ความหลงใหลในเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์ ทำให้ ‘ปกรณ์ เจียมสกุลทิพย์’ หรือ ‘คุณโป้ง’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออร์บิท ดิจิทัล จำกัด (Orbit Digital) ไม่ใช่เพียงแค่ชอบเกี่ยวกับเรื่องของคอมพิวเตอร์ แต่ยังลงลึกและศึกษาเกี่ยวกับดิจิทัลมาตั้งแต่ยุคที่คอมพิวเตอร์ยังทำอะไรไม่ค่อยได้

ความหลงใหลนั้น ทำให้เขาและ ‘คุณโบ๊ท’ หรือ ‘พชร อารยะการกุล’ ก่อตั้ง ‘Bluebik’ เพื่อนำองค์กรเข้าสู่ ‘Digital Transformation’ ที่วันนี้กลายมาเป็นบริษัทที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และนำไปสู่การร่วมทุนกับบริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่อย่าง ‘บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จํากัด’ (มหาชน) หรือ ‘OR’ ก่อตั้งบริษัท ‘ออร์บิท ดิจิทัล’ (Orbit Digital) เพื่อเสริมกำลังด้านดิจิทัลให้กับธุรกิจค้าปลีกของ OR ภายใต้การนำของคุณโป้ง ที่ก้าวเข้ามาเป็น CEO เพื่อดูแลบริษัทน้องใหม่นี้โดยเฉพาะ

แม้ ณ วันนี้ เขาเองจะต้องดูแลธุรกิจทั้งสองฝั่ง แถมยังต้องเตรียมตัวเพื่อที่จะเป็นพ่อคนในอีกไม่นานนี้ แต่เขาก็ยังยอมที่จะสละเวลามานั่งอ่านข่าวเช้ากับ beartai BRIEF เพื่อเติมมุมมองด้านเทคโนโลยีให้กับผู้ชมในทุก ๆ เช้า



ปกรณ์ เจียมสกุลทิพย์ Orbit Digital

อัปเดตชีวิตให้แฟน ๆ beartai BRIEF รู้หน่อยว่าคุณโป้งทำอะไรอยู่บ้างตอนนี้

สำหรับผมตอนนี้ก็กำลังสวมหมวกสองใบครับ ถ้าอยู่ในส่วนของ Bluebik ผมจะรับหน้าที่ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี หรือ CTO (Chief Technology Officer) คอยดูเรื่องทิศทางของเทคโนโลยีทั้งหมดของ Bluebik ครับ และเป็น Business Unit Director ให้กับ Service ที่มีชื่อว่า ‘Digital Excellence and Delivery’ เป็นบริการพัฒนาระบบดิจิทัล และให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยี และดำเนินการนำเทคโนโลยีเข้าไปในองค์กร

ในทีมก็จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่นทีมงานที่เชี่ยวชาญด้าน UX/UI ของแอปพลิเคชัน หรือเรื่องของการออกแบบระบบ Cloud Service ซึ่งการทำงานของเราก็จะคล้าย ๆ กับการออกแบบตึกนั่นแหละครับ แต่ว่าเป็นตึกในรูปแบบดิจิทัล

ส่วนหมวกอีกใบหนึ่งก็คือ เป็น CEO ในบริษัท ‘ออร์บิท ดิจิทัล’ (ORBIT Digital) ซึ่งเป็นบริษัท Joint Venture ระหว่าง Bluebik กับ OR (บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)) ในฝั่งนี้ก็จะเน้นดูในภาพรวมเป็นส่วนใหญ่ครับ ซึ่งตอนนี้จะรับหน้าที่ในการสร้างทีม คุมและสอนทีมในบริษัท เพื่อให้ตัวองค์กรไปต่อได้ ซึ่งทั้งคู่ก็จะเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการให้คำปรึกษา และดำเนินการเกี่ยวกับด้านเทคโนโลยีให้กับองค์กรครับ

ส่วนถ้าเป็นงานส่วนตัว ตอนนี้ผมกำลังเตรียมตัวเองให้พร้อมสำหรับบทบาทใหม่ ก็คือการเป็นคุณพ่อครับ (หัวเราะ) นอกจากนี้ก็ไม่ได้มีอะไรแล้วครับ ส่วนใหญ่ก็จะวุ่นวายอยู่กับ 2 บริษัทนี้นี่แหละครับ

ได้ยินมาว่า คุณโป้งเองสนใจเทคโนโลยีเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้ว อยากให้เล่าให้ฟังหน่อยว่า ตอนนั้นคอมพิวเตอร์มันน่าสนใจอย่างไรสำหรับคุณบ้าง

จริง ๆ ถ้าถามว่าสนใจอย่างไร ก็คงต้องตอบว่า เพราะว่าตัวผมเองเป็นเด็กเนิร์ดน่ะครับ ก็เลยมีความสนใจอยู่ไม่กี่อย่าง ถ้าไม่เป็นหนังสือที่ชอบอ่านและชอบสะสม ก็จะเป็นเรื่องของคอมพิวเตอร์ และเล่นเกม ทำอยู่สองสามอย่างวนไป อะไรทำนองนี้แหละครับ ขนาดตอนนี้ก็ยังอ่านหนังสือ ชอบซื้อและสะสมหนังสืออยู่

แล้วด้วยความที่ผมเติบโตมากับการเสพการ์ตูนญี่ปุ่น วัฒนธรรมญี่ปุ่น ซึ่งการ์ตูนญี่ปุ่นมันก็จะมีแค่ 2-3 แนว เช่นแนวต่อสู้ แนวกล้าม ๆ หรือไม่ก็เป็นแนวหุ่นยนต์ ซึ่งจริง ๆ มันก็เป็นแนวต่อสู้เหมือนกันนั่นแหละ แล้วด้วยความที่ผมเองชอบการ์ตูนแนวหุ่นยนต์ จำพวกกันดั้ม หรือพวกยานอวกาศ ที่จะมีการประกอบร่าง การควบคุมหุ่นยนต์ สำหรับผมมันเป็นอะไรที่ว้าวมาก เวลาเล่น เราก็ชอบจินตนาการว่าเหมือนตัวเองกำลังยืนอยู่หน้าคีย์บอร์ตอะไรสักอย่าง แล้วก็จำลองการควบคุมหุ่นยนต์

แล้วประกอบกับว่า ตอนนั้นน้าเขยทำงานในบริษัทคอมพิวเตอร์ ตอนที่ผมเด็ก ๆ น้าเขยก็เอาคอมพิวเตอร์มาให้เล่นหลายรุ่นเลย เพราะว่าพอน้าเขยเปลี่ยนบริษัทที ก็เอาคอมพิวเตอร์รุ่นนั้นมาให้ลองเล่นด้วย ตั้งแต่ยุคดอส (DOS) วินโดวส์ (Windows) หรือแมคอินทอช (Macintosh) เครื่องแรก ๆ ผมว่าน่าจะเป็นคนแรก ๆ ในประเทศที่ได้จับเครื่องแมคอินทอชนะ

คือตอนเด็ก ๆ ตอนนั้นผมก็ไม่รู้หรอกครับว่ามันทำงานยังไง แต่เพราะว่าเราชอบอะไรทำนองนี้อยู่แล้ว มันก็เลยทำให้เรารู้สึกว้าวกับกล่อง ๆ นี้เป็นพิเศษ แล้วในแมคอินทอชรุ่นหนึ่งมันจะมีโปรแกรมจำลองระบบดาวเคราะห์ มันสามารถจำลองให้เราเห็นว่า ถ้าเราปล่อยยานอวกาศออกไป มันจะวนรอบ ๆ ดาวเคราะห์ได้ เหมือนมีแรงดึงดูดจริง ๆ

