แรมซีส อัลเคดี (Ramses Alcaide) นักศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนในปี 2015 ได้พัฒนาระบบต่อประสานระหว่างคอมพิวเตอร์และสมอง ซึ่งจะทำให้มนุษย์สามารถควบคุมซอฟต์แวร์และวัตถุทางกายภาพด้วยความคิดของพวกเขา ในวันนี้ระบบดังกล่าวกำลังอยู่ในแผนการของ Neurable บริษัทสตาร์ตอัปจากบอสตันที่จะเริ่มต้นส่งมอบอุปกรณ์หูฟังแบบครอบที่สามารถบอกได้ว่า สมองของผู้ใช้อยู่ในช่วงที่พร้อมและสามารถทำงานได้ประสิทธิภาพสูงสุด

เป้าหมายของ Neurable คือการช่วยให้ผู้คนรู้ว่า เวลาใดที่พวกเขาสามารถโฟกัสหรืออยู่ในจุดที่สามารถตัดสินใจเรื่องงานได้ดีที่สุด รวมถึงสามารถบอกได้ว่า ขณะใดที่พวกเขาอยู่ในภาวะที่ทำงานได้มีประสิทธิภาพต่ำที่สุดเช่นกัน ตัวระบบจะช่วยเก็บข้อมูลว่า ผู้ใช้ไม่สบายใจถี่แค่ไหน ดื่มน้ำหรือยิ้มบ่อยเพียงไร ผลิตภัณฑ์ตัวนี้ถูกออกแบบสำหรับคนที่ต้องการใช้เวลาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงคนที่อยากมีสุขภาพจิตที่ดีกว่าเดิม

นักวิจัยคาดว่า การพัฒนาในด้านนี้จะนำไปสู่การปฏิวัติครั้งใหญ่ในวงการเทคโนโลยี เหมือนเป็นการมอบสัมผัสที่ 6 ให้กับมนุษย์ เพียงแค่สมองเราคิด คอมพิวเตอร์ก็จะสามารถเก็บมันไว้ แสดงผลออกมา หรือแม้แต่พูดสิ่งที่คิดก็สามารถเกิดขึ้นได้ เหมือนกับการใช้เทคโนโลยีมาเป็นพลังจิตที่ทำให้เราสามารถพิมพ์สิ่งที่เราคิด และแบ่งปันความคิดเห็นของเราได้โดยไม่ต้องพูดออกมา

คิดซะว่ามันคือ Fitbit สำหรับสมองของคุณ

แรมซีส อัลเคดี (Ramses Alcaide)

Neurable เริ่มต้นให้พรีออเดอร์สำหรับอุปกรณ์สวมศีรษะที่จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถเลือกเพลงได้ผ่านการแสดงสีหน้า และในอนาคตเราจะได้เห็นอุปกรณ์นิวโรเทคเพิ่มขึ้น เช่น Facebook หรือ Neuralink ที่กำลังพัฒนาโลกที่คลื่นสมองสามารถใช้แทนการคลิกเมาส์ได้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามการพัฒนาของเทคโนโลยีนี้ก็สร้างความกังวลให้กับคนบางกลุ่ม พวกเขาระบุว่า ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายสำหรับเทคโนโลยีเกี่ยวกับสมองที่จะปกป้องผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภค และไม่มีการควบคุมบริษัทเทคโนโลยีในการจัดการข้อมูลที่ได้จากสมองของเรา

อัลเคดีเผยว่า เป้าหมายของเขานั้นไม่ใช่แค่การระบุสภาพสมอง แต่เขาต้องการให้ในอนาคตมนุษย์สามารถสั่งการสมาร์ตโฟนโดยไม่ต้องสัมผัสหรือใช้เสียง เพียงแค่คิด สิ่งนั้นก็จะเกิดขึ้น

นิวโรเทค (Neurotech) คือคำที่ใช้พูดถึงอุตสาหกรรมที่เชื่อมต่อสมองของมนุษย์เข้ากับคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์บางเครื่องต้องใช้การผ่าตัด แต่บางเครื่องก็ไม่ต้อง มันเป็นสาขาเทคโนโลยีชีวภาพที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้เครื่องจักรสามารถทำงานผ่านการอ่านจิตสำนึกของผู้ใช้

เทคโนโลยีเรื่องนี้ได้มีการใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ที่เข้าไปช่วยลดปัญหาเรื่องการทรงตัว การสั่น และความลำบากในการเดิน รวมถึงทำให้เห็นความเป็นไปได้ในการประยุกต์เพื่อรักษาผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ผู้ป่วยโรคสมาธิสั้น (ADHD) และโรคลมชัก

เมื่อเวลาผ่านมาจนถึงปี 2014 บริษัทได้ยกระดับเทคโนโลยีดังกล่าวจากการใช้กับผู้ป่วย เป็นอุปกรณ์สำหรับใช้ในบ้าน เช่น อุปกรณ์สวมศีรษะของ Urgotech ที่ช่วยให้สมองหลับได้ดีขึ้น

ตัวอย่างอุปกรณ์จาก Nextmind สำหรับที่ทำให้สมองสั่งการอุปกรณ์ได้
อุปกรณ์ของ Bitbrain เพื่อใช้งานกับเกมและแอปพลิเคชัน

ทฤษฎีที่อยู่เบื้องหลังความสามารถของอุปกรณ์เหล่านี้มาจากการค้นพบว่า ความคิดเป็นผลของการส่งสัญญาณเซลล์ประสาท (Neuron) ผ่านระบบประสาท สัญญาณนิวรอนนั้นสามารถตรวจจับได้ แต่การที่จะสั่งการอุปกรณ์ได้ จะต้องมีการถอดรหัสสัญญาณอันซับซ้อนที่ส่งมา

ทุก ๆ ครั้งที่เราคิด นิวรอนในสมองจะสร้างสัญญาณไฟฟ้า ซึ่งเคลื่อนที่เหมือนคลื่นกระเพื่อมผ่านกระโหลกศีรษะไปยังที่ต่าง ๆ ซึ่งเซนเซอร์ที่เราสวมไว้บนหัวจะสามารถจับสัญญาณดังกล่าวได้ ในขณะที่อัลกอริทึมจะเปลี่ยนสัญญาณเป็นข้อมูลที่มีความหมาย เช่น ความต้องการที่จะ ‘เล่น’ บนจอคอมพิวเตอร์ นั่นเอง

อย่างไรก็ตามความเป็นไปได้ของนิวรอนเทคนั้นไม่มีที่สิ้นสุด ในอนาคตเราอาจจะสามารถรู้ได้ว่า สัตว์เลี้ยงของเรากำลังคิดอะไร เราอาจจะส่งภาพในสมองเราเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ หรืออาจจะแปลงภาษาได้โดยอัตโนมัติและแบ่งปันไอเดียให้กับคนอื่นโดยไม่ต้องพูดเลยแม้แต่คำเดียว!

อ่้างอิง: The Washington Post

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส