วันศุกร์ที่ 11 สิงหาคม เวลา 02:11 a.m. (06:10 น. ในประเทศไทย) รัสเซียได้ปล่อยยานลงจอดบนดวงจันทร์ Luna-25 เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 50 ปี นับตั้งแต่ปี 1976 ซึ่งมีเป้าหมายจะเป็นชาติแรกที่สามารถนำยานลงจอดบนขั้วใต้ของดวงจันทร์ โดยเชื่อว่าเป็นพื้นที่กักเก็บน้ำแข็งขนาดใหญ่ สามารถนำมาสกัดเป็นเชื้อเพลิงและออกซิเจนได้ อีกทั้งคาดว่าจะลงจอดตัดหน้ายานลงจอดของอินเดียที่ถูกส่งไปเมื่อ 14 กรกฎาคม

ยาน Luna-25 ถูกปล่อยออกจากท่าอวกาศยานแห่งใหม่ Vostochny Cosmodrome ที่อยู่ทางตอนเหนือในแคว้นอามูร์ ทางตะวันออกไกลของรัสเซีย ที่ขับดันด้วยจรวด Soyuz 2.1 มุ่งไปสู่ดวงจันทร์ และคาดว่าจะลงจอดบนพื้นผิวของดวงจันทร์อย่างนิ่มนวลในวันที่ 21 สิงหาคม ก่อนยาน Chandrayaan-3 ของอินเดียที่จะลงจอดในวันที่ 23 สิงหาคม

ยาน Luna-25 จะใช้เวลาเดินทางประมาณ 5 วันครึ่ง ไปยังบริเวณพื้นที่รอบดวงจันทร์ (Lunar vicinity) จากนั้นจะใช้เวลา 3-7 วัน เพื่อโคจรรอบดวงจันทร์ที่ระยะความสูงประมาณ 100 กิโลเมตร (62 ไมล์) และค่อยมุ่งหน้าลงจอดบนพื้นผิวของดวงจันทร์

ปัจจุบันมีเพียง 3 ประเทศในโลกที่สามารถส่งยานลงจอดบนพื้นผิวของดวงจันทร์ได้สำเร็จ ได้แก่ รัสเซีย สหรัฐฯ และจีน ต่อมาอินเดียก็กำลังพยายามที่จะนำยานลงจอดบนดวงจันทร์เป็นประเทศที่ 4 และคาดหวังที่จะเป็นประเทศแรกที่สามารถลงจอดบนขั้วใต้ของดวงจันทร์ ซึ่งรุ่นเก่าทั้งรัสเซีย สหรัฐฯ และจีน เองก็อยากจะเข้าวินเป็นประเทศแรกที่สามารถลงจอดบนขั้วใต้ของดวงจันทร์ด้วยเช่นกัน

ที่มา : apnews.com และ reuters.com

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส