รีวิวเกม Chrono Cross The Radical Dreamers Edition ตำนาน RPG ทะลุมิติ
Our score
7.0

Chrono Cross The Radical Dreamers Edition

จุดเด่น

  1. เกมเพลย์ในตำนานที่มีโหมดปรับให้ทันสมัยขึ้น
  2. กราฟิกปรับให้ดูดีขึ้น (เล็กน้อย)

จุดสังเกต

  1. เฟรมเรตตกกระจายในบางจุด
  2. สิ่งที่เพิ่มเข้ามาน้อยไปหน่อย

หนึ่งในสิ่งที่ค่ายเกมทุกวันนี้ชอบทำก็คือการนำของเก่ามาขายใหม่แบบปรับนิดหน่อย หรือที่เรียกว่าการรีมาสเตอร์ และหนึ่งในค่ายที่นิยมสร้างก็คือ Square Enix ที่ก่อนหน้านี้มีการขุดเอาซีรีส์ RPG เก่าแก่มาปัดฝุ่นขายใหม่หลายเกมมาก ทั้ง Final Fantasy หรือ Romancing SaGa

ล่าสุดมีการเอาหนึ่งในตำนานของวงการ RPG อย่าง Chrono Cross มารีมาสเตอร์ใหม่โดยใส่ชื่อต่อท้ายว่า The Radical Dreamers Edition วางขายอีกครั้งบน PS4 , Xbox One , Nintendo Switch และ PC ถือว่าสร้างความประหลาดใจอยู่ไม่น้อย เพราะมันไม่ได้มีกระแสให้พูดถึงมากนัก แต่หากใครเกิดทันเล่นคงจะพอจำความสนุกและความแปลกของตัวเกมได้

ต้นฉบับของ Chrono Cross วางขายบน PS1 ในปี 1999 ในโซนญี่ปุ่นก่อน และมีการวางขายในเวอร์ชันภาษาอังกฤษในปี 2000 โดยเรื่องราวจะอยู่ในโลกเดียวกับ Chrono Trigger เกมในตำนานที่วางขายบน Super Famicom แม้จะไม่ได้สนุกเทียบเท่าแต่ก็มีความแปลกและแตกต่าง ส่วนเรื่องราวใน Chrono Cross จะเริ่มที่หนุ่มน้อย Serge ที่ต้องออกผจญภัยในโลกมิติคู่ขนานที่พร้อมกับเรื่องราวซับซ้อนเกินคาดเดารวมทั้งตัวร้ายสุดโหดที่แม้แต่ผู้กล้าในตำนานยังสู้ไม่ได้

กราฟิกปรับนิดหน่อยแต่เฟรมเรตร่วงกระจาย

เป็นที่รู้กันว่าการรีมาสเตอร์จะเป็นสิ่งที่ค่ายเกมชอบ เพราะมันไม่ต้องลงทุนมากมายเพียงแค่ปรับภาพนิดหน่อยเท่านั้น ดังนั้น Chrono Cross The Radical Dreamers Edition มีการลงทุนไม่มากนักเพียงแค่สร้างโมเดลตัวละครให้คมชัดขึ้น และฉากที่เป็นภาพนิ่งที่เหมือนภาพวาดสีน้ำก็ปรับให้คมชัดขึ้น แต่เสียดายที่คัตซีนไม่ได้ปรับให้เป็น HD ยกของเดิมมาทั้งดุ้นทำให้น่าผิดหวังไปบ้าง แต่โดยรวมทั้งหมดมันก็คือของเดิม พูดให้เข้าใจง่าย ๆ มันก็ประมาณ Final Fantasy 8 รีมาสเตอร์ที่ออกวางขายก่อนหน้านี้ แต่ใครไม่ชอบก็สามารถเลือกกราฟิกแบบเดิมได้ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตามมันมีสิ่งที่น่าผิดหวังที่ไม่ควรจะมี เพราะเฟรมเรตในเกมนั้นร่วงลงจนน่าใจหาย ไม่ว่าจะเล่นบนคอนโซลอย่าง PS5 หรือ PC ในบางฉากจะไม่ลื่นไหลเท่าที่ควร และดูแย่กว่าต้นฉบับบน PS1 ด้วยซ้ำซึ่งคาดว่าทีมงานสร้างอาจจะปล่อยตัวอัปเดตมาแก้ไขเร็ว ๆ นี้ ส่วนเพลงประกอบถือเป็นส่วนที่ดีงามของเกม เพราะมีการนำของเดิมที่แต่งโดย ยาสุโนริ มิตสุดะ (Yasunori Mitsuda) นำมาปรับแต่งเสียงใหม่ให้ทันสมัยมากขึ้นซึ่งของเดิมถือว่าดีอยู่แล้วมาปรับใหม่ยิ่งทำให้มันเข้ากับการเล่นในยุคนี้แบบไม่เสียของ

