์ Galaxy AI ของ Samsung หรือ Magic Eraser ของ Google เป็นต้น
  • Computational Photography: กล้องบนสมาร์ตโฟนมีการใช้ computational photography ที่จะช่วยคำนวนการถ่ายภาพ เช่น ลด Noise, ปรับปรุง Dynamic Range และเพิ่มความคมชัดหรือรายละเอียด เป็นต้น
  • มีฟีเจอร์ล้ำ ๆ เยอะ: เช่น สร้าง Depth ผ่านแอปหรือซอฟต์แวร์, ฟีเจอร์ลด Noise หรือฟีเจอร์ปรับมุมมองของภาพให้เหมือนความจริงที่สุด เป็นต้น

แต่ก็ยังเทียบ Mirrorless ไม่ได้

จะเห็นว่าจริง ๆ แล้วสมาร์ตโฟนมีการพึ่งพาซอฟต์แวร์ที่ถือว่าค่อนข้างเยอะ เมื่อเทียบกับ DSLR หรือ Mirrorless แล้ว ก็ยังเทียบชั้นไม่ได้กับคุณภาพของงานที่ได้จากกล้อง DSLR เช่น คุณภาพของภาพถ่าย, การคอนโทรล Depth หรือแม้กระทั่งคุณภาพของภาพที่ได้จากเลนส์ซูมยังเหนือกว่าสมาร์ตโฟนอย่างเห็นได้ชัด

สมาร์ตโฟนเรือธงบางแบรนด์อาจจะเริ่มเข้าใกล้ Mirrorless ได้มากขึ้นแต่ก็ยังมีระยะห่างมากพอสมควรเนื่องจากข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีเลนส์และขนาดของเซนเซอร์ที่ไม่สามารถสู้ Mirrorless ได้เช่นกัน

“เมื่อแรกเห็นภาพจากกล้องสมาร์ตโฟนยุคนี้ คุณอาจจะคิดว่ามันสู้กับกล้องจริง ๆ ได้ นั่นก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดอะไร เพราะการใช้แชร์ในโซเซียลมีเดีย ภาพจากกล้องสมาร์ตโฟนก็ให้ภาพสวย และจบในตัวแบบที่ Mirrorless บางทีก็ทำไม่ได้ แต่เมื่อไหร่ที่คุณต้องการภาพมาใช้งานต่อ เอามาตกแต่ง ปรับโทน ทำสี คุณจะพบว่าไฟล์จากสมาร์ตโฟนมันสู้ไฟล์จาก Mirrorless ไม่ได้ เพราะไฟล์จาก Mirrorless นั้นเก็บรายละเอียดเนื้อแท้ของภาพจากเซนเซอร์ที่ใหญ่กว่า และเลนส์ที่คุณภาพสูงกว่า (เพราะตัวใหญ่กว่า) ได้”

ที่มา Bumblejax