ธาตุเหล็กเป็นหนึ่งส่วนประกอบสำคัญในร่างกาย เพราะธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบของเลือดหากร่างกายขาดหรือมีธาตุเหล็กไม่เพียงพออาจทำให้เกิดอาการล้า หายใจไม่อิ่ม ไปจนถึงภาวะโลหิตจาง

การทานอาหารเสริมที่มีธาตุเหล็กเป็นอีกหนึ่งทางที่ช่วยแก้ปัญหาการขาดธาตุเหล็ก แต่รู้หรือไม่ว่าหากรับประทานในปริมาณที่มากเกินความต้องการของร่างกาย อาหารเสริมธาตุเหล็กเหล่านี้ก็สามารถส่งผลเสียแก่ตัวเราเองได้ อาหารเสริมธาตุเหล็กหลาย ๆ ชนิดมีธาตุเหล็กในปริมาณที่มากกว่าที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน ส่งผลให้ผู้ทานได้รับธาตุเล็กเกินขีดจำกัดและนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดผลข้างเคียงนั่นเอง

การรับประทานธาตุเหล็กมากเกินไปส่งผลให้เนื้อเยื่อในระบบทางเดินอาหารถูกกัดกร่อน นอกจากนี้ยังสามารถสะสมอยู่ในอวัยวะอย่าง เช่น ตับและสมอง ทำให้เกิดความเสียหายที่ไม่สามารถแก้ไขได้ในภายหลัง

นอกจากอาการข้างต้นแล้ว ก็อาจจะมีอาการอื่น ๆ จากพิษสะสมของธาตุเหล็กที่มากเกินไป เช่น กระดูกเปราะ, โรคหัวใจ และโรคเกี่ยวกับตับ และหากเกิดผลข้างเคียงในเด็กอาจส่งผลร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ช่วงปี 1983 ถึง 2000 มีเด็กเสียชีวิตจากผลข้างเคียงของการได้รับธาตุเหล็กมากเกินไปกว่า 43 ราย เนื่องจากพิษของธาตุเหล็กเป็นอันตรายอย่างมากสำหรับเด็ก อาจส่งผลให้อวัยวะล้มเหลวหรือเสียชีวิตในกรณีที่รุนแรง สัญญาณเบื้องต้นที่บ่งบอกได้ว่าคุณกำลังได้รับธาตุเล็กในปริมาณที่มากเกินไป คือ รู้สึกคลื่นไส้, อาเจียน, ท้องร่วง และปวดท้อง หากมีอาการเหล่านี้หลังจากทานอาหารเสริมธาตุเหล็กควรรีบไปพบแพทย์

แล้ว ปริมาณธาตุเหล็กที่เราควรได้รับนั้นอยู่ที่เท่าไหร่กันล่ะ?

อ้างอิงจาก DeMasi ระบุว่า ปริมาณธาตุเหล็กที่ควรได้รับนั้นขึ้นอยู่กับอายุและเพศ ดังนี้

  • เด็กอายุ 1 ถึง 3 ปี ควรได้รับธาตุเหล็ก 7 มิลลิกรัมต่อวัน
  • เด็กอายุ 4 ถึง 8 ปี ควรได้รับธาตุเหล็ก 10 มิลลิกรัมต่อวัน
  • เด็ดอายุ 9 ถึง 13 ปี ควรได้รับธาตุเหล็ก 8 มิลลิกรัมต่อวัน
  • วัยรุ่นเพศชาย ควรได้รับธาตุเหล็ก 11 มิลลิกรัมต่อวัน
  • วัยรุ่นเพศหญิง ควรได้รับธาตุเหล็ก 15 มิลลิกรัมต่อวัน 
  • ผู้ใหญ่เพศชาย ควรได้รับธาตุเหล็ก 8 มิลลิกรัมต่อวัน
  • ผู้ใหญ่เพศหญิง ควรได้รับธาตุเหล็ก 18 มิลลิกรัมต่อวัน 
  • คุณแม่ตั้งครรภ์ ควรได้รับธาตุเหล็ก 27 มิลลิกรัมต่อวัน

ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะธาตุเหล็กสูงไม่ควรทานอาหารเสริม รวมไปถึงผู้ที่มีภาวะเหล็กเกิน, ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย, ผู้ป่วยโรคไขกระดูกเสื่อม, ผู้ป่วยโรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ที่มีระดับเลือดและธาตุเหล็กอยู่ในเกณฑ์ปกติไม่จำเป็นต้องทานธาตุเหล็กเพิ่ม

อย่างไรก็ตามร่างกายเราไม่ได้ดูดซึมธาตุเหล็กที่ได้จากการทานอาหารเสริมได้ดีเท่าไหร่นัก จึงต้องมีการทานอาหารบางอย่างควบคู่ไปด้วยเพื่อช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดียิ่งขึ้น เช่น ทานอาหารที่มีวิตามินซีและแคลเซียม นอกจากนี้การทานธาตุเหล็กก่อนทานอาหาร 1 ชั่วโมง หรือหลังจากทานอาหารไปแล้ว 2 ชั่วโมงก็ช่วยได้เช่นกัน เนื่องจากร่างกายของเราจะดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีในตอนที่ท้องว่าง แน่นอนว่าหากมีอาหารที่ช่วยเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีแล้ว ก็มีกลุ่มอาหารที่ลดการดูดซึมธาตุเหล็กด้วย เช่น เครื่องดื่มที่มีแคลเซียมสูงอย่าง นม โยเกิร์ต เป็นต้น

ในการเลือกทานอาหารเสริมนั้นรูปแบบของธาตุเหล็กก็มีส่วนช่วยลดผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นได้ เช่น การทานอาหารเสริมธาตุเหล็กที่อยู่ในรูปของเหลวจะดูดซึมได้ง่ายและส่งผลกระทบกับระบบทางเดินอาหารน้อยกว่า

อาหารเสริมธาตุเหล็กส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงหลายอย่างและหากยังได้รับปริมาณธาตุเหล็กที่มากเกินความจำเป็นติดต่อกันเป็นเวลานานอาจก่อนให้เกินภาวะธาตุเหล็กเป็นพิษซึ่งอาจส่งผลร้ายแรงต่อร่างกายได้ หากคุณไม่ได้อยู่ในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น ปริมาณธาตุเหล็กต่ำ การทานอาหารเสริมธาตุเหล็กก็ไม่จำเป็นเท่าไหร่ ดังนั้น ก่อนที่จะตัดสินใจทานอาหารเสริมธาตุเหล็กควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้ร่างกายได้รับปริมาณธาตุเหล็กที่เหมาะสมจะดีที่สุดครับ

อ้างอิง Insider

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส