รีวิว Sony WF-1000XM5 ราชันหูฟังไร้สาย พร้อมเทียบ AirPods Pro 2, Devialet Gemini II
Our score
9.2

รีวิว Sony WF-1000XM5 ราชันหูฟังไร้สาย พร้อมเทียบ AirPods Pro 2, Devialet Gemini II

จุดเด่น

  1. เสียงฟังง่ายขึ้นกว่ารุ่นที่แล้ว สนุกขึ้น เบสหนาหนักแน่น แต่กลาง-แหลมก็ยังพุ่ง ไม่โดนกลบ
  2. ตัดเสียงรบกวนได้ดี ใส่เปิดเพลงแล้วไม่ได้ยินรอบข้าง
  3. ระบบปรับการตัดเสียงอัตโนมัติทำงานดี ปรับรูปแบบการตัดเสียง ดึงเสียงให้เหมาะกับการใช้ชีวิต
  4. รองรับการเชื่อมต่อ 2 อุปกรณ์ตั้งแต่แรก ใช้งานสะดวก
  5. ฟังก์ชันใหม่ Head Gesture พยักหน้ารับสาย ส่ายหัวตัดสาย ใช้งานได้จริง
  6. รองรับ LDAC ให้เสียงคุณภาพสูง ส่วนการเชื่อมต่อกับ iPhone สามารถใช้ AAC + DSEE Extreme เพื่อคืนคุณภาพเสียงได้
  7. ขนาดเล็กลง ใส่สบายหู ขนาดเคสก็เล็กลง พกพาสะดวก

จุดสังเกต

  1. จุกหูฟังแบบโฟมดูแลรักษายากกว่าจุกซิลิโคน และต้องซื้อเปลี่ยนถ้าหมดสภาพ
  2. โหมด Speak to Chat อาจหยุดเพลงเองถ้าเราไอหรือกระแอม
  3. ราคาอยู่ในกลุ่มสูง
  • คุณภาพเสียง

    9.5

  • คุณภาพวัสดุ

    8.5

  • ความคล่องตัวในการใช้

    10.0

  • ความสามารถในการคุยโทรศัพท์

    8.8

  • ความคุ้มค่า

    9.0

หูฟังของ Sony ตระกูล WF-1000X นั้นสร้างชื่อเสียงมายาวนานในฐานะหูฟังไร้สายแบบ TWS ตัวท็อปของค่ายญี่ปุ่นนะครับ โดยเฉพาะในเรื่องการตัดเสียงรบกวนที่ยืนอันดับต้น ๆ ในตลาดมาตลอด แน่นอนว่าตัวล่าสุดอย่าง Sony WF-1000XM5 ที่เราจะรีวิวในครั้งนี้ ก็ยังรักษามาตรฐานหัวแถวของกลุ่มหูฟังไร้สายเอาไว้ได้ครับ

ดีไซน์

โซนี่ในฐานะบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกที่ปี ๆ หนึ่งก็ขายสินค้าจำนวนมาก ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากเป็นพิเศษนะครับ กล่องของผลิตภัณฑ์โซนี่ในยุคหลังจึงออกแบบโดยไม่มีพลาสติกเป็นส่วนประกอบ เพื่อให้ทุกอย่างในกล่องสามารถย่อยสลายได้ ซึ่งบรรจุภัณฑ์ของ Sony WF-1000XM5 ก็เช่นกัน กล่องเล็ก ๆ นี้ประกอบด้วยกระดาษเป็นหลัก แล้วยึดปิดกล่องด้วยสติกเกอร์ด้านนอก เมื่อเปิดแล้วจะเก็บให้อยู่ในทรงเดิมยาก ซึ่งสำหรับคนที่ต้องการเก็บกล่องไว้ขายต่อในอนาคต ต้องใช้ความประณีตในการแกะหน่อยครับ

ตัวเคสของ Sony WF-1000XM5 นั้นเล็กลงกว่าเดิมราว 15% ทำให้เป็นหูฟังที่พกง่ายที่สุดรุ่นหนึ่งในตลาดเลย ซึ่งสีที่เราได้มารีวิวคือสีเงินแพลตตินัม เป็นสีขาวนม ๆ ผิวสัมผัสเคสพลาสติกคล้ายกระดาษที่ไม่ฟอกสี ส่วนตัวหูฟังด้านในเป็นพลาสติกมันเงาครับ และจุกโฟมที่มาพร้อมกันก็เป็นสีขาวนมเหมือนกัน โดยรวมแล้วสีขาวนี้ถือว่าหรูหราดูดีครับ ส่วนอีกสีคือสีดำก็ให้ความรู้สึกคมเข้มกว่า

ตัวหูฟังเองดีไซน์แนวเดียวกับรุ่น WF-1000XM4 เดิม แต่มีขนาดเล็กกว่าเดิมราว 25% และเบาลง 20% ทำให้ใส่ได้ยาวนานกว่า มีอาการเจ็บหูน้อยลง ถ้าใครเคยลองรุ่นเดิมแล้วเจ็บหู มาลองกับรุ่นใหม่อีกครั้งครับ ความรู้สึกดีขึ้นแน่นอน

การสวมใส่หูฟังรุ่นนี้ก็กระชับเข้าหูดีครับ เคลื่อนไหวเร็ว ๆ หูก็ไม่หลุดออกมา แต่ถ้าเราใส่ไม่ได้ตำแหน่ง จะรู้สึกว่าตัวหูฟังสั่น ๆ เวลาเดิน ก็ต้องปรับตำแหน่งหูฟังให้น้ำหนักด้านนอกของหูไม่ถ่วงออกมาครับ

แต่ประเด็นสำคัญของหูฟังรุ่นนี้อยู่ที่จุกหูฟัง เป็นจุกโฟมโพลียูรีเทนเหมือนรุ่นที่แล้ว ซึ่งข้อดีของจุกโฟมของ Sony WF-1000XM5 คือนุ่มนวล ใส่สบายหูกว่ารุ่นเดิม แล้วมีความสามารถในการตัดเสียงรบกวนได้มาก แต่จุกโฟมก็มีจุดอ่อนคือมันไม่สามารถล้างทำความสะอาดด้วยน้ำได้ เอาแอลกอฮอล์เช็ดก็ไม่แนะนำ ต้องใช้ผ้าแห้งเช็ดเบา ๆ อย่างเดียวครับ เช็ดแรงก็อาจจะพัง เทียบกับจุกซิลิโคนก็เอาลงน้ำล้างได้เลย ถ้ารีบ ๆ ก็เช็ดแอลกอฮอล์ได้ ก็รู้สึกว่าจุกซิลิโคนมันทำความสะอาดง่ายกว่า

แล้วสำหรับจุกสีขาว สำหรับคนที่ขี้หูเยอะ สีของขี้หูจะติดที่จุกอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งต้องค่อย ๆ เช็ดออกด้วยผ้าแห้ง ถ้าใครขี้หูเยอะเราก็แนะนำให้ซื้อสีดำดีกว่า และจุกโฟมมีอายุการใช้งานจำกัดครับ ถ้าใช้เยอะ ๆ จนมันเสื่อม ก็ติดต่อโซนี่ซื้อจุกใหม่ได้ หรือถ้าคุณจะหาซื้อจุกซิลิโคนแบรนด์อื่น ๆ มาใช้ก็ได้เช่นกัน

การควบคุม

หูฟังของโซนี่นั้นขึ้นชื่อเรื่องการควบคุมอยู่แล้วครับ ฟังก์ชันเพียบ การควบคุมเลยมากมายตามไปด้วย เริ่มจากการสัมผัสที่ตัวหูฟังนะครับ

หูข้างซ้ายหูข้างขวา
แตะ 1 ครั้งเปลี่ยนโหมด ANC / ดึงเสียงภายนอกเล่น/หยุดเพลง
แตะ 2 ครั้งรับสาย/วางสายเปลี่ยนเพลง, รับ/วางสาย
แตะ 3 ครั้งย้อนเพลง
แตะ 4 ครั้งขึ้นไปลดเสียงเพิ่มเสียง
แตะค้างใช้โหมด Quick Attentionเรียกผู้ช่วยส่วนตัวจากมือถือ