เหมือนเป็นจักรวาลที่อยู่ในกล่องสี่เหลี่ยมกล่องเล็ก ๆ นี้ เลยทำให้เรารู้สึกว่า มันสามารถทำอะไรได้เยอะแยะมาก ก็เลยทำให้เราชอบคอมพิวเตอร์ไปเลย ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดอะไรมากเลยครับ แค่รู้สึกว่าอยากโตไปทำงานอะไรสักอย่างที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

ปกรณ์ เจียมสกุลทิพย์ Orbit Digital

นั่นก็เลยเป็นสาเหตุให้คุณเลือกเรียนด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์

ใช่ครับ จริง ๆ ด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์มันจะดีตรงที่เราจะได้เรียนเกี่ยวกับฮาร์ดแวร์ด้วย ทั้งเรื่องของไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ CPU ไมโครคอนโทรลเลอร์ (Microcontroller) ทั้งหมดทุกด้านที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เลย ในขณะที่ถ้าเป็นทางด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ส่วนใหญ่จะเรียนเกี่ยวกับวิธีการแก้ปัญหาด้วยโปรแกรม การเขียนโปรแกรมโดยใช้อัลกอริทึมเพื่อแก้ปัญหาซะเป็นส่วนใหญ่ครับ

การเรียนวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ในตอนนั้นสำหรับคุณมันยากแค่ไหน

สมัยก่อนการเรียนถือว่ายากครับ เพราะว่าสมัยนั้นการเรียนในมหาวิทยาลัยกับตลาดงานมันไม่ได้เชื่อมต่อกันเหมือนอย่างทุกวันนี้ เวลาจบ เดินออกไปจากรั้วมหาวิทยาลัย บางทียังไม่รู้เลยว่าจะไปทำอะไร เพราะว่าตอนนั้นมันยังไม่ได้มีสายงานหรือทางเลือกในอาชีพเยอะเหมือนสมัยนี้ และด้วยความที่ว่ามันศึกษาโดยรวม ๆ ไม่ได้มี Field เจาะไปทางใดทางหนึ่งเป็นพิเศษ ก็เลยเป็นลักษณะของการเรียนแบบโดยรวม ๆ มากกว่า

แล้วการที่คุณสนใจด้าน IT Security อันนี้เริ่มมาได้ยังไง

ตัวผมเองชอบศึกษาด้าน IT Security เพราะว่าเราเองเล่นคอมพิวเตอร์เรียนพิเศษกับคอมพิวเตอร์ ก็เลยได้ใช้คอมพิวเตอร์เร็วกว่าคนอื่น ๆ และชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ วันหนึ่งผมไปเจอหนังสือภาษาไทยนี่แหละ ที่เกี่ยวกับการสอนแฮกคอมพิวเตอร์ ซึ่งมันน่าสนใจดี ก็เลยหยิบมาอ่าน

พออ่านแล้วก็คิดแบบเด็ก ๆ ว่า เราสามารถเข้าไปยุ่งกับคอมพิวเตอร์ของคนอื่นได้ด้วยเหรอ แล้วในหนังสือก็จะสอนว่า เราจะต้องระวังเรื่องนี้เอาไว้นะ ต้องระวังไวรัส จริง ๆ เราเองก็พอจะรู้จักไวรัสแหละ แต่มันจะมีสิ่งที่เรียกว่า ‘Backdoor’ ที่ทำให้เราสามารถเข้าไปในคอมพิวเตอร์ของคนอื่นได้ เราก็เลยสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ แต่ว่าก็รู้แบบนิด ๆ หน่อย ๆ นะครับ เพราะว่าภาษาอังกฤษเราก็ยังไม่ได้แข็งแรงมาก และอินเทอร์เน็ตตอนนั้นมันก็ยังไม่ได้ดี

ตอนนั้นก็เลยสนใจด้านนี้ ไม่รู้ว่าเกิดทันไหม แต่ว่าสมัยก่อนมันจะมีโปรแกรมแชตที่ชื่อว่า ‘เพิร์ช 98’ (Pirch 98) บางครั้งคนที่ใช้เพิร์ชมักจะถูกยิงสคริปต์ใส่คอมพิวเตอร์ของคนอื่นให้จอฟ้า หรือแกล้งเพื่อนด้วยการทำให้ซีดีรอมเปิดเอง เราก็เลยชอบที่จะชวนเพื่อน ๆ หาอะไรพวกนี้มาเล่นกับกลุ่มเพื่อนที่สนใจเรื่องคอมพิวเตอร์เหมือน ๆ กัน ถ้าเป็นสมัยนี้ก็คงเรียกว่าเป็น ‘Script Kiddies’ ที่ไม่ได้เข้าใจเรื่องระบบอะไรหรอก แต่ชอบโหลดสคริปต์มาลองเล่น ลองแกล้งเพื่อนอะไรแบบนี้มากกว่า

พอเข้ามหาวิทยาลัย ก็ลืมเรื่องพวกนี้ไปเลยครับ เพราะว่าตอนเรียน ก็จะมักจะได้เจอกับเพื่อน ๆ ที่เขียนโปรแกรมเพื่อแก้ปัญหาทางธุรกิจโน่นนี่ เป็นเหมือนอีกด้านหนึ่งของเทคโนโลยี จนถึงปี 4 ที่ต้องมาถามตัวเองว่าจะทำงานเกี่ยวกับอะไรดี ก็เลยนั่งโหลด E-Book เกี่ยวกับ IT Security นั่งอ่านพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่อเตรียมตัวในการทำงานในสายงานด้านนี้ แล้วส่วนใหญ่ก็จะเป็นภาษาต่างประเทศเพราะว่าตอนนั้น 20 ปีที่แล้ว หนังสือภาษาไทยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มันยังไม่ค่อยมี แล้วก็ยังไม่มีใครสอนแบบจริงจัง

ปกรณ์ เจียมสกุลทิพย์ Orbit Digital

แล้วคุณเริ่มต้นทำงานเกี่ยวกับ IT Security ได้อย่างไร ตอนนั้นวงการ IT Security ของไทยเป็นอย่างไรบ้าง

ต้องเล่าย้อนนิดหนึ่งว่าตอนที่เราโหลด E-Book มานั่งอ่านเอง จริง ๆ ก็ไม่ได้เก่งกาจอะไรนะครับ พอรู้แบบงู ๆ ปลา ๆ แต่ก็พอจะรู้ว่า ณ ตอนนั้น วงการ IT Security มักจะพูดถึงกันในกลุ่มคนทำงานเกี่ยวกับด้าน Network เสียเป็นส่วนใหญ่

พอค้นหาไปเรื่อย ๆ เราก็เจออาชีพหนึ่งที่เรียกว่า ‘Ethical Hacker’ หรือบางที่ก็จะเรียกว่าเป็น ‘White Hat Hacker’ (แฮกเกอร์หมวกขาว) แฮกเกอร์ที่มีจริยธรรมนั่นแหละ เป็นคนที่คอยตรวจสอบหาช่องโหว่ของระบบ แล้วก็แก้ไข ก่อนที่ ‘Black Hat Hacker’ หรือพวกแฮกเกอร์สายมืดจะมาแฮกระบบจริง ๆ พอเราค้นพบว่ามันมีอาชีพนี้อยู่ในโลก มันเหมือนวงกลมสามวงที่มาซ้อนกัน ทั้งเรื่องความชอบ ความถนัด และรายได้ ก็เลยทำให้เรารู้สึกสนใจเป็นพิเศษ

ตอนนั้นก็เลยเริ่มค้นหาว่าจะมีบริษัทไหนที่เปิดรับตำแหน่งนี้ ในตอนนั้น ตลาดงานสายไอทีถือว่าค่อนข้างแย่ ตลาดงานไม่ได้บูมเหมือนทุกวันนี้ ก็เลยเริ่มต้นไปทำงานในสายงานที่ใกล้เคียงที่ ‘CS Loxinfo’ แล้วก็ย้ายมาทำงานที่เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรงที่บริษัท ‘PwC’ อยู่ช่วงหนึ่งครับ

อยากให้คุณโป้งเล่าเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของ Bluebik หน่อย จริง ๆ คุณโบ๊ท (พชร อารยะการกุล CEO Bluebik) เล่าไปในบทสัมภาษณ์แล้ว แต่อยากให้เล่าเพิ่มเติมในมุมของคุณโป้งบ้าง คุณโป้งกับคุณโบ๊ทเริ่มต้นบริษัทนี้ด้วยกันอย่างไรบ้าง

ถ้าตอบว่าเหมือนที่คุณโบ๊ทเล่า จะง่ายไปไหม (หัวเราะ) เอาจริง ๆ ก็คือ เราทำอะไรด้วยกันมานานครับ ตอนที่อยู่ PwC ก็ทำงานร่วมกันหลายโปรเจกต์มาก ๆ แล้วก็เป็นเพื่อนที่อยู่ในวงเพื่อน ๆ กินดื่มมาด้วยกัน ได้มาทำงานร่วมกันจริงจังครั้งแรกก็คือตอนที่ไปทำงานด้วยกันในสตาร์ตอัปด้าน E-Commerce อยู่พักหนึ่ง

เราสองคนก็คุยกันมาตลอดว่า อีกหน่อยถ้ามีโอกาสก็น่าจะทำอะไรสักอย่างร่วมกันนะ แล้วโบ๊ทก็ไปเรียนต่อ เราเองก็รับงานส่วนที่โบ๊ททำมาทำต่อ เพราะว่าตอนนั้นสตาร์ตอัปคนมันน้อย พอทำไปสักพัก ก็เริ่มรู้สึกว่าน่าจะถึงเวลาแล้วที่จะลองทำอะไรด้วยตัวเองบ้างแล้วล่ะ

จริง ๆ ก็ไปสมัครงานเอาไว้ ก็เลยโทรไปหาโบ๊ท แล้วก็บอกว่า “โบ๊ท พี่ว่าเราน่าจะถึงเวลาเปิดบริษัทได้แล้วนะ” โบ๊ทเขาก็บอกว่า “ผมก็รออยู่ อยากโทรหาพี่เรื่องนี้เหมือนกัน ถ้าพี่ไม่ทำ ผมจะทำเองแล้วนะ” (หัวเราะ) ก็เลยเริ่มวางแผนว่า เดี๋ยว 2 เดือน พอโบ๊ทกลับมา จะเริ่มมาคุยและวางแผนตัวบริษัทกันแบบจริงจัง

ช่วงแรก ๆ ก็ดีหน่อยที่เพื่อนแนะนำกับผู้ใหญ่ แล้วเขาก็ให้โอกาสเข้าไปทำงานให้กับองค์กรขนาดใหญ่ เพื่อช่วยกันวางระบบโครงสร้างขององค์กรเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจ เหมือนที่ทำอยู่ตอนนี้นี่แหละครับ เพียงแต่ว่าตอนนั้นมันมีความท้าทาย ตรงที่เราเริ่มต้นโปรเจกต์ด้วยทีมงานที่มีอยู่แค่ 6 คน ผมก็เลยมาคุมในส่วนที่เป็นฝั่งเทคโนโลยี

พอเราเริ่มทำมาสักพัก เริ่มปรับตัวเองมาให้บริการด้านปรึกษามากขึ้น ก็จะเป็นฝั่งที่คุณโบ๊ทมาช่วยดู ระหว่างนั้นเราก็จะมีการคุยเรื่องการวางแผนธุรกิจระหว่างกันอยู่ตลอด เพราะว่าคุณโบ๊ทเองก็ยังทำงานประจำอยู่ พอคุณโบ๊ทมาทำแบบ Full Time แล้ว ก็เลยเริ่มปรับตัวบริษัทให้เป็นบริษัทที่ปรึกษาแบบเต็มตัวอย่างที่ตั้งใจเอาไว้แรก ๆ

การร่วมมือกับ ‘OR’ กับ ‘Bluebik’ จนกลายเป็น ‘Orbit’ เกิดขึ้นได้อย่างไร

จริง ๆ เบื้องหลังไม่ได้มีอะไรซับซ้อนเลยครับ มันเกิดขึ้นเพราะว่าเราได้มีโอกาสเข้าไปทำงานให้กับทาง OR ครับ ซึ่งเราเข้าไปเป็น Management Consulting ในการช่วยทำกลยุทธ์ เรื่องโน้นเรื่องนี้ อยู่ในทีมเดียวกันประมาณ 2 ปี แล้วก็ค้นพบว่าเคมีหลาย ๆ อย่างของเรามันตรงกัน กลยุทธ์ของเราเข้าไปช่วยเสริมให้กับทาง OR ได้ดี ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่เริ่มคุยกันว่า งั้นเราลองมาทำอะไรร่วมกันไหม เพื่อสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นทั้งของ OR และในประเทศไทย

ก็เลยตกลงว่าจะทำในลักษณะของ Joint Venrture ซึ่งเป็นสิ่งที่ OR ต้องการพอดีว่า อยากจะทำนวัตกรรมสำหรับธุรกิจค้าปลีก (Retail) เพื่อคินค้น Digital Platform เพื่อเข้าไปเสริม Bussiness Model ใหม่ ๆ ของ OR ให้เติบโตอย่างได้รวดเร็ว มีระบบที่เชื่อมต่อการทำธุรกิจร่วมกันกับพาร์ตเนอร์ได้กว้างหลากหลายมากยิ่งขึ้น และเร็วขึ้น

Orbit ก็จะเข้ามาเป็นแขนด้านนวัตกรรมให้กับทาง OR เป็นทีมที่ช่วยเพิ่มในส่วนของ ‘ขีดความสามารถทางด้านดิจิทัล’ (Digital Capabilities) หรือการเพิ่มขีดความสามารถให้คนในองค์กรสามารถนำเอาดิจิทัลมาใช้ เช่นการลดทำงานที่ซ้ำซ้อน การปรับให้มาอยู่ในระบบดิจัทัลที่มีความ Automate มากขึ้น และการใช้เทคโนโลยีในการเก็บข้อมูลที่เป็น ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ (Digital Asset) ในการนำมาวางแผนธุรกิจ รวมทั้งการใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการปรับให้คนในองค์กรมี Productivity มากขึ้น

ปกรณ์ เจียมสกุลทิพย์ Orbit Digital

คุณโป้งมาเป็นทาเลนต์อ่านข่าวเช้ากับ beartai BRIEF ได้อย่างไร

ตอนนั้นก็คือ เลขาติดต่อมาว่าจะให้ผมไปอ่านข่าวเช้า ผมก็ หา…ข่าวเช้าอะไร (หัวเราะ) พอดีเห็นคุณโบ๊ทเขามาอ่านข่าวเช้าแล้ว ผมก็เลย งั้นลองอ่านดูก็ได้ ตอนแรก ๆ ก็ยังไม่รู้นะครับว่าจะได้อ่านข่าว เพราะว่าก่อนหน้านั้นต้องมีการเรียนด้านการแสดงกับ Acting Coach ก่อน จนกระทั่ง Acting Coach บอกว่าจะให้คุณโป้งมาอ่านข่าวเช้านะ ผมก็เลยรู้สึกตื่นเต้น แต่ก็ตอบรับไปเพราะว่าอยากลองทำสิ่งใหม่ ๆ และก็ถือว่าเป็นเรื่องดี แล้วก็ต้องขอบคุณพี่หนุ่ยด้วยที่ให้โอกาสได้มาลองทำในสิ่งที่ไม่นึกไม่ฝันว่าจะได้ทำ