รูปแบบการเล่น RPG ที่มีจุดเด่นที่ระบบธาตุ

เกมเพลย์ของ Chrono Cross ฉบับรีมาสเตอร์ก็เหมือนเดิม ที่มาแนว RPG แบบเทิร์นเบสที่ต้องใส่คำสั่งโจมตีที่เข้าใจง่ายและไม่มีระบบเวลาจริงทำให้ผู้เล่นได้คิดวางแผนก่อนกดคำสั่ง และมีการตัดเข้าฉากต่อสู้แต่จะเห็นศัตรูบนฉากไม่ได้ใช้แบบสุ่มทำให้เดินหลบได้หากไม่อยากเจอ โดยในฉากต่อสู้เราจะจัดทีมได้ 3 ตัวมาลงสนามต่อสู้กับศัตรูได้ โดยรวมส่วนนี้เข้าใจง่ายหากคุณเคยเล่นเกม JRPG ในยุค 90S มาแล้ว

ส่วนความโดดเด่นของ Chrono Cross ที่ทำให้มันแตกต่างจากเกมอื่นในยุคนั้นคือระบบ “ธาตุ” เพื่อนำมาใช้ในการต่อสู้รวมทั้งเติมค่าพลัง เรียกว่าเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของการเล่น โดยจะมีแบ่งเป็นธาตุที่เข้าใจง่ายเช่น ไฟหรือน้ำ และจะมีท่าไม้ตายกำหนดตามธาตุเช่นลูกไฟพลังความร้อน หรือกระสุนน้ำ และยังมีพลังแปลก ๆ ที่ส่งผลกระทบกับการต่อสู้อย่างมาก และแน่นอนว่าศัตรูในเกมจะมีการแพ้ทางด้วย ซึ่งหากเราสามารถใช้ให้ถูกที่ถูกเวลาแล้วจะกำจัดศัตรูได้ไม่ยาก

โดยผู้เล่นสามารถใส่ธาตุตามช่องที่เกมกำหนดไว้ได้ ที่ในตอนแรกจะใส่ได้ไม่กี่ประเภทแต่พออัปเกรดตัวละครไปเรื่อย ๆ แล้วจะใช้ได้หลายช่องมาก และสามารถสานต่อกันเป็นความต่อเนื่องเป็นคอมโบในการต่อสู้ได้ ส่วนธาตุจะหาได้ทั่วไปทั้งในฉากที่เก็บได้ในหีบสมบัติหรือหาซื้อในเมืองก็ได้ และนอกจากใช้โจมตีศัตรูโดยตรงแล้วระบบธาตุยังมาพร้อมกับ Field Effect ที่จะส่งผลกับพื้นที่การต่อสู้และจะทำให้เราได้เปรียบในการเล่นหากใช้งานเป็น แต่ศัตรูก็สามารถใช้โหมดนี้กับเราได้เช่นกัน ส่วนนี้ทำให้ Chrono Cross สนุกและแตกต่างจากเกมอื่นในยุคนั้น เรียกว่าหากเราตั้งค่าธาตุได้ถูกต้องและเรียงมาอย่างดีก็อาจจะเอาชนะบอสสุดโหดได้อย่างง่ายดายเลย

ทะลุมิติสู่โลกคู่ขนาน

ใน Chrono Trigger จะเป็นการท่องเวลา แต่ใน Chrono Cross จะเป็นการข้ามมิติไปสู่โลกคู่ขนานที่ตัวละครหลักต้องกลับไปมาระหว่าง 2 โลก ที่เมื่อทำบางสิ่งกับอีกมิติมันจะส่งผลกระทบมาสู่อีกมิติด้วย เช่นเมื่อเราทำการเปลี่ยนภูมิประเทศของฉากในอีกโลกหนึ่งจะส่งผลให้เกิดป่าไม้ในอีกมิติหนึ่งได้ที่เป็นจุดเด่นที่ทำให้การเล่าเรื่องราวมีความโดดเด่น และตัวละครในแต่ละมิติจะมีความแตกต่างกันด้วย

และจุดนี้เองทำให้ Chrono Cross มีเรื่องราวแยกย่อยเยอะมาก รวมทั้งมีตัวละครที่ใช้งานได้จำนวนมากมายอย่างไม่น่าเชื่อ แม้ว่างานออกแบบจะยังสู้ Chrono Trigger ไม่ได้แต่จำนวนและความหลากหลายของเนื้อเรื่องถือว่าทำให้เกมยังคงน่าติดตามอยู่ และส่วนทีแปลกใหม่ในยุคนั้นคือการที่เราสามารถหนีจากการต่อสู้กับบอสได้ถือว่าผู้สร้างพยายามคิดอะไรให้แตกต่างอยู่

ส่วนในภาครีมาสเตอร์นั้นมีการใส่ Radical Dreamers เกมภาคเสริมบน Super Famicom ที่ออกในปี 1996 แต่ไม่เคยออกภาคภาษาอังกฤษมาก่อน (แต่มีภาค Fansub ที่แฟนเกมแปลจากญี่ปุ่นเป็นภาษาอังกฤษเล่นกันเอง) ซึ่งเป็นการผจญภัยที่เราจะได้อ่านข้อความที่มีภาพประกอบเข้ามาเป็นส่วนเสริมให้เนื้อเรื่องในเกมมีความสานต่อกับ Chrono Trigger มาให้อ่านกันด้วย

ของใหม่โหมดที่ช่วยให้ง่ายขึ้น

แน่นอนว่าการเอาของเก่ายุค 90S มาขายใหม่แบบรีมาสเตอร์ของ Square Enix ต้องมีการเพิ่มของใหม่ที่ช่วยให้คอเกมยุคนี้เล่นได้ง่ายขึ้นใส่เข้ามาด้วย Chrono Cross The Radical Dreamers Edition ก็มีการใส่มาทั้งโหมดไม่พบเจอศัตรูเลย และการต่อสู้แบบอัตโนมัติรวมทั้งโหมดที่ทำให้เราไม่โดนศัตรูโจมตีในตอนที่ต่อสู้ และแน่นอนโหมดเร่งความเร็วก็ต้องมาเพราะต้นฉบับเกมเพลย์ถือว่าอืดอาดมากเมื่อเทียบกับมาตรฐานในยุคนี้ ถือว่าเป็นของที่ต้องมีไม่ได้โดดเด่น และช่วยให้แฟน ๆ รุ่นใหม่สนุกไปกับของเก่าที่มีอายุมากกว่า 20 ปีได้อย่างไม่ติดขัด

บอกตรง ๆ ว่า Chrono Cross The Radical Dreamers Edition อาจจะไม่ได้ทำให้คนที่คาดหวังไว้สูงต้องสมหวัง เพราะมันยังอยู่ในกรอบของการรีมาสเตอร์ที่ Square Enix ใช้รูปแบบนี้มานานแล้ว และไม่ได้ใส่ของใหม่เข้าไปมากมายนัก แต่พอจะมีให้บ้างเช่นกราฟิกปรับนิดหน่อยแต่เฟรมเรตยังเป็นปัญหา ส่วนโหมดพิเศษก็ใส่มาให้ตามมาตรฐาน แต่หากคุณเคยเล่นต้นฉบับแล้วอยากหวนคืนไปสู่วัยเด็กที่เรานั่งเล่นบน PS1 แล้วมันก็ถือว่าน่าหามาไว้ติดเครื่องอยู่เพราะเมื่อเทียบกับราคาที่ไม่ได้สูงอะไรมากมายก็ถือว่าคุ้มค่าอยู่

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส