อาจจะเป็นตัวคุณเอง หรือมีญาติพี่น้อง หรือเพื่อนฝูง คนรู้จัก ที่บอกว่าได้กลิ่นฝนก่อนที่ฝนจะตก แล้วจากนั้นไม่นานฝนก็ตกลงมาจริง ๆ ความสามารถพิเศษเหล่านี้ ไม่ใช่ความเชื่อ ไม่ใช่ไสยศาสตร์ และมาถึงวันนี้ นักวิทยาศาสตร์ก็สามารถอธิบายถึงหลักการและเหตุผลว่าทำไม บางคนถึงสามารถรับรู้ถึงกลิ่นของฝนได้ก่อนที่ฝนจะตกลงมาจริง ๆ

นักวิทยาศาสตร์ได้อธิบายว่า กลิ่นที่มนุษย์บางคนสัมผัสได้ก่อนฝนตกนั้น มีชื่อเรียกเรียกว่า “Petrichor” เป็นกลิ่นที่เกิดจากน้ำฝนทำปฏิกิริยากับผิวดิน Petrichor เป็นคำโบราณ มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก ประกอบด้วยคำว่า Petra แปลว่า “หิน” และคำว่า Ichor ที่แปลว่า “ของเหลวที่ไหลเวียนอยู่ในเส้นเลือดของเทพเจ้าในตำนานกรีก”

เมื่อปี 2015 นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ได้ใช้กล้องบันทึกภาพความเร็วสูงมาจับภาพปฏิกิริยาว่ากลิ่น Petrichor เริ่มต้นและเคลื่อนที่ไปในอากาได้อย่างไร มีการทดลองถึง 600 ครั้ง กับ 28 พื้นผิวดินที่แตกต่างกัน เพื่อศึกษาโดยละเอียดว่ากลิ่นนี้เริ่มต้นขึ้นมาได้อย่างไรและมีรูปแบบการเดินทางของกลิ่นอย่างไร แล้วนักวิทยาศาสตร์ก็ได้คำตอบว่า เมื่อน้ำฝนตกลงมาบนพื้นดินที่มีรูพรุน อากาศจากรูพรุนเหล่านั้นจะก่อตัวเป็นฟองอากาศขนาดเล็ก ซึ่งจะค่อย ๆ ลอยขึ้นมาสู่ผิวดินด้านบน และแตกตัวกลายเป็นละอองฝอย ละอองฝอยเหล่านี้ล่ะ ที่เป็นตัวนำกลิ่นดังกล่าวล่องลอยไปในอากาศ แม้ว่าบางคนจะชอบกลิ่นของฝนนี้ แต่ก็มีข้อต้องควรระวัง เพราะสิ่งที่มาพร้อมกลิ่นนี้ด้วยก็คือแบคทีเรียและไวรัสที่ลอยออกมาจากผืนดินเบื้องล่าง

องค์ประกอบหลัก ๆ ในละออง Petrichor นั้นคือ Geosmin เป็นสารประกอบอินทรีย์ที่เกิดขึ้นมาจากแบคทีเรียชนิดหนึ่ง และเจ้า Geosmin นี่ล่ะ ที่เป็นจุดกำเนิดของ “กลิ่นดิน” ซึ่งเป็นกลิ่นที่มีเอกลักษณ์จำเพาะ และคำว่า “Gosmin” นี่ก็เป็นเป็นภาษากรีกโบราณเช่นกัน มาจากคำที่มีความหมายว่า “โลก” และ “กลิ่น” นำมารวมกัน

ที่จริงแล้วจมูกของมนุษย์เรานั้น จะมีประสาทสัมผัสที่ไวต่อ Geosmin อย่างมาก จมูกมนุษย์สามารถตรวจจับที่มาของกลิ่นได้ในอัตรา 5 – 10 ส่วนต่อ 1ล้านล้านส่วน ถ้าให้นึกภาพออกก็เทียบเท่ากับน้ำ 1 หยดในสระว่ายน้ำมาตรฐานโอลิมปิก บรรดาผู้ผลิตหลายราย ที่ต้องการให้สินค้าตัวเองมีกลิ่นคล้าย “ดิน” ก็จะใช้ Geosmin มาเป็นส่วนผสมเพื่อให้เกิดกลิ่น อย่างเช่น เบียร์ หรือ ขนมปัง

ยังมีปัจจัยอีกมากที่มีผลต่อกลิ่นของฝน อีกประเด็นหลัก ๆ ก็คือ “พืช” ต้นไม้แต่และประเภทจะสร้าง “น้ำมัน” เฉพาะของแต่ละสายพันธุ์ขึ้นมาใช้ดำรงชีพในช่วงที่อากาศแล้ง คุณลักษณะเฉพาะของน้ำมันเหล่านี้ก็เพื่อชะลอการเจริญเติบโตของต้น และลดปริมาณการใช้น้ำหล่อเลี้ยงภายในต้น จนเมื่อผ่านพ้นฤดูแล้งไปแล้ว น้ำมันจากพื้นเหล่านี้จะถูกส่งไปเก็บไว้ตามพื้นดินและก้อนหิน จนเมื่อมีฝนตกลงมา น้ำฝนก็จะไปผสมรวมกับน้ำมันจากพืชเหล่านี้ น้ำมันเหล่านี้ก็จะลอยขึ้นสู่อากาศไปผสมรวมอยู่กับ Petrichor

กลิ่น Petrichor ยังขึ้นอยู่กับปริมาณฝนด้วย ถ้าฝนที่ตกปรอย ๆ จะเกิดละอองที่นำพากลิ่น Petrichor มาได้มากกว่าวันที่ฝนตกหนัก ถ้าใครที่มีประสาทสัมผัสต่อกลิ่นฝนได้ ฝนตกครั้งต่อไปลองสังเกตดูครับ ว่าถ้าฝนตกปรอย ๆ เมื่อใด จะสัมผัสกลิ่น Petrichor ได้ชัดเจนกว่าวันที่ฝนตกหนักจริงอย่างที่นักวิทยาศาสตร์กล่าวไว้หรือไม่

อีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อกลิ่นของ Petrichor ก็คือประจุไฟฟ้าในอากาศ ประจุไฟฟ้าเหล่านี้ที่มีผลต่อการเกิดฟ้าผ่าก็ส่งผลให้ Petrichor มีกลิ่นจำเพาะด้วย กลิ่นก่อนที่จะเกิดฝนตกหนักแบบมีพายุและฟ้าผ่าด้วยนั้น จะเป็นกลิ่นที่เกิดจากประจุไฟฟ้าจำนวนมากในชั้นบรรยากาศ ประจุไฟฟ้าจำนวนมากเหล่านี้จะทำให้โมเลกุลของออกซิเจนในอากาศแตกตัวออกเป็นอะตอมย่อย ๆ จากนั้นอะตอมออกซิเจนเหล่านี้ก็จะไปรวมเข้ากับโมเลกุลออกซิเจนอื่น ๆ ในชั้นบรรยากาศ แล้วกลายเป็น “โอโซน” หรือ O3 โอโซนเองก็มีกลิ่นเฉพาะตัว แม้ว่ากระบวนการทางเคมีในการรวมและแยกโมเลกุลออกซิเจนดังกล่าวนี้ จะเกิดขึ้นในบรรยากาศชั้นสูง ๆ แต่ในช่วงที่จะเกิดพายุ กระแสลมแรงจากบรรยากาศด้านบน ก็พัดพาเอากลิ่นดังกล่าวนี้ลงมาเฉียดพื้นโลก นั่นจึงเป็นสาเหตุให้เราได้สัมผัสกลิ่นที่มีลักษณะจำเพาะเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น Petrichor, Geosmin หรือ Ozone ต่างก็มีกลิ่นหอมที่มีลักษณะจำเพาะที่แตกต่างกัน ทำให้ก่อนฝนตกแต่ละครั้งจะมีกลิ่นที่แตกต่างกัน

นักวิทยาศาสตร์ยังสรุปว่า มนุษย์เรามีประสาทสัมผัสที่ไวต่อกลิ่นก่อนฝนตกฝังมาในตัวเราตั้งแต่ครั้งบรรพกาลมาแล้ว เพราะเป็นประสาทสัมผัสพิเศษที่มีผลต่อการดำรงชีพ ช่วยให้มนุษย์เสาะหาแหล่งที่ฝนตกชุ่มชื้นได้ ถึงแม้ว่ามนุษย์เราจะมีวิวัฒนาการมาเป็นสังคมเมืองในปัจจุบันแล้ว ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาประสาทสัมผัสในส่วนนี้แล้วก็ตาม แต่ประสาทสัมผัสพิเศษนี้ก็ยังคงฝังอยู่ในร่างเรา และบางคนก็มีประสาทสัมผัสนี้ที่ไวและเด่นชัดเป็นพิเศษ

ที่มา : weatherboy