คุณโป้งเข้ามาทำอะไรบ้างในรายการข่าวเช้า beartai BRIEF

จริง ๆ ตอนนี้ผมเองยังไม่ได้เข้ามาทำอะไรมากมายครับ เพราะว่าเพิ่งเข้ามาเป็นพิธีกรในรายการข่าวเช้าได้เดือนเดียว ก็ถือว่าโชคดีที่พี่หนุ่ยให้โอกาสได้เข้ามาลองจัดรายการ ลองอ่านข่าวเช้าคู่กับพี่ต๊ะ (นารากร ติยายน) ก็เลยทำให้เราได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ ที่ไม่เคยคิดเคยฝันว่าจะได้เป็นพิธีกร มาลองอ่านข่าวเช้า เพราะปกติเราก็จะได้แต่นั่งฟัง เป็นผู้เสพข่าวเฉย ๆ

ซึ่งปกติแล้วข่าวที่อ่าน อันนี้ก็จะแล้วแต่ทางทีมงานจัดสรรให้นะครับ โดยส่วนใหญ่แล้วผมจะคุยกับทางโปรดิวเซอร์ว่า ขออ่านข่าวเทคโนโลยีเป็นหลักดีกว่า เพราะว่าผมอาจจะไม่ได้มีความคิดเห็นในข่าวอื่น ๆ มากนัก หรือบางข่าว เราเองก็ไม่ได้อยากจะแสดงความคิดเห็นมากนัก อย่างเช่นพวกข่าวการเมือง อะไรแบบนี้ ซึ่งผมว่าน่าจะดีกว่า เพราะว่าเวลาผมอ่านข่าวเทคโนโลยี จะได้มีความคิดเห็นคอยเสริมให้กับท่านผู้ชม ให้ได้รับประโยชน์มากขึ้นด้วย

แม้ว่าจะคุ้นเคยกับเทคโนโลยี แต่คุณโป้งเองน่าจะไม่เคยต้องมานั่งอ่านข่าวเช้ามาก่อน คุณรู้สึกอย่างไรบ้าง

จริง ๆ ก็กลัวนะครับ ไม่ได้กลัวว่าตัวผมจะพังนะ แต่กลัวไปทำรายการเขาพัง (หัวเราะ) เพราะเราก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่เราพูดออกไปมันจะเป็นประโยชน์ต่อคนดูไหม ก็เลยกลัวนั่นกลัวนี่ไปเรื่อย แต่พอหลัง ๆ เริ่มปรับตัวได้ ก็เริ่มดี เริ่มชินขึ้นเรื่อย ๆ ครับ รวมทั้งทีมงานเองก็ช่วยชี้แนะ ช่วยสนับสนุน ให้คำแนะนำต่าง ๆ ด้วย

รวมทั้งพี่ต๊ะเองก็น่ารักมาก เฟรนด์ลีมาก ๆ คอยปรับมาหาเราด้วยส่วนหนึ่ง แล้วก็คอยให้คำแนะนำต่าง ๆ ช่วยเหลือเราอย่างเต็มที่ เราก็เลยรู้สึกว่าปรับตัวได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ แล้วพี่ต๊ะเองเป็นคนที่ชอบทำความรู้จักกับคนใหม่ ๆ และไม่ว่าจะเกิดข้อผิดพลาดอะไรขึ้น พี่ต๊ะก็จะช่วยแก้ไขหรือช่วยเสริมให้ ก็เลยสบายใจและดีใจมาก ๆ ที่ได้ทำงานอยู่ข้าง ๆ มืออาชีพอย่างพี่ต๊ะ

จำได้ว่าบรรยากาศวันแรกที่อ่านข่าว กลางคืนก่อนหน้านั้นคือนอนไม่หลับเลยครับ (หัวเราะ) ตื่นเต้นมาก ๆ ประกอบกับเครียดเรื่องงานด้วย ก็เลยนอนหลับไม่ค่อยสนิทเท่าไหร่ แล้วหน้าก็จะง่วงมาก ผมจะมีข้อเสียอยู่อย่างหนึ่งคือ เวลาที่ผมนอนไม่พอ สีหน้ามันจะออก หน้าจะง่วงมาก คนจะรู้เลยว่าวันนี้อดนอนมาเหรอ (หัวเราะ)

แล้วอีกอย่างคือ ก่อนหน้าที่คุณโบ๊ทจะมาอ่านข่าว ก็จะมีการมาเจอกับพี่ต๊ะก่อนเพื่อพูดคุยและซ้อมกันก่อน แต่ด้วยความที่ตารางงานของผมที่แน่นมาก ๆ จนต้องมาลุยกันหน้างานเลย มันก็เลยต้องอาศัยซ้อมรบในหัว อาศัยเปิดคลิปดูเรื่อย ๆ ดูของหลาย ๆ คน ดูว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง แล้วก็ลองจินตนาการว่าถ้าเราไปอยู่ตรงนั้นมันจะเป็นยังไง เหมือนเป็นการซ้อมอยู่ในหัวตัวเอง พอจัดรายการวันแรก ผมถึงกับถอนหายใจเลย โล่งใจว่าผ่านไปได้ด้วยดี

ส่วนผลงานจะดีหรือไม่ดี อันนี้ก็คงต้องขอโอกาสปรับปรุงอยู่เรื่อย ๆ นะครับ เพราะว่าเป็นงานที่ไม่เคยทำจริงจังมาก่อน แล้วปกติผมจะไม่ค่อยชอบออกหน้ากล้อง ไม่ชอบออกสื่อเท่าไหร่

ปกรณ์ เจียมสกุลทิพย์ Orbit Digital

ถ้าจะให้คุณโป้งให้คะแนนการอ่านข่าวเช้าของตัวเอง คุณอยากให้กี่คะแนน

โอ้…(หัวเราะ) ผมว่าน่าจะยังไม่ถึง 5 คะแนนเลยครับ น่าจะอยู่ที่ 3 หรือ 4 คะแนน เพราะว่าเราเองก็เพิ่งจะเริ่มอ่านข่าว ยังมีตะกุกตะกักอยู่บ้าง ยังมีอะไรที่เราต้องเรียนรู้และพัฒนาขึ้นอีกเยอะ ทั้งจังหวะที่ต้องเข้ากันกับพี่ต๊ะให้ได้ ทั้งเรื่องของการพูดให้เข้าใจมากขึ้น พูดให้ช้าลง มันมีอะไรเต็มไปหมดที่ยังพัฒนาต่อไปได้อีก แต่ถ้าได้ข่าวเทคโนโลยีก็จะดีขึ้นหน่อย (หัวเราะ) เพราะว่าพอเป็นข่าวการเมือง ผมเองก็ไม่รู้ว่าจะคอมเมนต์เสริมเข้าไปยังไง

คำถามสุดท้าย คุณโป้งคิดว่า ข่าวดี ๆ ทันสมัย จะช่วยให้ชีวิตของเราดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง

ผมคิดว่าสิ่งที่จะช่วยให้ชีวิตดีขึ้นได้ อย่างแรกแน่ ๆ ก็คือการอัปเดตความรู้นั่นแหละ โดยเฉพาะข่าวที่ดี ๆ ที่ทีมงานเป็นคนคัดมาให้ เป็นการเพิ่มความรู้ให้กับคนที่ดู เพราะทุกวันนี้คอนเทนต์อะไรมันเต็มไปหมด บางทีเราก็ไม่รู้ว่าจะต้องไปหาอ่านที่ไหน ถ้ามีคนเลือกเอาข่าวดี ๆ มาป้อนให้แบบเน้น ๆ ผมว่ามันก็ดีนะ

สองก็คือ การที่สื่อเริ่มพยายามตีวนกับเรื่องบางเรื่องเยอะ ๆ เพราะว่าเขาสนใจเฉพาะกลุ่มคนดูเป้าหมาย โดยที่ไม่ได้สนใจว่าสิ่งที่เขาป้อนให้มันดีหรือไม่ดี แต่สิ่งที่เราป้อนให้ มันอาจจะกลืนยากนิดหน่อย แต่มันดีต่อสุขภาพ มีประโยชน์ เป็น Input ที่เอาไปใช้ทำงานหรือไปใช้ชีวิตต่อไปได้


พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส