วิวัฒนาการด้านปัญญาประดิษฐ์หรือ AI นั้นก้าวไปเรื่อยๆ ตามกำลังของคอมพิวเตอร์และเทคนิคการพัฒนาใหม่ๆ ซึ่งทีมวิจัยของเฟซบุ๊กได้สร้าง Chatbot ที่สามารถเจรจาต่อรองกับผู้ใช้ได้ ซึ่งได้ผลเบื้องต้นที่ดีจนผู้ใช้ที่เป็นคนจริงๆ ไม่รู้ตัวว่ากำลังคุยกับบอทอยู่ ซึ่งการฝึก AI ด้วยกระบวนการเสริมแรงนี้ (Reinforcement learning) มีโอกาสสูงมากที่บอทจะสร้างภาษาของตัวเองขึ้นมา นักวิจัยเลยหาทางบังคับไม่ให้มันออกนอกลู่นอกทาง

นักวิจัยจาก Facebook Artificial Intelligence Research (FAIR) ได้เผยแพร่งานวิจัยที่ชื่อว่า “Deal or no deal? Training AI bots to negotiate” ซึ่งเป็นงานวิจัยเพื่อสร้างบอทที่สามารถเจรจาต่อรองกับผู้ใช้ได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากสำหรับการทำธุรกิจในอนาคต โดยการต่อรองถือเป็นเรื่องยากเรื่องหนึ่งในชีวิตมนุษย์ ที่จะตกลงผลประโยชน์ให้ลงตัวกันทั้ง 2 ฝ่าย

นักวิจัยจึงพยายามสร้างเงื่อนไข และกำหนดความสำคัญของสิ่งของต่างๆ (ในตัวอย่างคือ หนังสือ, หมวก, ลูกบาส) เพื่อดูว่าบอทจะจัดการต่อรองให้ได้ของที่ประเมินค่าไว้สูงกว่าได้อย่างไร ซึ่ง AI จะมีการสร้าง Dialog rollouts ที่เป็นเหมือนชาร์ตการสนทนา ว่าสนทนาอย่างไรจึงจะได้คะแนนประเมินมากที่สุด

Dialog rollouts

ความยากของการสร้างบอทที่ต่อรองได้คือการสร้างภาษาที่เหมือนภาษาของมนุษย์ ไปพร้อมๆ กับสร้างความหมายในการต่อรองให้ได้ประโยชน์สูงสุด ในช่วงแรกของการพัฒนา นักวิจัยให้ AI ฝึกการใช้ภาษาเพื่อการต่อรองกับตัวเอง ซึ่งการต่อรองที่ได้ผลดีจะถูกส่งเสริมเพื่อให้ AI รู้ว่ามาถูกทางแล้ว พร้อมๆ กับฝึก AI ให้ใช้ภาษาเหมือนมนุษย์ เพื่อป้องกันการสร้างภาษาของตัวเองขึ้นมา

ผู้ใช้ส่วนใหญ่เจรจาต่อรองโดยคิดว่าคู่สนทนาเป็นมนุษย์จริงๆ

หลังจากฝึก AI ให้เจรจากับตัวเองเป็นพันๆ ครั้ง นักวิจัยลองให้ผู้ใช้ที่เป็นมนุษย์จริงๆ แชทคุยกับบอทดู ผลที่ได้ออกมาโอเค ผู้ใช้ส่วนใหญ่เจรจาต่อรองโดยคิดว่าคู่สนทนาเป็นมนุษย์จริงๆ

ซึ่งการฝึกแชทบอทไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง นักวิจัยของเฟซบุ๊กให้แชทบอท 2 ตัวมาคุยกัน เพื่อฝึกกันเอง โดยแชทบอท 1 ตัวถูกฝึกให้พูดคุยเหมือนมนุษย์ และล็อกพัฒนาการของบอทตัวนี้ไว้ไม่ให้ปรับเปลี่ยนไปตามการฝึกของของแซทบอทอีกตัว เพราะถ้าปล่อยให้บอท 2 ตัวเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน สุดท้ายมันจะปรับภาษาของกันและกันจนมันรู้เรื่องกันอยู่ 2 ตัว

ตอนนี้โค้ดของการพัฒนาบอทตัวนี้ นักวิจัยของเฟซบุ๊กได้เผยแพร่บน Github ส่วนเอกสารงานวิจัยฉบับเต็มสามารถดูได้จากเว็บห้องสมุดมหาวิทยาลัย Cornell

อ้างอิง Facebook Code