สร้างความฮือฮาเป็นอย่างมากกับการเผยโฉมโดรนสอดแนมที่มีขนาดเล็กเท่า “ยุง” ซึ่งถูกพัฒนาโดย เหลียง เฮอเซียง (Liang Hexiang) นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยกลาโหมแห่งชาติจีน โดยแสดงความสามารถผ่านรายการทางการของช่อง CCTV ของกองทัพจีน

โดรนชนิดนี้ถูกออกแบบมาเพื่อเลียนแบบการบินของแมลงจริง ๆ และมีขาขนาดเล็กสามข้าง ที่ช่วยลงจอดบนพื้นได้ดี ซึ่งเป็นการเลียนแบบทางชีวภาพจำลองการเคลื่อนไหวของแมลง ทำให้โดรนขนาดจิ๋วสามารถบินนิ่งอยู่กับที่ ลอดผ่านช่องแคบ หรือบินแทรกเข้าอาคารโดยไม่เป็นที่สังเกตเห็นได้ง่าย 

zme science

ภายในตัวเครื่องมีระบบไฟฟ้าขั้นสูง เซนเซอร์ขนาดเล็ก และอุปกรณ์ควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งหมดนี้ถูกย่อส่วนลงไปอยู่ในพื้นที่เล็กจิ๋วพอ ๆ กับเหรียญ ด้วยความที่มีขนาดเล็กนี่จึงเป็นข้อได้เปรียบที่ถูกนำไปใช้ในภารกิจทางทหาร เช่น การแทรกซึมเข้าสู่พื้นที่ศัตรู การสอดแนมภายในอาคาร หรือแม้แต่การใช้งานในสถานการณ์ภัยพิบัติเพื่อกู้ภัย

ถึงอย่างนั้นโดรนจิ๋วขนาดเท่า “ยุง” ไม่ใช่จีนเพียงเจ้าเดียวที่พัฒนา ทางฝั่งสหรัฐอเมริกาและนอร์เวย์ก็กำลังลงทุนอย่างหนักในการพัฒนาเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ อย่างรุ่น Black Hornet ที่มีขนาดเล็กเท่าฝ่ามือ

ใช้สำหรับการลาดตระเวนและประจำการในกองกำลัง NATO โดยรุ่นล่าสุด Black Hornet 4 มีระยะการบินและความทนทานที่เพิ่มขึ้น พร้อมการเข้ารหัสข้อมูลที่รัดกุม

หุ่นยนต์ RoboBee ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่เน้นการวิจัยเป็นหลัก โดยออกแบบมาให้เลียนแบบการบินของผึ้ง สามารถลอยตัว ลงจอด โดยไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อใช้ทางการทหาร

แต่ถึงจะมีความสามารถสุดล้ำ นำไปใช้ประโยชน์ในภารกิจค้นหาและกู้ภัยหรือภารกิจอื่นได้ แต่ก็ยังมีจุดที่น่าหวั่นใจ คือโดรนที่มีขนาดเล็กอาจเล็ดลอดผ่านหน้าต่างได้โดยไม่มีร่องรอย ซึ่งอาจกลายเป็นอาวุธที่ใช้ในการสอดแนมหรือล้วงข้อมูลโดยไม่ยินยอมได้