โดย Quick Attention Mode คือการที่หูฟังจะลดระดับเสียงเพลงลง และเปิดเสียงภายนอกเข้ามา ทำให้เราคุยกับคนรอบข้างได้โดยไม่ต้องเอาหูฟังออกจากหูครับ และเราก็สามารถปรับรูปแบบการควบคุมบางส่วนได้จากแอป Sony Headphones Connect ครับ แต่ไม่ได้ถึงระดับเลือกว่าจะแตะกี่ทีให้ทำอะไรนะครับ จะเลือกเป็นชุดรูปแบบการใช้งานแทน แล้วเรายังสามารถเชต Quick Access ที่ปกติจะเซตเป็นการแตะหูฟังด้านซ้าย 2 ทีเพื่อเชื่อมกับ Spotify Tap ให้เล่น Playlist ที่ Spotify แนะนำมาทันที

ในแอป Sony Headphones Connect ยังปรับแต่งการควบคุมหูฟังได้อีกมากครับ เช่น ตั้งให้ถอดหูฟังออกจากหูแล้วหยุดเพลงเอง หรือปิดหูฟังเองเมื่อเอาออกจากหูสักพักหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีตัวเลือก ‘Connect to 2 devices simultaneously’ ที่เรียกในวงการว่า Multi Point สำหรับการเชื่อมต่อ 2 อุปกรณ์เข้าหูฟังพร้อมกัน เช่นเราเชื่อมมือถือเป็นอุปกรณ์ที่ 1 แล้วเชื่อมคอมเป็นอุปกรณ์ที่ 2 เมื่อฟังเพลงจากคอมอยู่ แล้วสายเข้าที่มือถือ ก็สามารถใช้หูฟังคุยโทรศัพท์ได้ทันทีโดยไม่ต้องเชื่อมต่อใหม่ครับ

ไฮไลต์ของการควบคุมหูฟังใน WF-1000XM5 ที่สนุกเลยคือ Head Gesture ครับ เราสามารถเปิดการควบคุมนี้ในแอป แล้วเวลามีสายเรียกเข้า ก็แค่พยักหน้าก็คือรับสาย หรือส่ายหน้าเพื่อตัดสายได้เลย ซึ่งเราลองแล้วใช้ได้จริง ตอบสนองเร็วด้วย ลดปัญหาที่บางทีเราก็จำไม่ได้ว่าต้องแตะหูฟังกี่ครั้งเพื่อรับสายไปได้

สารพัดการควบคุมเรื่องเสียง

ก่อนที่เราจะไปรีวิวเรื่องเสียง มาดูสารพัดฟังก์ชันเกี่ยวกับเสียงของ Sony WF-1000XM5 กันก่อนครับ อัดแน่น จัดเต็มเหมือนเคย เริ่มตั้งแต่ Adaptive Sound Control ที่หูฟังจะทำงานร่วมกับแอป Sony Headphones Connect เพื่อปรับลักษณะการตัดเสียงรบกวนให้เหมาะกับแต่ละช่วงการใช้ เช่นนั่งนิ่ง ๆ ก็จะตัดเสียงรบกวนเยอะ หรือถ้าเดิน ก็จะเปิดเสียงรอบข้างเข้ามา นอกจากนี้ยังสามารถกำหนดเป็นสถานที่ได้ด้วย เช่นกำหนดให้บริเวณที่เป็นที่ทำงาน ตัดเสียงรบกวนเต็มที่ เพื่อไม่ให้คนอื่นเข้ามารบกวนก็ได้

นอกจากนี้ยังมี Speak to Chat ที่หูฟังจะหยุดเล่นเพลงเองเมื่อเราพูด ทำให้ไม่ต้องถอดหูฟังหรือเอามือแตะหูฟังเมื่อต้องการคุยกับคนอื่น แต่เราเทสต์แล้วก็ยังมีปัญหาเหมือนรุ่นที่แล้วคือถ้าไอหรือกระแอม ก็ทำให้ฟังก์ชันนี้ทำงานจนหยุดเพลงเองได้เช่นกัน

ตัวเลือกที่น่าจะเปิดกันทุกคนคือ Capture Voice During a Phone Call ที่ทำให้เวลาคุยสายรู้สึกสบายขึ้น เพราะตัวหูฟังจะไปจับเสียงพูดของเรามาให้ได้ยินในหู ทำให้เวลาคุยสายไม่รู้สึกอึดอัดครับ

แล้วถ้าคุณใช้สมาร์ตโฟนที่ใช้ Android 13 ขึ้นไป หูฟังจะสามารถทำงานแบบ Low Latency ได้ ซึ่งเกมเมอร์น่าจะชอบโหมดนี้ เพราะจะทำให้เสียงออกมาตรงกับเวลาจริงมากขึ้น

อายุแบตเตอรี่

อายุการใช้งานแบตเตอรี่ของ WF-1000XM5 ไม่แตกต่างจากรุ่นเดิมครับ คือฟังต่อเนื่องได้ 8 ชั่วโมง ชาร์จในเคสแล้วกลับมาฟังรวมกันได้ 24 ชั่วโมง แต่ที่ปรับปรุงขึ้นคือเวลาชาร์จแบตเตอรี่ด่วน ที่ตอนนี้ชาร์จ 3 นาที ก็ใช้งานได้ 1 ชั่วโมงแล้ว และชาร์จจนเต็มใช้เวลา 2 ชั่วโมง นอกจากใช้ USB-C ชาร์จได้แล้ว ยังสามารถชาร์จไร้สายกับแท่นชาร์จมาตรฐาน Qi ได้ด้วย

เสียงของหูฟัง

ของในกล่อง Sony WF-1000XM5
ของในกล่อง Sony WF-1000XM5

ถ้าเทียบเสียงของ Sony WF-1000XM5 กับรุ่นเดิมอย่าง WF-1000XM4 ก็ต้องบอกว่าดีขึ้นทุกทางครับ เสียงของ M4 จะค่อนข้าง Muddy คือมีก้อนเบสที่หนา แต่ไม่ได้ขับย่านกลาง-แหลมออกมาช่วยให้เสียงดูโปร่ง ซึ่งใน M5 โซนี่ได้ใช้ Dynamic Driver X ขนาด 8.4 mm ที่ออกแบบใหม่ รองรับเสียงสูงสุด 20 – 40,000 Hz พร้อมจูนเรื่องเสียงใหม่ จนได้เสียงดังนี้

  • เสียงเบส – หนาหนักแน่นเหมือนเดิม ตามสไตล์โซนี่ แต่จัดระเบียบให้เป็นกลุ่มก้อนมากขึ้น เบสมีพลัง มีความรุกเร้า แต่เก็บตัวเร็ว
  • เสียงกลาง/แหลม – เสียงร้องสวยหวาน เคลียร์ชัดเจน แยกออกมาจากเสียงดนตรีได้ เสียงแหลมทำออกมาได้พุ่ง ไม่โดนความหนาของเบสกลบ และมีประกายมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้เป็นระดับที่พุ่งมาก ซึ่งถ้าใครต้องการพุ่งกว่านี้ก็ปรับใน EQ ได้
  • Soundstage – กว้างระดับหนึ่ง เห็นตำแหน่งเครื่องดนตรีได้ชัดเจน

เป็นหูฟังของโซนี่ก็ต้องรองรับ Bluetooth Codec ถึงระดับ LDAC อยู่แล้ว แต่อุปกรณ์ที่ใช้ได้มีเพียง Android เท่านั้นครับ ถ้าใช้กับ iPhone จะถูกจำกัดในระดับ AAC แต่โซนี่จะมีการใช้ DSEE Extreme เพื่อปรับคุณภาพเสียงให้กลับมาระดับทัดเทียมกับ Hi-Res ได้

ถ้าถามว่าฟังผ่าน iPhone กับฟังผ่าน Android ที่ใช้ LDAC ได้แล้วเสียงต่างไหม บอกตรง ๆ ว่าต่างแบบแบบไม่เยอะ ต้องนั่งฟังเงียบ ๆ อยู่สักพักครับ คือฝั่ง Android ที่ใช้ LDAC จะรู้สึกว่าเนื้อเบสมันละมุนกว่า ส่วน iPhone ที่ใช้ AAC + DSEE Extreme จะได้เบสหนา ลูกใหญ่กว่า ซึ่งถ้าว่ากันตามทฤษฏี Android ต้องเป็นเสียงที่เป็นต้นฉบับกว่าเพราะ LDAC ส่งข้อมูลเยอะกว่า แต่สุดท้ายจากการฟัง มันก็คือเสียงที่ดีทั้งคู่ไม่ว่าจะฟังจาก Android หรือ iPhone แต่โทนต่างกันนิดหน่อยเท่านั้นเอง

อีกฟีเจอร์ที่น่าสนใจในแอป Sony Headphones Connect คือ Find Your Equalizer ครับ สำหรับคนที่ไม่รู้จะปรับ EQ ยังไงให้เสียงถูกใจ ก็ลองกดปุ่มนี้พร้อมกับการเล่นเพลงโปรดดู แอปจะให้เรากดเลือกโทนเสียงที่ถูกใจที่สุดไปเรื่อย ๆ สุดท้ายก็จะเซฟเป็น EQ ของเสียงที่เราชอบที่สุดออกมาให้เราฟังเทียบกับเสียงเดิม ซึ่งผลลัพธ์ออกมาดีเลย ทุกคนควรลองใช้ดูครับ

360 Reality Audio ระบบเสียงรอบทิศทางในหูฟังของโซนี่ก็ปรับปรุงใหม่รองรับ Head tracking หรือการปรับตำแหน่งเสียง แต่ความสามารถนี้จะต้องใช้สมาร์ตโฟนที่เป็น Android 13 ขึ้นไปถึงจะใช้ได้ครับ เราเทสต์กับ iPhone ก็ไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงของเสียงเมื่อเคลื่อนศีรษะ

การตัดเสียงรบกวน

การตัดเสียงรบกวนของ Sony WF-1000XM5 ก็ยังทำได้ยอดเยี่ยมเหมือนเดิมครับ ถ้าอยู่ในโหมดตัดเสียง เสียงรบกวนภายนอกหายไปเยอะ ถ้าเปิดเพลงก็ไม่ค่อยได้ยินเสียงภายนอกแล้ว โดยเฉพาะเสียงต่ำ ๆ เสียงหึ่ม ฮัมจากเครื่องยนต์จะหายไปได้เยอะ แต่เสียงพูดของมนุษย์ก็ยังพอได้ยินอยู่ ซึ่งที่หูฟังรุ่นนี้ตัดเสียงรบกวนได้มากขึ้นเพราะใช้ชิปประมวลผล 2 ตัวมาช่วยกันคือ V1 และ QN2e ร่วมกับไมค์ที่รับเสียงแบบ Feedback และ Feed Forward ถือเป็นหูฟังที่ตัดเสียงรบกวนได้มากอันดับต้นของวงการจริง ๆ

ส่วนการเปิดเสียงภายนอกเข้ามาที่เรียกว่า Ambient Sound ในระดับสูงสุดก็ทำได้เป็นธรรมชาติครับ รับรู้ทิศทางของเสียงได้ใกล้เคียงกับตอนไม่ใส่หูฟัง ซึ่งถ้าเราเปิด Adaptive Sound Control เอาไว้การปรับตั้งค่า Noise Canceling และ Ambient Sound จะถูกปรับโดยอัตโนมัติ ซึ่งอาจจะไม่ได้ดึงเสียงภายนอกจนเต็มระดับ 20 ก็ได้ครับ

คุณภาพไมค์

การใช้งานหูฟังในยุคนี้เราต้องใช้เพื่อประชุมสายด้วย เพราะฉะนั้นคุณภาพของไมค์จึงสำคัญ ซึ่ง Sony WF-1000XM5 ก็ปรับปรุงเรื่องไมค์มาเรื่อย ๆ จนรุ่นล่าสุดนี้มีการใช้อัลกอริทึมการลดเสียงรบกวนด้วย AI จากการประมวลผลโครงข่ายประสาทแบบลึก (Deep Neural Network – DNN) และเซนเซอร์ Bone Conduction เพื่อคาดการณ์เสียงพูดจากการสั่นสะเทือนของกระดูก ทำให้ตัดเสียงรบกวนรอบข้างออกไปได้

เราจึงได้ทดสอบใน 2 สถานการณ์ครับ ไฟล์แรกเราทดสอบในสถานที่ที่มีเสียงรบกวน และมีลมจากพัดลมเข้าที่หูซ้าย ส่วนไฟล์ที่ 2 เราทดสอบโดยพูดริมถนน ผลที่ได้เป็นแบบนี้

เสียงไมค์ของ Sony WF-1000XM5

ซึ่งไมค์ของหูฟังรุ่นนี้ออกมาดีใช้ได้เลยครับ ยังจับเสียงพูดออกมาสื่อสารรู้เรื่อง เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น เราจึงทดสอบในสถานการณ์เดียวกันกับ Apple AirPods Pro 2 ให้เสียงออกมาดังนี้

เสียงไมค์ของ Apple AirPods Pro 2

จะเห็นได้ว่าเสียงไมค์ของ Sony ค่อนข้างดีกว่า โดยเฉพาะในสถานการณ์ริมถนนที่ยังพอฟังออก ในขณะที่ AirPods Pro 2 ฟังแทบไม่ออกเลย สุดท้ายเราจึงทดสอบอีกครั้งกับ Devialet Gemini 2 ที่มีราคาสูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ก็ได้ผลดังนี้

เสียงไมค์ของ Devialet Gemini 2

Gemini 2 นั้นมีเซนเซอร์ Bone Conduction เหมือนกับ Sony WF-1000XM5 จึงทำให้สามารถชดเชยเสียงพูดที่อาจถูกเสียงรอบข้างกลบออกมาได้ครับ

สรุป Sony WF-1000XM5 เหมาะกับใคร

หูฟังรุ่นนี้เหมาะสำหรับคนที่อยากได้เสียงจากหูฟัง True Wireless ตัวจิ๋วที่อัปเกรดกว่าหูฟังทั่วไป กับราคา 10,990 บาทที่ได้เสียงที่ฟังสนุกขึ้น มีการใช้งานที่ฉลาดแถมรองรับอุปกรณ์ทั้ง Android และ iOS รวมถึงไมโครโฟนที่ดีพอสำหรับการใช้ประชุมครับ

รีวิวเทียบกับ Apple AirPods Pro 2

เทียบกับ AirPods Pro 2 หูฟัง TWS ตัวท็อปของแอปเปิ้ลแล้ว เสียงของ AirPods Pro 2 จะเน้นความเรียบออกแนวเสียง Flat มากกว่า แต่ก็เป็นเสียงที่เนี้ยบ ให้รายละเอียดดี ยังมีเบสตึ้บ ๆ ให้ฟังสนุก ส่วน Sony WF-1000XM5 เป็นเสียงที่ฟังสนุกกว่า ด้วยเสียงเบสที่คึกคักกว่า ลูกใหญ่ฟังชัดกว่า เสียงกลาง-แหลมที่มีพลังมากกว่า สรุปคือด้านเสียงนั้นดีทั้งคู่ แล้วแต่ว่าจะชอบโทนไหนครับ

เรื่องการตัดเสียงรบกวน ภาพรวม Sony WF-1000XM5 ทำได้ดีกว่าครับ ตัดเสียงสูงออกไปได้มากกว่า แต่บางครั้งจะรู้สึกว่า AirPods Pro 2 ตัดเสียงได้มากกว่า ฟังแล้วรู้สึกเงียบกว่า เพราะว่าฝั่งแอปเปิ้ลนั้นสามารถจัดการลดเสียงกลางได้เก่งกว่า ซึ่งเป็นย่านเสียงพูดที่มนุษย์รับรู้ได้ง่าย แล้วย่านเบสลดได้พอ ๆ กันครับ

สุดท้ายคือการควบคุม อันนี้พูดจากมุมผู้ใช้ iPhone นะครับ เพราะถ้าคุณใช้ Android คุณไม่ควรซื้อ AirPods มาใช้อยู่แล้ว การควบคุมบนไอโฟนลูกเล่นเยอะใกล้เคียงกัน แต่ AirPods Pro 2 จะแอบเหนือกว่านิด ๆ ด้วยสูตรโกงที่ควบคุมผ่าน iOS ได้เลย พวกการย้ายเครื่องในระบบแอปเปิ้ลด้วยกันที่ทำได้เนียน ระบบตัดเสียงรบกวนก็มีฟีเจอร์ Adaptive ที่ปรับอัตโนมัติตามสภาพแวดล้อมแล้ว แถมมีฟีเจอร์ปรับระดับเสียงอัตโนมัติตามสภาพแวดล้อม เวลาพูดก็เบาเสียงเพลงอัตโนมัติได้แล้ว ส่วนการใส่ดูหนังก็รองรับระบบเสียงรอบทิศทางเนียน ๆ จากตัว iOS เลย ทำให้รองรับแอปได้มากกว่า และที่เคสมีลำโพงเล็ก ๆ เพื่อส่งเสียงออกมาเวลาหาหูฟังไม่เจอได้ด้วย

แต่ WF-1000XM5 ก็มีแอป Sony Headphones Connect ที่ช่วยให้การใช้งานบน iPhone ทำได้ลื่นไหลขึ้น ระบบปรับเสียงตามสถานที่หรือตามการใช้งานก็ยังทำงานได้ดี เชื่อมต่ออุปกรณ์ได้ 2 ตัวพร้อมกัน มีระบบเบาเสียงเพลงเมื่อพูด (ซึ่งทำมาก่อนแอปเปิ้ลทำ) และรองรับระบบเสียงรอบทิศทาง 360RA ของโซนี่อีก

สรุปเรื่องการควบคุม ถ้าใช้บน Apple ฝั่ง AirPods Pro 2 จะเหนือกว่านิด ๆ ส่วนถ้าคุณใช้ Android อยู่ ให้เลือก Sony WF-1000XM5 แบบไม่ต้องคิดครับ

และราคา Apple AirPods Pro 2 ขายอยู่ที่ 8,990 บาท ถูกกว่า Sony WF-1000XM5 ที่ขายอยู่ที่ 10,990 บาทครับ

รีวิวเทียบกับ Devialet Gemini II

เทียบกับ Devialet Gemini II หูฟังค่ายฝรั่งเศสแล้ว เบสของ Sony WF-1000XM5 ที่ว่าเยอะแล้ว กลายเป็นลูกย่อม ๆ ไปเลย เพราะ Gemini 2 ให้เบสลงลึกไปต่ำสุดที่ 5 Hz ต่ำจนรู้สึกหูสั่นสะเทือน แต่ถ้าเป็นเพลงที่เบสน้อย ก็ไม่ได้ไปเร่งให้มันมีนะครับ ส่วนเสียงกลาง-สูงก็ยังทำหน้าที่ได้ดี ไม่ถูกเบสลูกมหึมากวน ให้เสียงร้องหวาน ดีเทลดี ถ้าเป็นคนรักเบสน่าจะถูกใจกับเบสที่มีรายละเอียดแบบนี้ แต่ถ้าไม่ได้ชอบเบสมากนัก อาจรู้สึกว่า Gemini 2 ฟังแล้วเหนื่อยกว่าโซนี่เพราะความพุ่งของทุกเสียงที่มีมากกว่าครับ

เรื่องการตัดเสียงรบกวนทำได้ใกล้เคียงกันครับ เป็นโทนการตัดเสียงลักษณะเดียวกับ Sony คือยังได้ยินเสียงกลางอยู่ แต่ก็ได้ยินน้อยกว่าโซนี่อยู่หน่อย ไม่เหมือน AirPods Pro 2 ที่จะตัดเสียงกลางได้เยอะมาก แต่ไปได้ยินเสียงแหลมแทน

ส่วนการควบคุม Devialet ยังห่างชั้นจากโซนี่ครับ มีเพียงการเชื่อมต่อได้ 2 อุปกรณ์พร้อมกัน กับปรับ EQ ได้นิดหน่อยและ Adaptive Noise Cancellation เท่านั้น ไม่มีระบบปรับเสียงตามสภาพแวดล้อม เสียง 3 มิติ ระบบเบาเพลงเมื่อพูด และอื่น ๆ ครับ (แต่บางคนก็ชอบนะ หูฟังทำงานอย่างที่สั่งไปก็พอ ไม่ต้องมาช่วยคิดให้จนผู้ใช้บางคนอาจจะเวียนหัว) ซึ่ง Devialet และ Sony ทำงานได้ดีทั้งบน iPhone และ Android ไม่เลือกค่ายเหมือน AirPods

ส่วนราคา Devialet Gemini II อยู่ที่ 16,590 บาทสำหรับสีขาวกับดำ ส่วนสีทองอยู่ที่ 24,590 บาท เทียบกับ Sony WF-1000XM5 ที่ขายอยู่ 10,990 บาท ก็แพงกว่าพอสมควรเลย

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส